สุดารัตน์ แนะรบ.ถ้าแจก 1 หมื่นไปไม่รอด ตั้งกองทุนให้กู้ทำทุน ชี้กระตุ้นศก.ได้-ไม่เสี่ยงด้วย

สุดารัตน์ แนะรบ.ถ้าแจก 1 หมื่น ไปไม่รอด ตั้งกองทุนให้กู้ทำทุน ชี้กระตุ้นศก.ได้-ไม่เสี่ยงด้วย

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2567 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ได้โพสต์ข้อเขียน เรื่อง [ 10,000ทำท่าไปไม่รอด ‘สุดารัตน์’ แนะเปลี่ยนเงินแจกเป็นเครดิตตั้งตัว ] โดยมีเนื้อหาดังนี้  ดิฉันเข้าใจและเห็นใจประชาชนที่รอเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลนี้ แต่ขณะนี้ทำท่าว่านโยบายนี้จะไม่สำเร็จ และประชาชนอาจจะไม่ได้รับเงิน 10,000 บาท

เนื่องจากตอนประกาศนโยบายช่วงหาเสียงไม่ได้ลงมือศึกษารายละเอียดของนโยบายอย่างจริงจัง จึงทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย เมื่อจะลงมือปฏิบัติจริง โดยเฉพาะปัญหาด้านงบประมาณ และกฎหมาย กลายเป็นนโยบายหาเสียง ไม่ตรงปก ทำให้ประชาชน อาจต้องผิดหวัง เพราะไม่ได้รับเงิน 10,000 บาท

ปัจจุบันประเทศไทยมีภาระหนี้สาธารณะที่สูงอยู่แล้วถึงกว่า 60% ของ GDP หรือ 10 ล้านล้านบาท และก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลหากรัฐบาลตัดสินใจสร้างหนี้ขึ้นมาอีก 500,000 ล้านบาท ซึ่งสร้างความกังวลให้กับบางฝ่ายว่าเงิน 500,000 ล้านบาทจะสามารถใช้กระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่? ส่วนรัฐบาลก็มั่นใจว่าเงิน 500,000 ล้านบาทนี้ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ ซึ่งก็ต่างมีเหตุผลทั้งคู่

Advertisement

แต่สิ่งที่คนไทยยังต้องเผชิญในขณะนี้คือปัญหาภาระหนี้สินที่ล้นพ้น ประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนถึงร้อยละ 90% ของ GDP หรือกว่า 16 ล้านล้านบาท และหนี้นอกระบบซึ่งเป็นหนี้ของคนรากหญ้าในประเทศที่ยังประเมินไม่ได้ ตัวเงินกู้นอกระบบ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเป็นปัญหาใหญ่ในตอนนี้

ไทยสร้างไทย จึงอยากเสนอแนะให้ เปลี่ยนการแจกเป็นการให้กู้ผ่าน โดยการให้เครดิต ผ่านกองทุนเครดิตประชาชน หรือ กองทุนคนตัวเล็ก ซึ่งเป็นการให้เบ็ดไม่ใช่แจกปลา ให้ทุนในการทำมาหากิน โดยให้กู้ตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 ต่อเดือน รักษาเครดิตได้จะสามารถกู้ได้ถึงหลักแสนบาทเพื่อสร้างธุรกิจของตัวเอง ซึ่งต้นทุนของรัฐบาลอยู่ที่ประมาณ 4% ดังนั้นรัฐบาลยังมีส่วนต่างในการบริหารจัดการความเสี่ยง ไม่ทำให้เสียวินัยการเงินการคลัง ไม่เป็นภาระหนี้สินของประเทศชาติ และเกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบเช่นกัน และยังสามารถแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่รัฐบาลอยากแก้ไขได้อีกด้วย

ทั้งหมดนี้คือการช่วยเหลือประชาชน และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบยั่งยืน ไม่ใช่เพียงแค่แจกเงินเป็นครั้งคราว แต่ต้องช่วยให้เขาสามารถลุกขึ้นมาทำมาหากินได้ยืนอยู่บนขาของตัวเองได้อย่างยั่งยืน โดยการสนับสนุน ทุนความรู้ และตลาด ให้กับคนตัวเล็ก ทำให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนสามารถตั้งตัวได้สร้างรายได้ เป็นภาษีกลับมาพัฒนาประเทศ ทำให้เศรษฐกิจฐานรากโตขึ้น ซึ่งจะดันเศรษฐกิจทั้งประเทศให้ขยายตัวโตขึ้น เพื่อเป็นการช่วยคนตัวเล็ก ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความยั่งยืน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image