‘จุลพันธ์’ รับ ดิจิทัลวอลเล็ตอาจไม่ทัน พ.ค.นี้ ยัน เดินหน้าต่อ ตั้งวงถกความเห็น “กฤษฎีกา-ป.ป.ช.” ป้องขัดกฎหมาย ซัด มีหน่วยงานตั้งธงขวาง ชี้ เป็นหน้าที่ รบ. ทำความเข้าใจทุกฝ่าย วอนเห็นใจปชช.ที่เดือดร้อน ลั่น ไม่ได้ดันทุรัง
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 17 มกราคม ที่รัฐสภา นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวชี้แจงข้อสงสัยต่อกรณีโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลว่า คณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตได้เลื่อนการประชุมจริงเมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากมีเอกสารข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงเห็นว่าควรเลื่อนการประชุมก่อน เพื่อรอให้เอกสารของ ป.ป.ช.มาถึงพร้อมกัน แล้วประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ ทีเดียว เพื่อกำหนดแนวดำเนินการต่อไป
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เอกสารของ ป.ป.ช. แสดงความเห็นค่อนข้างตรงและแรงพอสมควรในการคัดค้านการดำเนินนโยบาย รัฐบาลก็รับฟังและนำมาพิจารณาประกอบ ขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าเอกสารดังกล่าวเป็นทางการแล้วหรือไม่อย่างไร ซึ่งมี น.ส.สุภา ปิยะจิต อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตเป็นผู้ทำข้อเสนอแนะดังกล่าวมา โดย น.ส.สุภา เป็นผู้ที่ติดตามนโยบายของรัฐบาลจากการเลือกตั้งมาตลอดอยู่แล้ว และในเวลานี้รัฐบาลก็รอความชัดเจนในเรื่องเอกสารของ ป.ป.ช.
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมรับฟังทุกความเห็น ตั้งแต่ข้อเสนอแนะในทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ไม่ได้เป็นการไฟเขียวหรือไฟแดง ไม่ได้ห้าม และไม่ได้สั่งการให้เดินหน้า เพราะไม่ใช่หน้าที่ แต่ความเห็นของ ป.ป.ช. ค่อนข้างชัดเจนว่ามีการวางธงให้โครงการนี้เดินหน้าไม่ได้ แม้ว่านโยบายเงินดิจิทัลจะได้รับการรับรองจากประชาชนก่อนการเลือกตั้ง และแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้วก็ตาม ซึ่งบางกลุ่มองค์กร เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ป.ป.ช. มีความเห็นแตกต่าง ที่อาจยังมองไม่เห็นว่าประเทศกำลังตกอยู่ในวิกฤตตามที่รัฐบาลบอก
“วิกฤตนี้ไม่ใช่เรื่องโครงสร้างทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เป็นวิกฤตการเห็นอกเห็นใจพี่น้องประชาชนที่มีความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ คือทุนนิยมที่ไม่มีหัวใจจะไปเข้าใจผู้ที่เดือดร้อน มันแสดงให้เห็นมาตลอดว่าล้มเหลว รัฐบาลชุดปัจจุบันเราเดินทางไปทั่วประเทศ เราเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะในต่างจังหวัด เราไม่ได้ทำงานในห้องแอร์ วันนี้พี่น้องประชาชนทั่วประเทศต้องการการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่”นายจุลพันธ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า หลายหน่วยงานทั้งกฤษฎีกา และป.ป.ช. ขอให้มีการทบทวนโครงการนี้เพราะกลัวจะซ้ำรอยรับจำนำข้าว นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เราก็รับฟังประเด็นนี้ ไม่ว่าประชาชนหรือหน่วยงานใดมีข้อคิดเห็น รัฐบาลก็มีหน้าที่รับฟัง เปิดรับควาคิดเห็นหลากหลายตนไม่เคยพูดว่าทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน 100% แต่อยากให้ทุกฝ่ายเห็นถึงความเดือดอร้อนของประชาชน ว่าขณะนี้เศรษฐกิจไม่ได้ดีและต้องการกระตุ้น และสามารถเดินหน้าโครงการได้ เป็นวัตถุประสงค์ที่เราคาดหวัง
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ตอนนี้ที่เราได้เห็นหนังสือของคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นคำตอบเชิงกฎหมาย ไม่มีไฟเขียวไฟแดง และไม่ได้สั่งการให้เดินหน้า มีแต่ความเห็นเรื่องกฎหมายซึ่งเรามีหน้าที่รับฟังและปฏิบัติตาม แต่เมื่อมีหนังสือของป.ป.ช.มา ก็ค่อนข้างชัดเจนว่ามีการวางธง ไม่ให้โครงการนี้เดินหน้า แม้นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตจะได้รับการรับรองจากประชาชนผ่านการเลือกตั้ง และได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว ก็ยังมีความเห็นขององค์กรอื่นอาทิ ป.ป.ช. หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่แตกต่าง ซึ่งอาจจะยังไม่เข้าใจในสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำ ทั้งนี้ วิกฤตในขณะนี้ไม่ใช่แค่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำ หรือเรื่องโครงสร้างทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เป็นวิกฤตการเห็นใจประชาชนที่มีความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ ทุนนิยมที่ไม่มีหัวใจแสดงให้เห็นมาตลอดว่าล้มเหลว รัฐบาลไม่ได้มองเศรษฐศาสตร์เป็นแค่หนังสือแบบเรียน แต่เรามองในมิติความเป็นจริง และในมิติชีวิตของประชาชนที่เดือดร้อนด้วย
“ผมต้องเรียนว่าวันนี้ถ้าดูกรอบเวลาไม่น่าทันเดือนพ.ค. รัฐบาลยืนยันว่าต้องดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตต่อไป ถึงแม้จะไม่สามารถทันกรอบเวลาในเดือนพ.ค. เพราะเมื่อดูจากข้อคิดเห็นจากสิ่งที่ออกมาต่อจากนี้เราคงต้องรอให้ทางปปช.ส่งหนังสือมาทางเรา และต้องเชิญคณะกรรมการนโยบายมาประชุม เพื่อนำเอาความเห็นของทั้งปปช.และกฤษฎีการามาพิจารณาในครั้งเดียวกัน และเริ่มกระบวการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมในการทำความเข้าใจกับหน่วยงานหรือองค์กรใดๆก็ตามที่ยังไม่เห็นถึงเจตนาดี ที่รัฐบาลพยายามทำ เราต้องสื่อสารจนทุกฝ่ายมีความเข้าใจตรงกัน และเดินหน้านโยบายนี้ให้ได้ในที่สุด”นายจุลพันธ์ กล่าว
เมื่อถามว่า หากเดินหน้าโครงการนี้ต่อ จะไม่หวั่นใช่หรือไม่หากเกิดคดีทางการเมืองตามมา นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เราถึงต้องทำความเข้าใจกับหน่วยงานต่างๆ รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้เป็นอนุบาลทางการเมือง เราเห็นอยู่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร สิ่งที่ทำคืออะไร เรามีหน้าที่ทำทุกอย่างให้เป้นไปตามกรอบของกฎหมาย เพื่อให้ได้รับการยอทรับจากทุกภาคส่วน และแก้ปัญหาให้กับประชาชน
เมื่อถามว่า จะล้มเลิกการออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน ใช่หรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ไม่ใช่ สุดท้ายก็ต้องรอให้คณะกรรมกาารได้พูดคุยและตัดสินใจว่าจะเดินหน้าอย่างไร ดังนั้น ตนขอไม่ให้คำตอบในนาทีนี้ เมื่อถามย้ำว่า จะมีหนทางอื่นอีกหรือไม่นอกจากการออกเป็นพ.ร.ก.หรือพ.ร.บ.กู้เงิน นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้พูดคุย
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ทั้งนี้เมื่อดูจากอุปสรรคที่เห็นเรามองว่ากลไกที่จะพลักดันโครงการนี้ให้ทันเดือนพ.ค.นี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่จะพยายามให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตามกระบวนการต่างๆทั้งการฟังความเห็น และการทำความเข้าใจต้องใช้เวลา ในส่วนกรอบเวลานั้น ยังไม่มี
เมื่อถามว่าหากโครงการนี้เดินหน้าต่อไม่ได้ จะมีแผนสำรองในการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบอื่นหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ตนยังไม่ให้คำตอบว่าไปไม่ได้ อย่างไรก็ตามกลไกของภาครัฐมีเยอะ เรามีศักยภาพเพียงพอในการหาหนทางในการช่วยเหลือประชาชน ยังมีหนทางอีกจำนวนมาก ในส่วนของโครงการนี้จะมีจุดจบหรือไม่นั้น ยังไม่ถึงจุดที่สามารถตอบได้ แต่ยังไม่เห็นจุดนั้น และเราจะเดินหน้าต่อไป
เมื่อถามว่า หลังจากนี้รัฐบาลจะถอยอีกหรือไม่ เช่น ลดวงเงินหรือลดกลุ่มเป้าหมายในการแจก นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้พูดคุยกัน ได้ยินแค่จากสื่อ แต่ยืนยันว่าเป้าหมายในการแจกจะยังเป็น 50 ล้านคนเหมือนเดิม
เมื่อถามอีกว่า ถึงกรณีที่ฝ่ายการเมืองมองว่ารัฐบาลยังดันทุรัง นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ไม่ใช่ดันทุรัง เพราะเรามองถึงปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ และการเจริญเติบโตที่ต่ำกว่าศักยภาพ ถ้าไม่ได้ลงพื้นที่สัมผัสประชาชนและมองไม่เห็นในจุดนี้ เราก็ต้องชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาแข็งแกร่งให้เป็นไปตามศักยภาพของประเทศ ดังนั้น จะมาบอกว่าดันทุรังไม่ได้
เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่าโครงการนี้จะไม่ทันในปีงบประมาณ 67 นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ไม่ได้กำหนดเวลา ต้องรอตามขั้นตอน เมื่อมีคำตอบที่ชัดเจนจากบางหน่วยงานแล้ว ก้จะประชุมเพื่อหาแนวทางเมื่อนั้นเราจึงจะตอบได้