แกนนำอนาคตใหม่ถึงศาลแล้ว ลุ้นคำพิพากษาคดีแฟลชม็อบ #ไม่ถอยไม่ทน ปี’62

แกนนำอนาคตใหม่ถึงศาลแล้ว ลุ้นคำพิพากษาคดีแฟลชม็อบ #ไม่ถอยไม่ทน ปี 2562

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่ศาลแขวงปทุมวัน แกนนำอดีตพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ได้แก่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, นายปิยบุตร แสงกนกกุล, น.ส.พรรณิการ์ วานิช, นายไพรัฏฐโชติก์ จันทรขจร อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ และ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมจำเลยคนอื่นๆ เดินทางมาฟังคำพิพากษาคดีร่วมกันชุมนุม #ไม่ถอยไม่ทน ที่สกายวอล์ก แยกปทุมวัน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2562 หรือ แฟลชม็อบ 2562

คดีนี้สืบเนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติ 5 ต่อ 2 ยื่นศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ เพราะกู้ยืมเงินจากนายธนาธร จำนวน 191,200,000 บาท เป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติประกอบ (พ.ร.ป.) รัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 หรือไม่ และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ในวันที่ 11 ธันวาคม 2562

ปรากฏว่า 2 วันให้หลังนายธนาธรนัดหมายประชาชนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ให้เข้าร่วมกิจกรรมแฟลชม็อบ”เมื่อเสียงที่พวกเราเลือกเข้าสภาไม่มีค่า ได้เวลาประชาชนออกมาส่งเสียงด้วยตัวเอง” โดยใช้สกายวอร์ก เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เป็นสถานที่จัดการชุมนุมในช่วงเวลา 17.00-18.00 น. วันที่ 14 ธ.ค. 2562

Advertisement

14 ธ.ค.2562 มีผู้ชุมนุมมาร่วมชุมนุมที่หอศิลป์เป็นจำนวนมาก โดยมีนายธนาธร, นายปิยบุตร, น.ส.พรรณิการ์ นายพิธา สลับกันขึ้นปราศรัย

หลังจากนั้น สน.ปทุมวัน เรียกทั้ง 4 คนมารับทราบข้อกล่าวหา ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานีรถไฟ, ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะฯ, ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

Advertisement

ต่อมาอัยการคดีพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 ยื่นฟ้องต่อศาลแขวงปทุมวันเมื่อวันที่ 29 ต.ค.2563 โดยมีทั้งหมด 5 ข้อหา ประกอบด้วย

1.ข้อหาร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง

2.ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะ โดยกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานีรถไฟ

3.ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะฯ

4.ทำการชุมนุมสาธารณะในระยะไม่เกิน 150 เมตรจากพระราชวัง

5.ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ถือว่าละเมิดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมชนสาธารณะ พ.ศ.2558 และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493

กระทั่งศาลนัดฟังคำพิพากษาวันนี้ (5 ก.พ.67)

ขอบคุณ ข่าวสด

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image