ส.ว.รุมสับเละ นโยบายประชานิยม สงสัยเงินดิจิทัล ถ้าทำไม่ได้ หลอกลวงปชช.หรือไม่

ส.ว.สับเละ นโยบายประชานิยม คิดแค่สร้างวาทกรรม ให้ได้คะแนนเสียง หากทำไม่ได้หลอกลวง ปชช.หรือไม่ สงสัยแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต พรรคการเมืองไหนได้ประโยชน์

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 30 มกราคม ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม พิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาเรื่องผลกระทบของนโยบายหาเสียงเชิงประชานิยมของพรรคการเมืองไทย ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา พิจารณาเสร็จแล้ว โดย นายกำพล เลิศเกียรติดำรงค์ ส.ว.กมธ.ฯในฐานะประธานอนุกมธ.ด้านวิชาการและเสริมสร้างให้ความรู้ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัติรย์ทรงเป็นประมุข พิจารณาศึกษาเรื่องผลกระทบของนโยบายหาเสียงเชิงประชานิยมของพรรคการเมืองไทย ชี้แจงว่า การพิจารณาศึกษาเรื่องนี้เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของบ้านเมืองในปัจจุบัน ซึ่งคณะอนุฯเห็นว่านโยบายการหาเสียงของพรรคการเมือง ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในกระแสสังคมอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทั้งมีข้อดีและข้อเสียต่างกันไปจนเป็นเหตุทำให้มีผลกระทบต่อประชาชนที่คาดหวังที่เฝ้ารอดูว่านโยบายนี้จะทำได้จริงตามที่หาเสียงไว้หรือไม่

นายกำพลกล่าวต่อว่า นโยบายหาเสียงเชิงประชานิยมมีทั้งข้อดีและข้อเสียงควบคู่กันไป การที่พรรคการเมืองในอดีตและปัจจุบันได้นำนโยบายต่างๆ มาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อหาคะแนนเสียงให้ได้เสียงข้างมากในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง หากมีการหาเสียงไปในทิศทางการสร้างวาทกรรม หรือการใช้ช่องว่างทางกฎหมายที่ไม่เหมาะสมล้วนแล้วก่อให้เกิดปัญหา สร้างร่องรอยความเสียหายให้กับประเทศอย่างใหญ่หลวง และทำให้เครืองมือที่บังคับใช้เกิดความล้มเหลว หน่วยงานที่กำกับดูแลจะเกิดความอ่อนแอ และจากการติดตามผลของการบังคับใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่พรรคการเมืองต้องชี้แจงที่มาและแหล่งเงินที่นำมาทำนโยบาย ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่พบว่าการเลือกตั้งปี 66 พรรคการเมืองมีการใช้นโยบายหาเสียงเชิงประชานิยมมากกว่าการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา นโยบายการหาเสียงของพรรคการเมืองที่ไร้ผิดชอบ เปรียบเสมืองนโยบายชวนเชื่อที่พยายามจะให้ช่องว่างของกฎหมาย สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ก่อภาระหนี้ผูกพันของประเทศมาจนถึงปัจจุบันและอนาคตได้

นายเชษฐา ทรัพย์เย็น อนุกมธ.ฯ ชี้แจงว่า ประเด็นเรื่องความชอบธรรมในการออกนโยบายประชานิยม อาจจะเป็นการละเมิดหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ เพราะเป็นการเอาเสียงข้างมากมากดเสียงข้างน้อย และเป็นการเอาผลประโยชน์ของประชาชนแลกกับคะแนนเสียงทางการเมืองหรือไม่ ประเด็นเรื่องความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณ เนื่องจากการใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อที่จะแจกจ่ายเงินไปถึงมือประชาชนนั้น อาจจะทำให้ประเทศเกิดปัญหาหนี้สินอย่างมหาศาลตามมา ถ้าการดำเนินการไม่เป็นไปด้วยความรอบคอบและรัดกุม ประเด็นเรื่องความยั่งยืนแก้ความเหลื่อมล้ำไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาในระยะยาวอย่างแท้จริง เพราะเป็นการแก้ปัญหาแบบหว่านแหไม่ได้มุ่งไปที่กลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง และในทางเศรษฐศาสตร์การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต อาจจะไม่มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะการแจกเงินให้ทุกคนเท่ากัน ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตอาจจะไม่คุ้มค่า หากเปรียบกับการทำเงินไปใช้กับโครงการอื่น เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานซึ่งจะช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว รวมถึงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตอาจจะส่งผลต่อความยั่งยืนทางการเงินการคลังของประเทศในระยะยาว เนื่องจากต้องใช้เงินจำนวนมากมาทำโครงการในระยะสั้น

Advertisement

ร้อยตรีวงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี ส.ว. อภิปรายว่า นโยบายของพรรคการเมืองมีผลต่อปากท้องของประชาชน เพราะประชาชนทำมาหากินภายใต้นโยบายรัฐบาล ส่วนนโยบายที่มุ่งไปที่รัฐสวัสดิการนั้นตนเห็นด้วย แต่ต้องดูว่ารัฐบาลทำตามหน้าที่หรือไม่ ผิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ กมธ.ต้องกล้านำเสนอ เพราะไม่เช่นนั้นการเลือกตั้งสมัยหน้าจะมีปัญหา เนื่องจากการเลือกตั้งที่ผ่านมามีพรรคการเมืองหนึ่งบอกว่าจะให้ 2 หมื่นบาทจะทำอย่างไร เพราะวันนี้แค่ 1 หมื่นบาทก็ยังทำไม่ได้ แต่ได้คะแนนเสียงจากประชาชนมาแล้วเพราะความอยากได้ หรือที่เสนอไว้ค่าแรง 600 บาทต่อวัน ก็ไม่ได้

นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ส.ว. อภิปรายว่าเรื่องประชานิยมโดยเฉพาะเงินดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่เป็นแกนนำรัฐบาล ที่หาเสียงไว้อย่างแต่ปฏิบัติอีกอย่าง โดยหาเสียงว่าเงิน 5.6 แสนล้านบาท ให้คนละ 1 หมื่นบาททุกคน โดยไม่ต้องกู้ แต่เวลาแถลงนโยบาย ก็บอกเงินไม่มี ต้องกู้ และแจกไม่ครบทุกคน อย่างนี้ถือว่าหาเสียงอีกอย่างทำอีกอย่าง หลอกลวงเพื่อคะแนนนิยม ทำให้ประชาชนหลงผิด และหากรัฐบาลต้องกู้เงิน 5.6 แสนล้านบาทจะมีผลกระทบที่ตามมาคือต้องจ่ายเงินต้นเพิ่มอีกปีละ 1.24 แสนล้านบาท จากที่ต้องจ่ายทุกปีละ 1.3 แสนล้านบาท ดอกเบี้ยจากที่ต้องจ่ายปี 67 ตั้งไว้ 2.3 แสนล้านบาท หากกู้เราต้องจ่ายเพิ่มอีก จะทำให้เราต้องจ่ายทั้งต้นและดอกรวมแล้วปีละ 4.8 แสนล้านบาท จากงบประมาณที่ตั้งไว้ 3.48 ล้านบาท ซึ่งจะกระทบต่อการบริหารหนี้ จึงสงสัยว่าการทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ตกลงแล้วรัฐบาลจะเอาเงินจากตรงไหน จะกู้หรือเงินจากงบประมาณและจะยกเลิกหรือไม่ เพราะการเอาเงินบาทไปแลกเหรียญดิจิทัล และะเอาเงินดิจิทัลไปแลกเงินบาท ก็เสียค่าทำเนียมอีกประมาณ 3 หมื่นล้านบาท บริษัทไหน พรรคการเมืองไหนจะได้ประโยชน์ ดังนั้น โครงการนี้ต้องคิดให้รอบคอบ เพราะสิ่งที่พรรคการเมืองทำก็คิดแค่ประโยชน์ของพรรคและกลุ่มทุนเท่านั้น

ขณะที่ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.ในฐานะประธาน กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ชี้แจงว่า มีหลายครั้งที่เสนอไปแล้วมักจะถูกท้วงติงจากฝ่ายการเมือง ว่าเราไม่เคยลงสมัครรับเลือกตั้ง เสนออะไรไปก็คงจะรู้ไม่จริง ต้องเรียนว่าในการทำรายงานฉบับนี้ ซึ่งตนเป็นประธานนั้น ตนเคยลงเลือกตั้ง ส.ส.มาแล้ว เคยเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคหนึ่งมาแล้ว และเคยลงเลือกตั้ง ส.ว.ที่เลือกตั้งจากประชาชนโดยตรงมาแล้ว ฉะนั้นคงมีประสบการณ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งมาบ้าง แต่ในข้อเสนอของ กมธ.ที่เสนอมานี้ เห็นว่านโยบายหาเสียงที่ผ่านมาเป็นปัญหากับบ้านเมืองและเป็นอันตราย โดยในนโยบายที่หาเสียงกันช่วงก่อนๆ ไม่ได้มีกติกาอะไรกันมาก มีการหาเสียงกันแบบใช้งบประมาณจำนวนมากที่กระทบกับการเงินการคลัง หลายเรื่องทำไม่ได้ บางเรื่องก็ทำได้ แต่ใช้เงินเยอะ ดังนั้น สังเกตได้ว่าในรัฐธรรมนูญปี 40 และปี 50 ไม่ได้กำหนดกติกาที่เคร่งครัดกับการกำหนดนโยบายหาเสียง จนกระทั่งรัฐธรรมนูญปี 60 เห็นปัญหาในเรื่องเหล่านี้ จึงได้บัญญัติไว้ในมาตรา 258 หมวด ก (3) ที่ให้ความสำคัญว่านโยบายต่างๆ ต้องมีกลไกกำหนดความรับผิดชอบของพรรคการเมือง การประกาศโฆษณา นโยบายที่ต้องวิเคราะห์ผลกระทบ ความคุ้มค่า ความเสี่ยงรอบด้าน โดยการกำหนดกติกานี้ไว้เพื่อไม่ให้เกิดแนวนโยบายหาเสียงประชานิยม และมีผลกระทบต่อการเงินการคลังของประเทศ แต่ในที่สุดยังไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ กลายเป็นเรื่องของการหลอกลวงประชาชนเพื่อให้ได้คะแนนเสียง

Advertisement

นายเสรีกล่าวต่อว่า การเลือกตั้งแต่ละครั้ง ไม่ว่าพรรคการเมืองหรือนักการเมือง ก็ต้องการชนะเลือกตั้ง ฉะนั้นกลยุทธ์หรือวิธีการต่างๆ ก็ถูกนำมาเสนอเพื่อให้ได้คะแนนเสียงจากประชาชน จะเห็นได้ว่ามีกฎหมายกำหนดแนวทางไว้ในการห้ามการกระทำบางอย่างเพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบ เสียเปรียบ เช่น กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ระบุว่า ในการหาเสียงนั้นห้ามสัญญาว่าจะให้ เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำผิดกฎหมายเกิดขึ้น แต่เมื่อนักการเมืองหาเสียงแล้วไปสัญญาว่าจะให้ ตัวอย่างคือการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นการแจกเงินจำนวนมากงบประมาณถึง 5.6 แสนล้านบาท ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กกต.ที่ต้องตรวจสอบ กำหนดแนวทางวิธีการไม่ให้มีการทำผิดกฎหมายเกิดขึ้น แต่ต้องยอมรับว่า กกต. บอกว่าเป็นนโยบายสามารถทำได้ ปัญหาก็กลับมาที่ กกต.อีก หาก กกต.บอกว่าทำไม่ได้ หมิ่นเหม่ต่อการผิดกฎหมาย กระทบการเงินการคลัง นโยบายนี้มีปัญหากับการเลือกตั้ง พรรคการเมืองเขาก็จะไม่นำมาใช้ แต่ปรากฏว่า กกต.ไปวางกฎเกณฑ์ไว้แบบนี้ เมื่อ กกต.บอกว่าทำได้ แต่ถูกเสียงคัดค้านมากมายว่ามีปัญหา อาจจะมีการทุจริตเกิดขึ้นได้อีก กกต.จึงขาดความน่าเชื่อถือ

“ปัญหาคือเมื่อ กกต.ขาดความน่าเชื่อถือ ก็ไปบอกว่าเลือกคนเหล่านี้ไปเป็น กกต.ได้อย่างไร ขาดความกล้าหาญ ไม่เด็ดขาด ไม่กล้าวางแนวที่ถูกต้องเพื่อให้พรรคการเมือง หรือนักการเมืองปฏิบัติได้ แต่จะไปโทษ กกต.อย่างเดียวไม่ได้ ต้องโทษคนเลือก กกต.ที่มาจากวุฒิสภาว่าไปเลือกอย่างนี้มาได้อย่างไร วุฒิสภาบอกว่าเลือกเพราะกรรมการสรรหา เขาเลือกมาให้แล้ว จะทำอย่างไรได้ตัวเลือกมีแค่นี้ ส.ว.ก็ต้องเลือกแค่นี้ ความรับผิดชอบก็ไปที่กรรมการสรรหาอีก ไปๆ มาๆ หาคนรับผิดชอบไม่ได้ บ้านเมืองนี้ก็ต้องโยนกันไป โยนกันมา ในที่สุดแล้วการเมืองบ้านเราจะไม่พัฒนาอย่างที่เราต้องการ การเมืองที่มีการกระทำผิดต่อกฎหมายเกิดขึ้นตลอดเวลา การเลือกตั้งที่บอกว่าต้องสุจริตและเที่ยงธรรม ต้องหาคนดีมาเป็นตัวแทนประชาชน คนไม่ดีเหยียบบันไดสภาไม่ได้ ดังนั้น คงต้องรอให้ กกต.พ้นหน้าที่กันไป หรือ กกต.อาจจะต้องรับผิดชอบในทางกฎหมาย ขึ้นอยู่กับการกระทำที่ทำไปแล้ว แต่ผลที่ออกมาความเสียหายเกิดขึ้น เราได้นักการเมือง เราได้ ส.ส.ที่ทำผิดกฎหมายมากมาย เข้ามาอยู่ในสภา ผมก็พยายามพูดเสมอว่าการเมืองไทยแปลก เราเลือกตั้งได้คนทำผิดกฎหมายมามากมาย แต่คนทำผิดกฎหมายมาออกกฎหมาย บังคับประชาชน ก็เป็นเรื่องแปลกที่เราปล่อยให้คนทำผิดกฎหมายมาออกกฎหมาย ดังนั้น ในยุคต่อๆ ไปหวังว่า การเมืองที่ใช้นโยบายประชานิยมเปลี่ยนเป็นนโยบายกระแสนิยม ถ้าเปลี่ยนได้ก็สามารถทำให้การใช้งบประมาณไม่กระทบกับประเทศ” นายเสรีกล่าว

นายเสรีกล่าวด้วยว่า ทาง กมธ.ขอรับข้อเสนอมาปรับปรุงแก้ไขและหากที่ประชุมวุฒิสภาไม่ขัดข้องกับรายงานฉบับนี้ ขอให้ประธานวุฒิสภาส่งรายงานไปให้รัฐบาล ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรมแผนกคดีเลือกตั้งทุกชั้นศาล กกต. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (ส.ต.ง.) และผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เพื่อจะได้เป็นข้อมูลในการช่วยหลายฝ่าย เพื่อให้รายงานฉบับนี้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเมืองให้เป็นการเมืองที่สร้างสรรค์บ้านเมืองให้ดีขึ้นได้

ทั้งนี้ หลังสมาชิกแสดงความคิดเห็นเสร็จสิ้น ที่ประชุมวุฒิสภา เห็นชอบกับรายงานฉบับนี้ เพื่อส่งให้รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ รับทราบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image