‘ศิริกัญญา’ ชี้ ความเห็น ป.ป.ช. ปม ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ทำทุกอย่างดีเลย์โดยเปล่าประโยชน์ ซ้ำเปิดช่องคนร้องเรียนง่ายขึ้น บอก รบ.ไม่จำเป็นต้องทำตาม แต่ควรหาข้อมูลมาหักล้างเรื่องความไม่คุ้มค่า
เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีข้อเสนอแนะเรื่องการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลว่า หลายเรื่องที่ ป.ป.ช.มีความเห็นมาในครั้งนี้ ไม่ได้แตกต่างจากความเห็นที่หลุดออกมาก่อนหน้านี้ แม้ครั้งนี้จะมีแหล่งข่าวระบุว่า ป.ป.ช.จะพยายามปรับให้โทนความเห็นเบาลง แต่ความจริงก็เหมือนเดิมทุกประการ หลายเรื่องเป็นสิ่งที่รัฐบาลทราบอยู่แล้วว่าเศรษฐกิจอาจจะไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤต แต่อยู่ในภาวะกำลังฟื้นตัวเข้าสู่จุดสมดุล หรือการที่หาเสียงไว้แบบหนึ่งแต่กำลังจะทำอีกแบบ
น.ส.ศิริกัญญากล่าวต่อว่า ดังนั้น ยังคงยืนยันว่าคำแนะนำของ ป.ป.ช. ก็เป็นเพียงอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มาตรา 32 แต่รัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องทำตามที่ ป.ป.ช.เสนอแนะ แน่นอนว่ามีส่วนที่เราเห็นด้วยในบางข้อ แต่ในหลายข้อเราก็คิดว่าน่าจะเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.ในการแนะนำ เช่น การให้จำกัดคนที่จะได้รับประโยชน์ให้เป็นเฉพาะกลุ่มเปราะบาง หรือรายได้น้อยเท่านั้น ซึ่งก็ต้องมาดูว่าวัตถุประสงค์ของแต่ละโครงการที่แตกต่างกันด้วย ซึ่งอาจไม่ได้เจาะจงเฉพาะกลุ่มเปราะบาง
“การที่ ป.ป.ช.ทำรายงานฉบับนี้ออกมา แล้วทำให้ทุกอย่างต้องดีเลย์ออกไป ค่อนข้างเป็นการเสียระยะเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ ความจริงรัฐบาลควรต้องเดินหน้าปรึกษาหารือ และนัดประชุมกับคณะกรรมการนโยบายชุดใหญ่ เพื่อสรุปว่าโครงการนี้จะเดินหน้าในวิธีใดมากกว่า” น.ส.ศิริกัญญากล่าว
เมื่อถามว่า หากรัฐบาลเดินหน้าโครงการต่อ เรื่องนี้จะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า รัฐบาลทราบมาโดยตลอดว่าการออก พ.ร.บ.เงินกู้ มีความเสี่ยงทางกฎหมาย โดยเฉพาะ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และยังไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาลว่าจะแก้ปมนี้อย่างไร อีกทั้งรายงานของ ป.ป.ช.ยังมีถ้อยคำที่เขียนเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะ จึงอาจทำให้คนไปร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.ได้ง่ายดายขึ้น
น.ส.ศิริกัญญากล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ในหลายช่วงหลายตอนรายงานของ ป.ป.ช.มีการพูดถึงความคุ้มค่าของโครงการ และตัวคูณทางการคลัง ตนจึงมั่นใจว่าหากรัฐบาลทำการศึกษาขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อหักล้างข้อมูลของ ป.ป.ช.ก็สามารถทำได้ แต่รอจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีผลการศึกษาดังกล่าวจากรัฐบาล มายืนยันความคุ้มค่าของโครงการเลย ย้ำว่า หนทางที่จะใช้งบประมาณปี 2568 เพื่อจะได้ไม่ต้องกังวลความเสี่ยงทางด้านกฎหมาย แต่ก็จะทำให้โครงการล่าช้าออกไปอีก หลังเดือนกันยายนของปี 2567 คือเริ่มจากเดือนตุลาคมเป็นต้นไป
น.ส.ศิริกัญญากล่าวด้วยว่า ซึ่งก็ยังไม่แน่ชัดว่าโครงการจะเริ่มเมื่อไหร่ เพราะกำหนดการจากเดิมที่เป็นเดือนพฤษภาคมก็เลื่อนไปแล้วอย่างไม่มีกำหนด และยังอีกข้อจำกัดอีกคือแม้จะใช้งบปี 2568 ก็ยังไม่มีงบประมาณที่เพียงพอสำหรับโครงการ 5 แสนล้านบาทนี้ ดังนั้น การลดกลุ่มเป้าหมายลงมาจึงเป็นทางออกอีกทางหนึ่ง แต่อีกปมที่ยังไม่ได้แก้คือเรื่องความคุ้มค่าของโครงการ
เมื่อถามว่า ถือว่าช้าเกินไปหรือไม่ที่รัฐบาลจะหันกลับมาทบทวนโครงการนี้ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ไม่ช้า เพราะเราไม่เคยปฏิเสธว่าเศรษฐกิจไทยมีปัญหา เพียงแต่ว่าตอนนี้ยังไม่เข้าสู่ช่วงวิกฤตเต็มตัว ยังคงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการต่างๆ ออกมาได้แล้วในวันนี้ โดยที่ไม่ต้องรอถึงเดือนพฤษภาคมหรือตุลาคม ถ้ามีการทบทวนในระหว่างทางว่าควรต้องมีโครงการอื่นๆ ออกมาในระหว่างนี้ก่อน โครงการดิจิทัลวอลเล็ตก็คงจะต้องรอให้มีเงินมากเพียงพอ แล้วค่อยทำ ก็ยังคงเป็นไปได้เช่นเดียวกัน
“เพราะว่าก็ไม่รู้จะโทษใครดี ที่ต้องการจะทำโครงการขนาดมหึมาแบบนี้ แต่ไม่ได้เตรียมในเรื่องเงินที่วางไว้ จึงต้องมีปัญหาที่ต้องแก้ไปทีละเปลาะแบบนี้ไปเรื่อยๆ ตอนนี้คิดว่าควรมีแอ๊กชั่น อะไรที่สามารถทำได้เลย อาจจะเล็กลงมา ใช้งบกลางที่มีอยู่ก่อนแล้วไปพลางก่อน ก็น่าจะทำให้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ภายในระยะเวลานี้” น.ส.ศิริกัญญากล่าว