สมชาย ปรีชาศิลปกุล : “เมื่อไหร่ที่สภาถูกทำให้มีบทบาทน้อย เราจะได้เห็นการเมืองบนถนนเพิ่มขึ้น”

จากกรณีที่ ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า การกระทำ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค และ พรรคก้าวไกล หาเสียงด้วยนโยบาย แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง พร้อมทั้งยังสั่งยุติการกระทำนั้น เลิกการแสดงความคิดเห็น เพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไข มาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย

เรื่องนี้ สมชาย ปรีชาศิลปกุล หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้มุมมองทางวิชาการ กับ  “ทีมข่าวมติชนทีวี” ไว้อย่างน่าสนใจ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

มองคำวินิจฉัยในเชิงกฎหมาย ที่มีการรวมพฤติกรรมของก้าวไกล ทั้งตัว ส.ส กก.บห. มีการยื่น เป็นนายประกัน และอื่นๆ เป็นพฤติกรรมที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองอย่างไร ? 

ตกใจ อย่างที่บอกว่า พรรคก้าวไกลดำเนินการตอนนี้ ยังไม่ได้เสนอเป็นร่างกฎหมายเข้าสภาฯเลย เป็นแค่นโยบาย

Advertisement

ดังนั้น การเป็นเพียงนโยบายแล้วเป็นปัญหา ซึ่งตอนหาเสียง นโยบายก็ต้องผ่าน กกต. กกต.ต้องประเมินว่านโยบายนั้นเป็นยังไง แต่ผลปรากฎว่า เป็นเพียงแค่นโยบายที่ก้าวไกลเสนอ แล้วกลายเป็น ความผิด

ผมในฐานะคนเรียนกฎหมาย สอนกฎหมาย คิดว่า น่าจะเป็นการเสนอแนวคิดที่ใช้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ มากำกับบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติอย่างมหัศจรรย์

นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้ข้อสังเกตเรื่องนี้เหมือนกัน ท้ายที่สุดสิ่งที่เราเรียนมาในเชิงรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ 3 เสาหลัก รัฐธรรมนูญไทย เท่ากับว่า จะมีศาลรัฐธรรมนูญมาเพิ่ม คิดว่า จะเป็นปัญหาต่อไปในระบอบการปกครองการเมืองหรือไม่ ? 

Advertisement

เป็นปัญหาใหญ่มาก เพราะในขั้นตอนเสนอร่างกฎหมาย ก่อนที่กฎหมายจะประกาศใช้ ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบได้อยู่แล้ว

แต่ตอนนี้ พูดภาษาชาวบ้านคือ การเข้ามาคุณคุมกำเนิด ในตอนที่ยังไม่ได้ตั้งไข่เลยเลยด้วยซ้ำ

หมายความว่า ถ้าถูกเสนอเข้าสภาฯเป็นร่างแล้ว สภาบรรจุรับหลักการ อันนี้คือตั้งไข่แล้ว แต่ในกรณีนี้คือม่ยังไม่ทันจะตั้งไข่เลย คุณเข้ามาบอกว่า ห้ามตั้งไข่เว้ย

แบบนี้มันก็งง สมมุติมีพรรคการเมืองจะเสนอนโยบายอะไรขึ้นมา ศาลรัฐธรรมนูญ สามารถตรวจสอบแนวนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ได้อย่างไม่มีขีดจำกัดใช่หรือไม่

ที่ศาลรัฐธรรมนูญ บอกว่า ต่อไปไม่ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ด้วยวิธีการ ซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตีความยังไง ? 

ฟังแล้วงงมาก และน่าจะเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกพูดถึงไปอีกยาวนาน มาตรา 112 เป็นมาตราหนึ่งของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเทียบเท่ากับกฎหมายพระราชบัญญัติ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติในการที่จะออกแก้ไขเปลี่ยนแปลงยกเลิก

ดังนั้นการที่มี คำวินิจฉัยออกมาแล้ว ด้วยภาษาที่เขียนไปมันแปลว่า ต่อไปเสนอแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลยหรือ แล้วการที่มีคำถามว่า แก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลยหรือ

เราต้องยอมรับความจริงอยู่อย่างหนึ่งว่า กฎหมายต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ไม่มีกฎหมายไหนแก้ไม่ได้

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า แก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย ปัญหาก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญเอาอำนาจอะไร มาแช่แข็งบทบัญญัติบางมาตรา ทั้งๆที่เป็นกฎหมาย

ในมุมของนายชัยธวัชนั้น ในท้ายที่สุดเป็นปัญหาเรื่องความชัดเจน ก็เห็นมุมเดียวกันใช่หรือไม่ แล้วกรอบอยู่ตรงไหน ในการห้ามทำอะไรที่เกี่ยวกับการแก้ไข ม.112 ? 

เท่าที่ฟัง คือต่อไปมาตรานี้ห้ามแตะเลยหรือไม่ คือจะให้ไปลดฟูลสต็อปอะไรก็ห้ามเลย ประมาณแบบนี้ ซึ่งผมคิดว่าเป็นคำวินิฉัยที่ มหัศจรรย์ นี่คือมาตราหนึ่งของกฎหมายพระราชบัญญัติ

ทวนความจำหน่อย มาตรานี้ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ถูกแก้ไขในปีที่มีการรัฐประหาร 2519 หมายความว่ากฎหมาย ก็แก้ไขเปลี่ยนแปลงมาแล้ว

แปลว่าคุณยอมรับการแก้ได้ โดยการรัฐประหารแต่เพียงอย่างเดียวหรือ แต่ถ้าแก้โดยกระบวนการนิติบัญญัติ โดยสถาบันที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยการถกเถียกันมา อันนี้ทำไม่ได้ใช่หรือไม่

ผมว่าตรรกะนี้แปลกมาก ไม่สอดคล้องกับระบอบการปกครองที่มีรัฐธรรมนูญเป็นหลักหมายสำคัญ

วันนี้คำวินิจยังไปไม่ถึงยุบพรรคก็จริง แต่หลายคนจับตามอง เรื่องก็จะวนมาที่ศาลรัฐธรรมนูญอีก แทบจะไม่มีทางเป็นไปทางอื่นได้เลย

มันไปต่อแน่ๆ พอมีคำวินิจแบบนี้ ออกก็ต้องผ่านไปที่ กกต. ป.ป.ช. ตามมาด้วยการยุบพรรค ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค หรือ ส.ส.ที่ลงชื่อสนับสนุนนโยบายนี้ หรือตัดสิทธิไปเลย 150 คน เป็นกระบวนการที่ตามมาแน่ๆ เพียงวันนี้คล้ายเป็นการปูทางเบื้องต้นให้สามารถดำเนินการต่อได้

อาจารย์เคยให้สัมภาษณ์ว่า อยากเห็นก้าวไกลถูกยุบ ตอนนี้ยังไม่ยุบ แต่มีสารตั้งต้นแล้ว วันนี้ยืนยันความเห็นเดิมไหม ? 

มาถึงนาทีนี้แล้ว ไม่ว่าจะอยากหรือไม่อยาก แต่โอกาสยุบพรรคก้าวไกลมีสูงมาก ซึ่งสมมุติถ้าก้าวไกลโดนยุบ ผมถือว่าเรื่องนี้เรื่องใหญ่

ในแง่หนึ่งปัญหาสำคัญที่จะตาม นั่นคือสถาบันที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะถูกกำกับ จำกัดพื้นที่ให้ทำงานได้ค่อนข้างคับแคบ ทำได้บางเรื่องเท่านั้น ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่สถาบันที่มาจาก ประชาชนถูกทำให้มีพื้นที่ หรือ บทบาทน้อย สิ่งที่จะเกิดคือ เราคงจะได้เห็นการเมืองบนท้องถนนกันเพิ่มมากขึ้น

คำถามคือเราอยากเห็นการเมืองบนถนนเพิ่มมากขึ้นจริงหรือ ภายในสภาวะวิกฤต ทั้งทางเศรษฐกิจ โควิดที่ผ่านมา สถานการณ์เยอะแยะที่รายล้อมอยู่

ซึ่งส่วนตัวผมไม่แปลกใจเลย ถ้าการเมืองบนท้องถนนเบ่งบานเพิ่มมากขึ้น เพราะทั้งหมดนี้คือแรงกดดันที่ชนชั้นนำไทยทำให้เกิดขึ้นเอง

การเมืองไทยจะกลับมาวุ่นวายอีกรอบใช่หรือไม่ ทั้งที่มีโอกาสจะสงบราบรื่นได้ตามทฤษฎีรัฐศาสตร์ที่เราเชื่อว่ามี ก้าวไกล เพื่อไทยแล้วน่าจะดีกว่า ?

คิดว่า คนไทยจำนวนหนึ่ง ภายใต้การเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมา หวังจะทำให้ปัญหาข้อขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้น นำเข้าไปหาคำตอบและทางแก้ไข ภายใต้ระบบรัฐสภา ซึ่งอีกไม่นาน ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. จะหมดอำนาจไป น่าจะทำให้สภาฯ ทำงานได้ดีมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น

แต่พอศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแบบนี้ก็น่าจะทำให้คนจำนวนหนึ่งรู้สึกว่า พื้นที่นี้ทำงานไม่ได้ ถูกตีให้มีพื้นที่คับแคบ ดังนั้น ผมคิดว่า มันคือเส้นทางที่ถูกกับกับไปในทิศทางแบบนี้

เท่ากับว่า เป็นการโยนภารกิจปราบม็อบให้รัฐบาลเพื่อไทยใช่หรือไม่ ? 

ใช่ ถ้าเป็นกรณีแบบนี้ นอกจากการยุบพรรค ก็มีเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม การแก้รัฐธรรมนูญ ถ้าสมมุติทั้งหมดไปจบที่ปลายทางเดียวกันคือ ไม่สามารถแก้อะไรได้เลย ไม่มีนิรโทษกรรมที่คุ้มครองประชาชนได้ ไม่มีรัฐธรรมนูญ คิดว่าใครก็มองออกว่า นี่คือการลากสังคมไทยไปสู่การเมืองบนท้องถนนอีกรอบ

มีคนวิเคราะห์ว่า ยุบก้าวไกลก็ยุบไปเลย เดี๋ยวก็จะโตขึ้น จาก 151 ก็จะเป็น 300 เห็นคำวินิจนิจแล้วคิดว่า ยังเป็นแบบนั้นได้อยู่หรือไม่ ? 

คงไม่ง่ายขนาดนั้น ยังมีระยะเวลาก่อนจะไปสู่ช่วงเวลาเลือกตั้งครั้งใหม่ ถ้ามีการยุบเกิดขึ้น อาจจะประมาณ 4-6 เดือน หมายความว่าจะมีระยะเวลาทอดออกไป

สมมติ ถ้ามีการยุบพรรคเกิดขึ้น ร่างนิรโทษกรรมก็ถูกปฏิเสธ การแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่เราจะเห็นน่า จะเป็นการเมืองบนท้องถนนก่อนจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่

ในเชิงกฎหมาย เท่ากับระบบรัฐสภาในการทำหน้าที่นิติบัญญัติถูกทำลายไปแล้ว ? 

เห็นด้วย นี่เป็นปัญหาสืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 50 หลังรัฐธรรมนูญ 2560 เรามีองค์กรที่มาขี่คอสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง มี ส.ว.ที่มาจากแต่งตั้ง กกต. ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งหมดนี้ทำให้เราอยู่ในระบบการเมืองที่ เราเลือกตั้งได้ แต่ถูกองค์กรอิสระขี่คอเอาไว้ ว่าจะทำอะไรได้แค่ไหน ทำอะไรไม่ได้มากหรอก ถ้ามากไปก็จะมีอำนาจพิเศษว่า อันนี้ทำได้ อันนี้ทำไม่ได้ ทำปุ๊บเราจะตัดสิทธิ ยุบพรรค ใช้มาตรการอื่นตามมา เห็นด้วย ถ้าถามว่า เป็นการกร่อนเซาะอำนาจอธิปไตยของประชาชน ผ่านสถาบันทางการเมืองที่ประชาชนเลือกตั้ง

ในฐานะคนสอนกฎหมายหลังจากนี้ เอาจริงๆ ก็ปวดหัวมานาน ตั้งแต่ปี 50 ถ้าเราสอนแบบปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ก็จะทำให้เกิดคำถามว่า นี่มันสอดคล้องกับหลักการที่ควรจะเป็นหรือไม่ ดังนั้นคนที่สอนกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายที่เกี่ยวกับการเมือง คงต้องเดินสองทางควบคู่กัน

นั่นคือ สอนให้เห็นว่า ในประเทศที่เป็นอารยะที่ใช้รัฐธรรมนูญปกครอง รูปร่างหน้าตาเป็นยังไง ในขณะเดียวกันของเราเป็นยังไง สอดคล้องกับระบอบอารยะหรือไม่ ถ้าไม่สอดคล้องเป็นเพราะปัจจัยใด คิดว่า ก็สอนได้ แต่คงต้องทำความเข้าใจด้วยว่า เพราะอะไรเป็นเหตุปัจจัย ทำให้เราต้องอยู่ในสังคมการเมืองที่ตัวรัฐธรรมนูญถูกบิดไปบิดมา

กระทั่งทำให้หลักการปกครอง ไม่สามารถเป็นแบบประเทศที่เป็นอารยะที่เขาดำเนินการกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image