ปล่อยผ้าหน้าสภาฯ ‘แอมเนสตี้’ ทวงคืนอนาคต ‘ปล่อยเด็กที่ถูกขัง’ ชี้ 3 ปีผ่านไป ไทยถอยหลัง

ปล่อยผ้าหน้าสภาฯ ‘แอมเนสตี้’ ร้อง 3 ข้อ ‘ปล่อยเด็กที่ถูกขัง’ คืนอนาคต 3 ปีผ่านมาไทยมาตรฐานลด

เมื่อวันที่ 13 มกราคม ที่ด้านหน้าทำเนียบ ประตู 5 ฝั่งกระทรวงศึกษาธิการ และหน้ารัฐสภาไทย กรุงเทพฯ เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ 2567 ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคมของทุกปี แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ‘ปล่อยผ้าเรียกร้องรัฐไทยหยุดคุกคามสิทธิเสรีภาพเด็ก’

โดยผู้ร่วมกิจกรรม ซึ่งรวมถึง น.ส.อันนา อันนานนท์ หรือ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ยืนถือป้ายข้อความที่หน้าทำเนียบรัฐบาล “ฟังเสียงของเด็กและปกป้องเสียของพวกเขา ในพื้นที่การชุมนุมประท้วง รัฐต้องยกเลิกข้อกล่าวหาต่อแด็กและเยาวชนโดยทันที อย่างไม่มีเงื่อนไข” ก่อนเดินทางไปปล่อยป้ายข้อความที่หน้ารัฐสภา ซึ่งข้อความอาทิ “หยุดข่มขู่และดำนเนิคดีอาญาต่อเด็ก ที่ออกมาใช้สิทธิในการแสดงออกและการชุมนุมประท้วง” ท่ามกลางประชาชนที่สัญจรบนถนนหน้ารัฐสภา

Advertisement

ทั้งนี้ เพื่อส่งเสียงเรียกร้องถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี, นายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และทุกฝ่ายที่เกี่ยวให้หยุดข่มขู่คุกคาม หยุดติดตาม และยุติการดำเนินคดีอาญากับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ในช่วงปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ไปจนถึงการแก้ไขกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ

โดย ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า ปัจจุบันมีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและชุมนุมประท้วงโดยสงบมากกว่า 286 คน รวม 215 คดี ในจำนวนนี้มีเด็กที่ถูกดำเนินคดีที่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ มีมากกว่า 20 คน รวม 23 คดี และมีเด็กประมาณ 2 คน ต้องมีชีวิตที่ไร้อิสรภาพเพราะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจากคดีนี้

Advertisement

นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2563 – 2566 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่กระบวนการยุติธรรม ดำเนินคดีอาญากับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ หากมองตามหลักสิทธิมนุษยชนระดับสากล สะท้อนให้เห็นว่าทางการไทยกำลังลิดรอนสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของเด็กอย่างเห็นได้ชัด ทั้งที่อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532 (UNCRC) ระบุว่า เด็กทุกคนมีสิทธิมนุษยชนเท่าเทียมกับผู้ใหญ่ทั้งการใช้สิทธิในการพูดและแสดงความคิดเห็น รวมถึงสิทธิการได้รับความคุ้มครองให้ปลอดภัย เข้าถึงการศึกษา และอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่การที่รัฐไทยดำเนินคดีอาญากับเด็กที่มาร่วมชุมนุมช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เหมือนการลดมาตรฐานเกินกว่าที่ประชาสังคมโลกจะยอมรับได้ เพราะเด็กทุกคนไม่เพียงแต่เป็นอนาคตของชาติ แต่พวกเขาคือปัจจุบันที่จะนำพาประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้

“วันเด็กไม่ควรเป็นเพียงแค่วันที่ผู้ใหญ่ให้คำสอนว่าเด็กควรปฏิบัติตัวอย่างไร แต่เป็นวันที่ผู้ใหญ่ และรัฐควรคำนึงถึงความสำคัญ และสิทธิต่างๆ ของพวกเขา ตามสิทธิที่ถูกเขียนเป็นมาตรฐานระหว่างประเทศและในประเทศ วันเด็กแห่งชาติปี 2567 นี้ แอมเนสตี้ เรียกร้องให้ทางการไทยหยุดข่มขู่และดำเนินคดีอาญาต่อเด็ก” นางปิยนุชกล่าว

นางปิยนุช กล่าวถึงการทำในวันนี้ว่าการ ‘ปล่อยผ้าเรียกร้องรัฐไทยหยุดคุกคามสิทธิเสรีภาพเด็ก’ เนื่องในวันเด็กแห่งชาติปีนี้ มีจุดเริ่มต้นจากการที่เมื่อช่วงต้นปี 2566 แอมเนสตี้ฯ จัดทำรายงานเรื่อง ‘ขอทวงคืนอนาคตของพวกเรา สิทธิเด็กที่จะชุมนุมประท้วงโดยสงบในประเทศไทย’ ขึ้นมา ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพตั้งแต่เดือนมิถุนายน – พฤศจิกายน 2565 สัมภาษณ์เชิงลึกกับเด็กนักกิจกรรมทั้งหมด 30 คน พบว่า มีเด็กที่ถูกดำเนินคดีอาญาจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกถูกข่มขู่คุกคามและติดตามตัวเวลาไปสถานที่ต่างๆ เช่น บ้าน โรงเรียน หรือสถานที่อื่นๆ

นอกจากนั้น ยังพบว่าเด็กบางคนถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือคนนอกเครื่องแบบ นำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ปิดกั้นและสกัดไม่ให้ใช้สิทธิในการพูดหรือแสดงความคิดเห็น โดยใช้ยุทธวิธีกดดันคนรอบข้าง เช่น ครอบครัว เพื่อน และโรงเรียน จนทำให้เด็กบางคนต้องเจอความรุนแรงในครอบครัว หลุดจากระบบการศึกษา ที่ร้ายแรงสุดคือการที่เด็กได้รับผลกระทบทางสุขภาพจิตอย่างหนักหลังถูกสลายการชุมนุมและถูกดำเนินคดี

“ทางการไทยมักตอบโต้ต่อผู้เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงที่เป็นเด็กผ่านการดำเนินคดี ข่มขู่คุกคาม และคุมขังเด็กที่ออกมาใช้สิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ยังใช้วิธีการปราบปรามสิทธิเด็กโดยทางอ้อม เช่น เจ้าหน้าที่รัฐใช้วิธีการกดดันผ่านผู้ปกครองและโรงเรียนให้เด็กอยู่ห่างจากการชุมนุมประท้วง ทั้งที่ประเทศไทยมีพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศฉบับต่างๆ รวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กตั้งแต่ พ.ศ.2535 ที่จะต้องเคารพ คุ้มครอง และประกันสิทธิของเด็กที่จะมีสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ เพื่อให้พวกเขาใช้สิทธิเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องหวาดกลัวว่าจะถูกตอบโต้ สิทธิเหล่านี้ช่วยให้เด็กขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนและประเด็นปัญหาอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อตนเองได้” นางปิยนุชชี้

เนื่องในวันเด็กแห่งชาติปี 2567 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงเรียกร้องไปถึงรัฐบาลไทยให้ปฏิบัติตาม 3 ข้อ ดังนี้

1.ปล่อยตัวเด็กทุกคนที่ถูกกักขังเพียงเพราะการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบโดยทันที อย่างไม่มีเงื่อนไข

2.ยุติการดำเนินคดีทั้งหมด ถอนคำพิพากษาเอาผิด และหยุดการข่มขู่คุกคามต่อเด็กที่ใช้สิทธิมนุษยชนโดยสงบ

3.แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศรับรองให้มีวิธีปฏิบัติระดับชาติที่สอดคล้องกับการคุ้มครอง การเคารพ และส่งเสริมสิทธิของเด็กในการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ โดยสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ยังเชิญชวนร่วมติดแฮชแท็ก #WhatsHappeninginThailand #ThailandChildrenDay #วันเด็ก เพื่อส่งเสียงถึงรัฐบาลไทย ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และผู้คนทั่วโลก เพื่อให้ข้อเรียกร้องเกิดขึ้นจริง อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image