อนุปรองดอง สปท.ยึดคำสั่ง 66/23 สมัยป๋าเปรม เป็นกรอบทำงานหวังแก้ขัดแย้ง

อนุปรองดอง สปท.วางกรอบทำงาน ยึดคำสั่ง 66/23 และ 66/25 สมัย “ป๋าเปรม” นำนโยบายการเมือง เชื่อแก้ความขัดแย้งได้ จ่อเชิญ ปธ. 9 ชุดแจงข้อมูล ส่วน “พรรคการเมือง-กลุ่มการเมือง” ให้ส่งเอกสารเป็นข้อเสนอ ภายใน 60 วัน ด้าน “นิกร” ชี้หากทุกฝ่ายเป็นคู่ขัดแย้งก็เดินลำบาก

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 23 มกราคม ที่รัฐสภา คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษารวบรวมความเห็นวิเคราะห์ประเด็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองทางการเมืองในคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งมีนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นประธานอนุกรรมาธิการ

ภายหลังการประชุม นายสังศิตแถลงว่า อนุกรรมาธิการได้พิจารณาหลักการ และผลักดันให้เกิดนโยบายในการที่จะสร้างความปรองดอง คือ 1. จะยึดนโยบายและมาตรการของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ที่เคยใช้สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี คือ คำสั่งที่ 66/23 และ 66/25 ที่ทำให้สงครามระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับรัฐบาล ที่ยืดเยื้อมากว่า 30 ปียุติลงได้ โดยการใช้นโยบายทางการเมือง 2.คำนึงถึงเรื่องความสามัคคี สันติสุขของคนในชาติและสังคมไทยเป็นที่ตั้ง 3.ยึดหลักเมตตาธรรม ยุติความเคียดแค้นชิงชังโดยการให้อภัยกัน 4.ยึดหลักนิติรัฐและนิติธรรมแบบเดียวกับที่ พล.อ.เปรมเคยใช้ และ 5.ต้องใช้กฎหมายและปฏิบัติกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติ

นายสังศิตกล่าวต่อว่า การสร้างความปรองดองในครั้งนี้อาจจะเกิดความสำเร็จได้มากขึ้น เพราะรัฐบาลไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้ง แต่จะเป็นคนกลาง และปัญหาเกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนด้วยกันเอง ซึ่งทาง กมธ.ปฏิรูปด้านการเมืองได้ทำแนวทางไว้และได้ผ่านมติจาก สปท.ไปแล้ว ทำให้การทำงานมีความชอบที่จะสามารถต่อยอดได้ อีกทั้งตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. 59 บรรยากาศในสังคมเอื้อให้เกิดขึ้น เพราะคนไทยเรียกร้องให้มีความสามัคคี ต่างจากหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะทำให้เรามีโอกาสผลักดันได้สำเร็จ

Advertisement

นายสังศิตกล่าวต่อว่า สำหรับกรอบเวลาการทำงานของอนุกรรมาธิการฯ จะใช้เวลา 60 วัน ในการรวบรวมความคิดเห็นและเอกสารต่างๆ ก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุม สปท.ต่อไป โดยได้นำเอกสารทั้งหมดจาก 9 คณะที่ได้ศึกษาเรื่องนี้ไว้แล้วมาเป็นพื้นฐานที่จะทำให้ต่อยอดง่ายขึ้นและเกิดความมั่นใจว่าจะไม่มีการคลาดเคลื่อนไปจากเจตนารมณ์ของผู้ที่ทำ โดยจะทำงานร่วมกับรัฐบาลและ สนช. และในการประชุมวันจันทร์ที่ 30 มกราคม จะมีการเชิญประธานและรองประธานทั้ง 9 ชุดมายืนยันข้อมูลที่ทำไว้ อาทิ ชุดของนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ชุดของนายคณิต ณ นคร ชุดของพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ชุดของสถาบันพระปกเกล้า เป็นต้น ส่วนพรรคการเมืองทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย นปช. และ กปปส. ทางอนุกรรมาธิการฯได้ทำหนังสือให้เสนอความคิดเห็นส่งมายังอนุกรรมาธิการฯด้วย แม้พรรคการเมืองจะทำกิจกรรมไม่ได้แต่เชื่อว่าความคิดเห็นของแกนนำก็ถือเป็นความเห็นของพรรคได้

ด้านนายนิกร จำนง รองประธานอนุกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่า คสช. และรัฐบาล เป็นคู่ขัดแย้งด้วยนั้น คสช.ก็ส่วน คสช. รัฐบาลก็มีหน้าที่สร้างความปรองดอง เพราะจะต้องมีคนกลาง หากคิดว่ารัฐบาลเป็นคู่ขัดแย้ง ก็ไม่มีทางไป กลายเป็นปัญหาสามเส้า แล้วจะหาใครมาเป็นคนกลาง เรื่องนี้ก็ไม่สำเร็จ ส่วนที่เรายึดนโยบาย 66/23 เพราะเห็นว่า นโยบายรัฐสามารถแก้ได้ ส่วนวิธีการไม่ได้คุยกันว่าต้องเป็นอย่างไร ต้องคุยกันในรายละเอียดอีกครั้ง เนื่องจากคู่ขัดแย้งต่างกัน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเราได้ข้อสรุปจากการทำงานของทั้ง 9 คณะ ที่เรียนรู้ถึงความล้มเหลวและจุดบกพร่องมาตลอด จนมาถึงคณะสุดท้ายคือชุดของนายอเนก จึงไม่ต้องเสียเวลาหาข้อมูลอีกแล้ว ปัญหาคือจะเดินไปทางไหน เมื่อไหร่ อย่างไรเท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image