“ประยงค์”ชี้ปมโรลส์-รอยซ์ ติดสินบนบินไทย คนไม่ดีเจอกัน เผยกลุ่มอ.จุฬาฯส่งข้อมูลโครงการ

“เลขาธิการ ป.ป.ท.”ชี้ ปมโรลส์-รอยซ์ ติดสินบน บินไทย เป็นเรื่องของคนไม่ดีเจอกัน เผย” กลุ่มอาจารย์จุฬาฯ” ส่งข้อมูล “โรลส์-รอยซ์” ให้ ระบุ เป็นรายละเอียดโครงการ “ศอตช.” จ่อประชุม

เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการ ป.ป.ท. ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) กล่าวถึงกรณีบริษัทโรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce)จ่ายสินบนในการซื้อขายเครื่องยนต์อากาศยานและเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในประเทศไทย ว่าในส่วนของ ป.ป.ท. ได้รับการสนับสนุนข้อมูลจากลุ่มอาจารย์คณะบัญชี ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับคำฟ้องว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร หลังจากนี้เราก็จะทำงานร่วมกับกลุ่มอาจารย์ดังกล่าวทั้งในเรื่องของวิชาการและเทคนิค เพราะเราไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องคดีอย่างเดียว คดีก็ทำไปใครถูกใครผิดในเรื่องของอาญาก็ทำไป หากทางอาญาขาดอายุความก็เอากฎหมายของ ปปง. เข้ามาใช้ ซึ่งก็ได้หารือกับ ปปง. แล้ว

ทั้งนี้ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธาน ศอตช. ก็ระบุว่าหากได้ข้อมูลระดับหนึ่งแล้ว ก็จะได้มีการหารือร่วมกัน ทั้งนี้ ในส่วนของการป้องกันนั้น ตามนโยบายของนายกฯ ซึ่งต้องการให้เกิดความยั่งยืน อะไรที่เป็นจุดอ่อน เป็นช่องว่าง ก็ให้จัดการปรับตรงนี้ด้วย ซึ่งเราก็จะได้ประโยชน์จากลุ่มอาจารย์ของจุฬาลงกรณ์ฯที่ได้มีการประสานกัน

“เรื่องโรลส์-รอยซ์ ความจริงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเรา มันเป็นเรื่องของสองฝ่ายคือคนไม่ดีมาเจอกัน ถ้าเกิดว่าทางโน้นไม่มาติดสินบน ถ้าเราไม่รับมันก็ไม่เกิดเรื่อง ที่นี้ทางนั้นก็อยากได้งานทางเราก็อยากได้ของ และมีคนไม่ดีบางคนไปรับเงิน จึงเกิดเรื่อง ซึ่งเมื่อเกิดเรื่องแล้วก็ต้องแก้ ในส่วนนี้นายกรัฐมนตรีก็ให้นโยบายมาแล้ว โดย ศอตช. ก็ได้มีการพูดกัน ทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานป้องกันและปราปบรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แต่ละส่วนได้ดำเนินการไปแล้ว” นายประยงค์ กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อมูลเบื้องต้นที่ได้จากกลุ่มอาจารย์จุฬาลงกรณ์ฯ มีอะไรบ้าง นายประยงค์ กล่าวว่า เป็นข้อมูลเกี่ยวกับการโครงการว่ามีการจัดซื้อเมื่อไหร่ ส่วนข้อมูลที่เป็นทางการยังไม่ได้อะไรมา ทั้งนี้ ในส่วนของ ศอตช. ขณะนี้ยังไม่ได้มีการประชุมร่วมกัน แต่ตนได้คุยกับเลขาธิการ ป.ป.ช. และก็ผู้ว่า สตง. แล้ว ว่าถ้าได้ข้อมูลมาอย่างไรจะได้แลกเปลี่ยนกันในระดับที่แลกเปลี่ยนได้ เพราะแต่ละสังกัดก็จะมีข้อจำกัดทางกฎหมายอยู่ แต่ในทางปฏิบัติเรามีการประสานงานกันอยู่ตลอด จะไม่มีการทำงานซ้ำซ้อนกัน

“ในส่วนของคำฟ้องที่ได้จากกลุ่มอาจารย์นั้น ระบุว่า มีอยู่ 3-4 กลุ่ม คือ 1.บริษัทแม่ 2.เรื่องของบริษัทสำนักงานใหญ่ที่อยู่ที่อเมริกา 3.บริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกาและมาเชื่อมโยงกับตัวกลางที่อยู่ในภูมิภาคนี้ และ 4.คนของเรา ซึ่งเป็นพฤติการณ์ แต่ระดับตัวบุคคลยังไม่ได้ ดังนั้น คือ 1.มีการจ่ายสินบนจริง 2.มีการซื้อตรงนี้จริง 3.บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาตรงนี้ ซึ่งมันไม่ยาก เพราะมันเป็นเอกสารการจัดซื้อจัดจ้างของทางราชการ แต่การที่จะพิสูจน์ใครผิดใครถูกจะต้องอาศัยข้อมูลและเวลาสักระยะ” นายประยงค์ กล่าว

ถามต่อว่ากรณีดังกล่าวจะเหมือนกับการเรื่องของเครื่องจีที 200 หรือไม่ นายประยงค์ กล่าวว่า มันเป็นยุคสมัย ที่จริงมันเกิดเป็นเรื่องนี้เกิดขึ้นมานานตั้งแต่ปี 2534 และ 2547 ทั้งสองกรณี แต่เรื่องของโรลส์-รอยซ์มันเพิ่งปรากเกิด นายกรัฐมนตรีก็ได้ให้นโยบายมาแล้ว และให้ดำเนินการใน 2 ระดับ คือ คนกระทำผิดก็ให้ดำเนินการ และในส่วนของการป้องกันก็ต้องทำ ดังนั้น เชื่อว่าไม่น่าจะเป็นในลักษณะอย่างที่ว่า และจะเห็นได้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความกระตือรือร้นในการดำเนินการ จึงเชื่อว่าในครั้งนี้จะปรากฎผลโดยเร็ว

Advertisement

เมื่อถามถึงกรณีสินบนสายไฟฟ้า เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าวว่า ป.ป.ท. จะทำงานในสองลักษณะ คือ ในเรื่องของการปราบปรามก็เป็นเรื่องคดี อีกส่วนหนึ่งก็ใช้มาตรการทางฝ่ายบริหาร ตรงนี้ก็ต้องแสวงหาข้อมูลทั้งหมด เพื่อนำเรียนและเสนอแก้ไขในฝ่ายบริหาร ซึ่งเราได้ส่งทีมเข้าไปหาข้อมูลทั้งหมดแล้ว ซึ่งในเรื่องของสายเคเบิลก็เป็นเรื่องที่ศาลจากสหรัฐอเมริกาตัดสินแล้ว เป็นการใช้กฎหมายในลักษณะเดียวกัน ดังนั้น การดำเนินงานก็คงเป็นในลักษณะเดียวกันกับของโรลส์-รอยซ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image