ผู้เขียน | สมหมาย ปาริจฉัตต์ |
---|
คุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภาวันที่ 11 กันยายน 2566 ว่า “คณะรัฐมนตรีจึงขอแถลงนโยบายต่อรัฐสภาให้ทราบถึงเจตนารมณ์ ยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งมั่นจะสร้างความสามัคคี ปรองดอง ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือกันในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองการปกครองของประเทศให้ก้าวหน้าเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยทุกคน ขณะที่ปัญหาสังคมและการเมืองยังคงยืดเยื้อ ฝังรากลึกและยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ”
ต่อมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า “การนิรโทษกรรม การปรองดองระหว่างประชาชนทั้งประเทศเป็นเรื่องสำคัญ จะทำให้เกิดขึ้นได้ภายในรัฐบาลชุดนี้ และจะทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้อย่างปลอดภัย มีเสถียรภาพ”
ถ้อยแถลงสะท้อนถึงเจตจำนงทางการเมืองที่แน่วแน่
แต่คำพูดก็แค่คำพูด สำคัญที่การกระทำ ความเป็นจริงในทางปฏิบัติเป็นอย่างไร
เทียบเคียงกับนโยบายสำคัญปรากฏในคำแถลงนโยบายเช่นกัน คือ เติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต กับการจัดทำรัฐธรรมนูญ
นโยบายนิรโทษกรรมผู้เห็นต่างทางการเมืองกับผู้มีอำนาจ ยังไม่ปรากฏความเป็นรูปธรรม ต่างกับ 2 นโยบายข้างต้นอย่างชัดเจน
ด้วยเหตุนี้หรือไม่ก็ตามทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติ พรรคการเมืองพากันเสนอขายร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในชื่อแตกต่างกันไปหลายฉบับ ยังไม่ถูกบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแม้แต่ฉบับเดียว
จนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้เสนอญัตติด่วน ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาการออกกฎหมายนิรโทษกรรม
วันเดียวกันนั้น โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ เริ่มคิกออฟเชิญชวนประชาชนเข้าชื่อผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน แคมเปญต่อเนื่องจนถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์วันวาเลนไน์ ก่อนยื่นส่งสภา
ในการประชุม ส.ส.ส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุนไปในทิศทางเดียวกัน
ที่ผ่านมาสังคมไทยผ่านช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมืองแบบแบ่งขั้วอย่างรุนแรง และซึมลึกอยู่ในสังคมไทยมากว่า 20 ปี ตั้งแต่สงครามสีเสื้อ การรัฐประหาร 19 กันยายน 49 แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือกลุ่มคนเสื้อเหลือง คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) จนถึงบรรดานักศึกษา ประชาชนต่อต้าน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มาจนถึงการชุมนุมของกลุ่มคนรุ่นใหม่เมื่อปี 2563 และ 2564
“ขณะที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานยอดตั้งแต่การชุมนุมเยาวชนปลดแอก วันที่ 18 กรกฎาคม 2563-31 ธันวาคม 2566 มีประชาชนถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 1,938 คน จำนวน 1,264 คดี ในจำนวนนี้มีเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปีจำนวน 286 ราย และในจำนวน 1,264 คดีนั้น มี 469 คดีที่ดำเนินการแล้วเสร็จ เหลือ 700 กว่าคดีที่ยังอยู่ในขั้นตอนกระบวนการต่างๆ
“พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะลบล้างความผิดให้กับประชาชนทุกฝ่ายที่แสดงความคิดเห็นหรือเคลื่อนไหวด้วยแรงจูงใจทางการเมือง เป็นจุดเริ่มต้นเดินต่อไปข้างหน้าและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทุกคนเห็นต่างขัดแย้งกันได้ภายในกรอบกติกา”
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบญัตติดังกล่าวและตั้งกรรมาธิการสามัญ 35 คน ประกอบด้วยสัดส่วนจากคณะรัฐมนตรี 8 คน ที่เหลือเป็นของพรรคฝ่ายค้านและพรรครัฐบาลได้แก่ ก้าวไกล เพื่อไทย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา และประชาชาติ
ผลการศึกษาของกรรมาธิการจะปรากฏออกมาก่อนหรือหลัง ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่พรรคการเมืองต่างๆ ยื่นเสนอเข่าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
รัฐบาลจะเสนอร่าง พ.ร.บ.เดียวกันนี้เข้าประกบหรือไม่ เมื่อไหร่ หรือ รอ ร้อ รอ ผลการศึกษาของกรรมาธิการออกมาก่อน
วันเวลาที่ดำเนินไปล้วนส่งผลต่อชีวิตผู้ต้องหาทางการเมือง ลูกเมีย ญาติมิตร ครอบครัว ต้องถูกจองจำ พันธนาการ จมอยู่ภายใต้ความทุกข์ทรมานต่อไป
สาเหตุประการสำคัญที่ทำให้การนิรโทษกรรมเกิดขึ้นล่าช้า มาจากความเห็นต่างในเรื่องขอบเขตแห่งคดี ควรครอบคลุมคดีประเภทใด ผู้ต้องหากลุ่มไหนในห้วงเวลาใด ที่เข้าข่ายควรได้รับการนิรโทษ
ประเด็นถกเถียงมากที่สุดคงหนีไม่พ้น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และคดีทุจริต
ฝ่ายที่ประกาศแนวทางให้รวมคดีความผิดมาตรา 112 ด้วย ย่อมยืนยันในสิ่งที่เชื่อและเสนอขายเป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง เพื่อรักษาหลักการและคะแนนนิยมของพรรคไว้ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้
แต่สุดท้ายแล้วต้องยอมรับในผลการศึกษา มติของคณะกรรมาธิการวิสามัญ และมติที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อร่างกฎหมายเข้าสู่ที่ประชุม
การดึงดัน เล่นแง่ ตะแบง ไม่ยอมรับเสียงข้างมากจึงมีแต่ทำให้อิสรภาพของผู้ต้องหาทางการเมืองล่าช้าออกไปโดยใช่เหตุ
ว่าไปแล้วการนิรโทษกรรมเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการก้าวสู่ความสมานฉันท์ สามัคคีปรองดอง ภายใต้หลักการอยู่ร่วมกันได้แม้เห็นต่าง แต่ก็เป็นปลายทาง ต้นทางคือความยุติธรรม
เมื่อใดที่เงื่อนไขซึ่งทำให้การกดขี่ขูดรีด ข่มเหง รังแก เอารัดเอาเปรียบ บังคับใช้กฎหมายสองมาตรฐาน ความอยุติธรรม ถูกขจัดให้ลดลงจนเหลือน้อยที่สุด นั่นแหละ
ความสามัคคี สมานฉันท์ ปรองดอง ทุกด้านทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ถึงเกิดขึ้นจริงและยั่งยืน