“จาตุรนต์” ถามศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจวินิจฉัย แก้กฎหมาย=ล้มล้าง ไหม

“จาตุรนต์” ถามศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจวินิจฉัย แก้กฎหมาย=ล้มล้าง ไหม

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เผยแพร่บทความ การยุบพรรค-ตัดสิทธิ ตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 ไม่ใช่แค่การวนลูป แต่เป็นความต่อเนื่องที่รุนแรงขึ้นไปอีก เพราะครั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญถึงขั้นเข้ามาจัดการฝ่ายนิติบัญญัติ

การวินิจฉัยครั้งนี้เรื่องหลักคือการแก้ไขกฎหมาย ส่วนเรื่องอื่น เช่น ปราศรัยหาเสียง การปรากฏข้อความใน Facebook รวมถึงการประกันตัวผู้ต้องหาคือเรื่องแวดล้อม เมื่อการ “แก้กฎหมาย” นี้ถูกนำมาวินิจฉัยและชี้ว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ปัญหาก็มีอยู่ว่าศาลรัฐธรรมนูญสามารถพิจารณาเรื่องนี้ได้จริงหรือไม่ และจะมีผลต่อฝ่ายนิติบัญญัติอย่างไร?

1. เรื่องนี้ใช้มาตรา 49 การใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนล้มล้างการปกครองที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้ แต่การแก้กฎหมายจะอยู่ในหมวดว่าด้วยรัฐสภา ซึ่งโยงการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย 3 ฝ่าย ซึ่งการแก้ไขกฎหมายโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้อยู่ในหมวด “สิทธิเสรีภาพ” แต่เป็น “อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ”

Advertisement

2. การเสนอให้แก้กฎหมายเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายได้หรือไม่? อธิบายได้เหมือนกับเรื่องอภิปรายหรือเสนอญัตติในรัฐสภา ที่ ส.ส.ผู้อภิปรายมีเอกสิทธิ์ในการทำหน้าที่ ใครจะฟ้องร้องใดๆ ไม่ได้ (เว้นแต่กระจายเสียงออกทีวีแล้วหมิ่นประมาท) ซึ่งรวมถึงการที่ ส.ส. ก็มีอำนาจในการเสนอร่างกฎหมาย ดังนั้นการแก้กฎหมายจึงผิดกฎหมายไม่ได้

3. ถ้ากฎหมายนั้นขัดรัฐธรรมนูญจะทำอย่างไร? ในระบบของประเทศเรารัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยแต่จะเกิดขึ้นเมื่อกฎหมายผ่านการเห็นชอบของสภา 3 วาระไปแล้ว และต้องวินิจฉัยโดยอัตโนมัติไม่ต้องมีใครไปร้อง แต่ถ้าเป็น พ.ร.บ.ทั่วไปต้องมีคนร้องเสียก่อน ถ้าไม่มีคนร้องก็เป็นอันผ่านร่างและทูลเกล้าต่อไป

ดังนั้นรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมาพิจารณาในขั้นตอนเสนอร่าง เพราะเราไม่รู้หรอกว่าสุดท้ายแล้วเมื่อกฎหมายผ่านสภาร่างนั้นจะเป็นอย่างไร เช่น ในชั้นแปรญัตติอาจจะแก้ไขร่างจนไม่ขัดรัฐธรรมนูญก็ได้ แต่ในทางกลับกันกฎหมายไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย แต่สภาเสนอแก้กันจนกระทั่งวาระ 3 ปรากฎว่าขัดรัฐธรรมนูญ ส.ส.ก็จะเข้าชื่อกันตามกติกาแล้วไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถ้ามาตราไหนขัดรัฐธรรมนูญมาตรานั้นก็ตกไป ถ้าบอกว่าขัดทั้งฉบับก็ตกทั้งฉบับ มันมีระบบป้องกันไม่ให้การออกกฎหมายเป็นปัญหาต่อบ้านเมืองอยู่แล้ว

Advertisement

เรื่องนี้ทำให้ผมเป็นห่วงอย่างยิ่งว่าจะกลายเป็นบรรทัดฐาน และความสัมพันธ์ของศาลรัฐธรรมนูญกับฝ่ายนิติบัญญัติที่จะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต คราวนี้เวลาเสนอกฎหมายจะรู้ได้อย่างไรว่าจะไปเข้าข่ายหรือผิดมาตราไหนหรือไม่ ต่อไปอาจทำให้ ส.ส.ทั้งสภา หรือ ส.ส.ที่ยกมือเห็นชอบกฎหมายที่สุดท้ายถูกวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ แล้วต้องติดคุกติดตารางหรือขัดจริยธรรมไปเลยหรือไม่

และเมื่อต่อไปจะต้องตัดสินว่าจะยุบพรรคอีกแล้วหรือไม่? ผมก็ใจหาย และมันน่าใจหายมากกว่าคำว่า “อีกแล้ว” เพราะครั้งนี้มันมีผลต่อบทบาทอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาที่เป็นเรื่องใหญ่มาก การยุบพรรคผมพูดมาเป็นร้อยครั้งแล้วว่ามันไม่เคยถูกหลักประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม ซึ่งไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนเขาทำกัน

การเอาผิดมาตรฐานจริยธรรมตอนสมัยผมโดนตัดสิทธิในการไปเลือกตั้งด้วย ระบบมันป่าเถื่อนไปถึงขนาดนั้น แต่มาปัจจุบันมีการตัดสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปตลอดชีวิตก็ยิ่งน่าใจหาย และเป็นเรื่องที่ทำให้สังคมเกิดความสับสนอย่างยิ่งจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ส.ส.ไปประกันตัวผู้ต้องหา โดยหลักแล้วเอามาเป็นเหตุฟ้องร้องอะไรใครไม่ได้เลย เพราะการประกันตัวเป็นสิทธิ ศาลยังไม่ตัดสินต้องปฏิบัติต่อเขาเหมือนเป็นผู้บริสุทธิ์ ถ้าไปประกันตัวคนถูกคดีฆ่าคนตาย ต่อมาศาลตัดสินว่าคนนี้ฆ่าคนตาย ผู้ประกันก็เลยผิดไปด้วยเพราะช่วยคนฆ่าคนตาย “ไม่ได้”

คดีที่เป็นอาญาอยู่แล้วทำไมไม่ใช้การรับโทษทางอาญาแต่ใช้เรื่องมาตรฐานจริยธรรม สิทธิการเข้าสู่ตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง มันเป็นปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองไม่ควรเกิดขึ้น เมื่อชีวิตมนุษย์คนหนึ่งที่ยังเสียภาษีให้กับประเทศหนึ่ง ไม่พึงจะถูกเพิกถอนสิทธิเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลายครั้งคดีอาญากลับตัดสินออกมาคนละแบบ

ย้อนไปในอดีตการยุบพรรคเกิดขึ้นแค่มีการเลือกตั้งมีการไปจ่ายเงินให้หัวคะแนน 20,000 บาท ต่อมาสอบสวนเสร็จสั่งไม่ฟ้องเพราะเป็นการชำระหนี้กัน ไม่มีใครผิดกฎหมายอาญาอะไรเลย แต่พรรคยุบไปแล้วรัฐมนตรีถูกเพิกถอนสิทธิไปแล้ว คนละ 5 ปี แต่ผลทางการเมืองและสังคมมีทั้งเกิดการต่อสู้ของคนเสื้อแดง อีกฝั่งมีตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร

พอมาคราวนี้ประเด็นที่ละเอียดอ่อนขึ้น ความรู้สึกคนในสังคมจะเป็นอย่างไร ความรู้สึกไม่พอใจต่อระบอบไม่พอใจต่อกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย มันจะไปแค่ไหนก็ไม่รู้

แต่เกือบ 20 ปีที่ผ่านสังคมไทยล้มลุกคลุกคลานในทั้งเรื่องประชาธิปไตย และกระบวนการความยุติธรรม สังคมต้องคิดให้ได้ว่าจะทำอย่างไรให้อยู่กันได้ โดยไม่เผชิญหน้าขัดแย้งเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image