ลิณธิภรณ์ ลั่น นิรโทษกรรมไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางออกสำหรับความขัดแย้งการเมืองไทยที่ฝังรากลึกมานานนับทศวรรษ

ลิณธิภรณ์ ลั่น นิรโทษกรรมไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางออกสำหรับความขัดแย้งการเมืองไทยที่ฝังรากลึกมานานนับทศวรรษ

เมื่อเวลา 12.45 น. วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 เป็นประธานที่ประชุม พิจารณาญัตติด่วนขอให้สภาฯตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาการออกกฎหมายนิรโทษกรรม โดยมีน.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอญัตตินั้น

เวลา 13.10 น. น.ส.ลินธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) อภิปรายสนับสนุนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ว่า ภายหลังจากการรัฐประหารครั้งล่าสุดมีการดำเนินคดีทางการเมืองสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานยอดตั้งแต่การชุมนุมเยาวชนปลดแอก วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 – 31 ธันวาคม 2566 นั้น มีประชาชนถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไปแล้วอย่างน้อย 1,938 คน ในจำนวน 1,264 คดี โดยในจำนวนนี้มีเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปีจำนวน 286 ราย และในจำนวน 1,264 คดีนั้น มี 469 คดีที่ดำเนินการแล้วเสร็จ เหลือเพียง 700 กว่าคดีที่ยังอยู่ในขั้นตอนกระบวนการต่างๆ

ทั้งนี้ ความขัดแย้งทางการเมืองไม่ได้เพิ่งเริ่มต้นเพียงทศวรรษที่ผ่านมาเท่านั้น แต่ยังฝังรากมาตั้งแต่สมัยที่มีการชุมนุมหลากสีเสื้อด้วยความเชื่อ และอุดมการณ์ของแต่ละฝ่ายที่แตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตาม แม้ในแต่ละฝ่ายมีแง่มุมที่แตกต่างกัน แต่มีเป้าหมายที่อยากเห็นประเทศไทยดีกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือกลุ่มคนเสื้อเหลือง คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) จนถึงบรรดานักศึกษา ประชาชนต่อต้าน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ทางการเมือง โดยเฉพาะพรรคการเมืองและรัฐบาลในปัจจุบัน

Advertisement

น.ส.ลินธิภรณ์ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม การนิรโทษกรรมไม่ได้จำกัดเพียงแค่ประเภทเดียว แต่ในรอบ 70-80 ปีที่ผ่านมาเราแบ่งการนิรโทษกรรมออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. การยกเว้นความผิดให้แก่ผู้ยึดอำนาจการปกครองซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติหลังยึดอำนาจการปกครองสำเร็จ
2.นิรโทษกรรมให้ผู้ที่กระทำความผิดด้านความมั่นคง โดยอาศัยอำนาจรัฐ อาศัยหลักกรุณาในโอกาสสำคัญต่าง ๆ
3.นิรโทษกรรมยกเว้นความผิดให้แก่ผู้เข้าร่วมการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง ถือเป็นการยุติความขัดแย้งทางการเมืองอย่างหนึ่ง

Advertisement

โดยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา และในช่วงที่มีการรัฐประหารต่อการถึง 2 ครั้ง ข้อมูลที่ไม่สามารถปฏิเสธได้คือคดีทางการเมืองเกิดขึ้นมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทั้ง การแสดงออกในปัจจุบันและคดีในอดีตที่ติดพันมา ดังนั้น ประเด็นการนิรโทษกรรมจึงไม่เคยเลือนหายจากประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีการพยายามยื่นกฎหมายในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาแต่กลับไม่มีร่างใดที่ประสบความสำเร็จ สะท้อนให้เห็นว่าการแก้กฎหมายนิรโทษกรรมในปัจจุบันเป็นเรื่องยาก แต่มี 2 ร่างที่ผ่านได้คือร่างของรัฐประหารในปี 2549 และปี 2557 ที่สามารถนิรโทษกรรมตัวเองสำเร็จได้

“แม้เราจะไม่อาจลืมหรือย้อนอดีตได้ แต่เราสามารถแก้ไขให้ปัจจุบันดีขึ้นได้ การนิรโทษกรรมในวันนี้จึงไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่เป็นทางออกสำหรับความขัดแย้งในทางการเมืองไทยที่ฝังรากลึกมานานนับทศวรรษ และนี่เป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่เราจะได้เรียนรู้ และจดจำ ก้าวข้ามความขัดแย้งไปด้วยกัน ไปสู่การปรองดอง ภายใต้รัฐบาลใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เคยระบุไว้ว่า การนิรโทษกรรมการปรองดองระหว่างประชาชนทั้งประเทศเป็นเรื่องสำคัญและจะทำให้เกิดขึ้นได้ภายในรัฐบาลชุดนี้ และจะทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้อย่างปลอดภัย มีเสถียรภาพ แม้แต่ละพรรคการเมืองจะมีการตรากฎหมายนิรโทษกรรมที่แตกต่างกันไป ดังนั้น การตั้งกมธ.ศึกษาร่วมกันเพื่อให้ได้ข้อยุติที่เห็นพ้องร่วมกันจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด” น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image