‘พิมพ์ภัทรา’ ปักธงอุตฯไทย ปลุกเสือหลับ-ปรับสู่‘เอส-เคิร์ฟ’

‘พิมพ์ภัทรา’ ปักธงอุตฯไทย
ปลุกเสือหลับ-ปรับสู่‘เอส-เคิร์ฟ’

หมายเหตุ น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมเวทีสัมมนาในหัวข้อ ‘เปิดโฉมอุตสาหกรรม-การทูตยุคใหม่ ในมุมมอง รมต.New Gen’ ในงานสัมมนา “Thailand 2024 : The Great Challenges เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส” จัดโดยเครือมติชน เมื่อวันที่ 24 มกราคม

นโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม คือ ทำหน้าที่ส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมตระหนักดีว่าเป็นกระทรวงที่สำคัญ เป็นเหมือนเสือหลับอยู่ เพราะฉะนั้นวันนี้คือการไปกระตุ้นเสือให้ตื่น

โดยท่านนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ก็ขยันทำงาน เดินทางไปต่างประเทศ ให้นักลงทุนได้มั่นใจว่าประเทศไทยมีความพร้อมขนาดไหน เพราะฉะนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมต้องเป็นกระทรวงที่ส่งเสริมและสนับสนุน ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถทำงานได้ และสนับสนุนให้ผู้ประกอบกิจการทั้งในประเทศและต่างประเทศสามารถดำเนินการได้อย่างสะดวก

Advertisement

กระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องไม่เป็นอุปสรรคกับเอกชน เพราะทุกวันนี้เอกชนก้าวหน้ารัฐบาลไปมากแล้ว อะไรก็ตามที่เป็นอุปสรรค ต้องลดเลิกให้ได้ และวันนี้ไทยเราพร้อมจริงๆ ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงกลไกต่างๆ ที่รัฐบาลพยายามขับเคลื่อนด้วยกัน ต้องทำงานด้วยกัน เพราะอยู่ภายใต้รัฐบาลเดียวกัน

นอกจากจะต้องดึงนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา ขณะเดียวกันผู้ประกอบการในประเทศต้องอยู่ให้ได้ เพราะส่งผลไปยังซัพพลายเชนทั้งหมด โดยเฉพาะรายย่อย ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ทั้งหมด

วันนี้โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมเปลี่ยน มีกติกาใหม่ที่เข้ามาบังคับ กีดกัน ดังนั้นเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับยุคอุตสาหกรรมเวลานี้ ผู้ประกอบรายใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะมีความพร้อม ทั้งกำลังทรัพย์ และความรู้
ส่วนที่น่ากังวล คือ รายย่อย เอสเอ็มอี และซัพพลายเชน ซึ่งโดยผลกระทบ บางรายรู้ตัว บางรายไม่รู้ตัว

Advertisement

อีกเรื่องที่เข้ามากระทบ คือ เทรนด์การบริโภคของคนเปลี่ยน เช่น เปลี่ยนจากรถยนต์สันดาป รถน้ำมัน หรือไอซีอี ไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี แม้จะไม่เปลี่ยนมาก หรือเปลี่ยนทันที แต่แนวโน้มเทรนด์กำลังไปทางนั้น และความยากที่สุดคือ การทำอย่างไรให้ซัพพลายเชนของไทยยังอยู่ได้ หรือปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมเดิมที่กำลังถูกกระทบให้เป็นอุตสาหกรรมใหม่ให้ได้

สำหรับการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมนั้น โชดดีที่กระทรวงอุตสาหกรรมมีมันสมองอยู่ คือ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ที่รวบรวมและประมวลผลว่าอุตสาหกรรมที่กำลังโดนผลกระทบกี่ราย ใครบ้าง และเราก็ทำการส่งสัญญาณให้ปรับตัว หากเปลี่ยนไม่ได้ก็ปรับ

ขณะที่เรื่องเงินทุน กระทรวงอุตสาหกรรมมีธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือเอสเอ็มอี ดี แบงก์ รวมทั้งการปรับตัว เพราะบางอุตสาหกรรมมีเครื่องจักรที่ทำงานได้หลายอย่าง จึงเสนอไปว่า ปรับไปผลิตอุตสาหกรรมการแพทย์ ควบคู่กับการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

สำหรับประเภทอุตสาหกรรมที่จะต้องสนับสนุน คงหนีไม่พ้น อุตสาหกรรม เอส-เคิร์ฟ อาทิ รถอีวี ที่เริ่มเข้ามาในไทยแล้ว รัฐบาลชุดที่ผ่านมาเดินหน้านโยบายอีวี 3.0 จนมาถึงรัฐบาลนี้ คือ อีวี 3.5 นายกรัฐมนตรี รัฐบาล เชิญชวนนักทุนด้านอุตสาหกรรมอีวีเข้ามา มองถึงทั้งวงจร คือเรื่องของแบตเตอรี่ที่เอาเข้ามาใช้แล้ว เมื่อเสื่อมสภาพก็ไม่รู้ต้องทำอย่างไรต่อ ต้องดูว่าเอาไปทำอย่างอื่นได้หรือไม่ หรือรีไซเคิลอย่างไร ที่ไหน หรือจะพัฒนาประเทศไทย นอกจากเป็นฐานรถอีวีแล้ว จะทำฐานอุตสาหกรรมหมุนเวียน (Circular Hub) เพื่อทำรีไซเคิลด้วยในอนาคต

อีกอุตสาหกรรมที่เป็นโอกาส แต่เอ่ยชื่อไปหลายคนอาจจะตกใจ นั่นคือ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ หมายถึง การผลิตยุทโธปกรณ์ อาทิ รถถัง เรือรบ ปืน หรือแม้แต่กระสุน แล้วส่งออกได้จำนวนมาก จึงเป็นอุตสาหกรรมอีกประเภทที่ควรจะต้องส่งเสริม

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการสนับสนุนที่มากขึ้น คงต้องไปหารือกับกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต หรือกระทรวงกลาโหม ในการดูเรื่องภาษี อาทิ รถถัง นำเข้าทั้งคัน ภาษีถูกกว่า การนำเข้ามาประกอบ ดังนั้น จึงต้องไปดูเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม หรือเพิ่มขีดการแข่งขัน ผู้ผลิตในประเทศจะได้มีโอกาสแข่งขันกับผู้นำเขาได้

ส่วนอุตสาหกรรมที่ต้องมีการยกเครื่อง เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ การ์เมนต์ และที่กำลังมีคู่แข่งเยอะ เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมพยายามคัดกรอง และทำการส่งสัญญาณเพื่อเตือน ปรับ เปลี่ยน และกระทรวงก็ให้การช่วยเหลือ

แม้อุตสาหกรรมสิ่งทออาจจะกำลังเผชิญผลกระทบการเปลี่ยนแปลงอยู่ แต่ก็ยังมีนโยบายของรัฐหลายอย่างเข้ามาช่วย อาทิ นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ที่เข้ามาช่วยเสริมกลุ่มในผู้ประกอบการรายเล็กให้มีโอกาสปรับตัวได้

ขณะที่เรื่องความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอของอุตสาหกรรมนั้นเป็นเรื่องสำคัญ โดยก่อนหน้านี้ รัฐบาล รวมถึงกระทรวงอุตสาหกรรมได้เดินทางไปเยือนประเทศซาอุดีอาระเบีย แต่ไทยยังไม่ทำเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับซาอุฯ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ โอกาสของประเทศ เช่น เรื่องสาธารณสุข เฮลธ์แคร์ การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ หรือเรื่องปศุสัตว์ และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ที่ซาอุฯมีความต้องการซื้อสูง รวมถึงอุตสาหกรรมสินค้าฮาลาล ที่ไทยก็มี แต่อยู่แบบกระจัดกระจายในความรับผิดชอบของหลายกระทรวง หลายกรม

กระทรวงอุตสาหกรรมมองเห็นว่า ตลาดสินค้าฮาลาล 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยที่ไทยส่งออกสินค้าฮาลาลได้กว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2-3% เท่านั้น ดังนั้น เมื่อเห็นขนาดตลาดแล้ว เราก็มองเห็นโอกาส เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีทรัพยากรและกำลังการผลิต เพียงแต่จะต้องมีการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการได้ไปถึงโอกาสในการขายในประเทศที่เขาต้องการอย่างมาก

โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้เรียนนโยบายดังกล่าวไปยังนายกรัฐมนตรีแล้ว และมองเห็นสอดคล้องกันในการยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลของไทย จนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ทำอุตสาหกรรมฮาลาลให้เป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น คือการตั้งกรมอุตสาหกรรมฮาลาลขึ้น

ปัจจุบัน กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังจะเสนอรายละเอียดการตั้งกรมอุตสาหกรรมฮาลาลเข้า ครม.เร็วๆ นี้ และประโยชน์ที่ไทยจะได้รับคือ โอกาส ที่สำคัญคือการสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศผู้ซื้อ ต้องยอมรับว่าไทยไม่ใช่ประเทศมุสลิม แต่จะทำอย่างไรให้เขายอมรับ และรับรองให้ได้ โดยเชื่อมั่นว่าถ้าทำให้เป็นมาตรฐานสากลได้ จะเพิ่มมูลค่าการตลาดส่งออกฮาลาลได้ 1-2 เท่าตัว ในปี 1-2 ก็เห็นผลแล้ว

สำหรับนโยบายการดึงชาวต่างชาติที่มีความสามารถเข้ามาในประเทศ ถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่กระทรวงให้ความสำคัญ สอดรับกับนโยบายของนายกรัฐมนตรี และที่ผ่านมา ครม.มีมติให้วีซ่าพิเศษ รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรม

ดังนั้นนโยบายของกระทรวงจะส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการปรับตัว และแข่งขันกับการกีดกันทางการค้าที่เข้มข้น อาทิ เรื่องคาร์บอน ให้ได้ แม้ว่าผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นเสาหลักสำคัญก็จริง แต่ถ้าเอสเอ็มอีอยู่ไม่ได้ เสาหลักก็มีปัญหาแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image