‘กัณวีร์’ มองปม จนท.ไทย จับกุมนักกิจกรรมชาวกัมพูชา-ครอบครัว ส่อทำไทยถูกปัดตกคณะมนตรีสิทธิฯ สหประชาชาติ จวกหวังนิรโทษกรรมในประเทศ แต่หนุนการห้ำหั่นประเทศเพื่อนบ้าน เหมือนมือถือสากปากถือศีล
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา นายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการการโยกย้ายถิ่นแบบไม่ปกติ กล่าวถึงผลการศึกษาปัญหาเกี่ยวกับบุคคลที่เข้าเมือง โดยมีเหตุหลบหนีการประหารประหาร ภัยสงคราม การลี้ภัยทางการเมือง แรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน ได้ร่วมออกแบบกฎหมายรองรับ เพื่อสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างมีมนุษยธรรมให้กลุ่มคนเหล่านี้ที่อยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก รวมถึงกลุ่มคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ที่อยู่ในแนวชายแดน ปัญหาเหล่านี้มีความซับซ้อนที่จะแก้ไข และเกิดจากกฎหมายของไทยที่ไม่ปรับตัวไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
นายกัณวีร์ กล่าวถึงนโยบายการสร้างระเบียงมนุษยธรรมของนายปานปรีย์ พหิทานุกร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ ซึ่งจะเดินทางไปดูพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ตนสนับสนุนการเปิดระเบียงมนุษยธรรมเพราะประเทศไทยมีภูมิรัฐศาสตร์ที่เหมาะสม แต่อยากให้คำนึงถึงหลักความเป็นจริง เพราะจากที่ นายปานปรีย์ ได้แถลงข่าวว่าจะมีการประสานงานระหว่างสภากาชาดไทย สภากาชาดเมียนมา และสภากาชาดสากลนั้น ต้องอย่าลืมว่าสภากาชาดเมียนมา อยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร
แต่ปัญหาบริเวณชายแดนไทยที่ติดกับเมียนมา ไม่ใช่เป็นเพียงพื้นที่ของรัฐบาลทหารเมียนมาเท่านั้น เพราะผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเมียนมาส่วนใหญ่ อยู่ในการดูแลของกองกำลังชาติพันธุ์ ประเทศไทยจำเป็นต้องพูดคุยกับทุกฝ่าย ไม่สามารถพูดคุยเฉพาะระหว่างรัฐบาลได้อย่างเดียว รวมถึงต้องรู้ว่าต้องเปิดที่ไหนด้วย แม่สอดไม่ใช่พื้นที่จำเป็นเร่งด่วนสำหรับสถานการณ์ตอนนี้ แต่คือพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งอยู่ติดกับพื้นที่สู้รบ
นายกัณวีร์ ยังกล่าวถึงการที่เจ้าหน้าที่ไทยได้จับกุมนักกิจกรรมชาวกัมพูชา และครอบครัว ตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ. เป็นต้นมา ก่อนที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชา จะเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งบุคคลที่ถูกจับกุมนั้นต่างได้รับบัตรประจำตัวของ UNHCR รับรองสถานะผู้ลี้ภัยแล้ว พวกเขาคือนักกิจกรรมคดีทางการเมืองในกัมพูชา หลบหนีการประหัตประหารเข้ามาในประเทศไทย อยู่ระหว่างการไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่ 3
“การจับกุมนักกิจกรรมชาวกัมพูชา ผมไม่แน่ใจว่าเพื่ออะไร เป็นการสั่งการหรือไม่ หรือเป็นการปฏิบัติการตามวงรอบ แล้วถ้าประเทศไทยดำเนินการเพื่อจะเอาใจนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ผมว่าเราต้องมีความระมัดระวังให้มาก เพราะปีนี้เรากำลังจะเสนอตัวเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ การทำแบบนี้เป็นการกดปราบข้ามชาติ (transnational repression) การที่รัฐบาลต่อรัฐบาลทำงานร่วมกัน ปราบปรามคนที่โดนริดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานอยู่ ไม่มีทางที่เราจะได้เป็นคณะ มนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เราจะต้องโดนปัดตกไปแน่นอน” นายกัณวีร์ กล่าว
นายกัณวีร์ กล่าวว่า ตนจะไม่กังวลเลยหากเป็นสมัยก่อน ที่รัฐบาลจากการรัฐประหาร แต่รัฐบาลชุดนี้มาจากการเลือกตั้ง ต้องยึดความสำคัญของหลักสิทธิมนุษยชน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เราเห็นชอบกับการนิรโทษกรรม ภายในประเทศไทย บอกว่าเป็นการก้าวข้ามความขัดแย้ง เป็นการพัฒนาของประชาธิปไตยในระบบการเมืองประเทศไทย แต่ตอนนี้เราไปจับเขาได้ แล้วหากเราส่งเขากลับไปประเทศต้นทาง นี่เป็นการสนับสนุนการห้ำหั่นในประเทศเพื่อนบ้านของเรา
“เราจะนิรโทษกรรมคนในฝั่งเรา แต่ไปสนับสนุนให้เกิดการห้ำหั่นในอีกฝั่งหนึ่ง เหมือนกับการมือถือสากปากถือศีล หากเราต้องการสนับสนุนการนิรโทษกรรมในประเทศไทย เราจะต้องสนับสนุนสิ่งนี้ในประเทศเพื่อนบ้านด้วยเช่นกัน” นายกัณวีร์ กล่าว