สภาฯ ถกกม.ประมง เดือด! ก่อนยอมให้รัฐบาลขอนำกลับไปพิจารณาก่อน นำเข้าสภาฯอีกครั้ง 22 ก.พ.
เมื่อเวลา 12.15 น.วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประมง พ.ศ.2558 ที่มีสมาชิกเสนอจำนวน 7 ร่าง โดยที่ประชุม จะพิจารณาไปในคราวเดียว เนื่องจากมีเนื้อหาไปในทำนองเดียวกัน เพื่อแก้ปัญหาให้กับพี่น้องชาวประมงที่ได้รับความเสียหายและความเดือดร้อน
ช่วงหนึ่ง นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย ชี้แจงเหตุผลว่า จากผลกระทบที่ร้ายแรงต่อการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ซึ่งอาจนำไปสู่การถูกขึ้นบัญชีเป็นใบเหลืองของสหภาพยุโรปหรืออียู หรืออาจจะถูกปรับขึ้นเป็นใบแดง จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไข พ.ร.ก.เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันที เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบอาชีพประมงโดยสุจริตให้ได้รับความเป็นธรรม และส่งเสริมการทำประมงให้มีประสิทธิภาพ ทั้งที่ที่ผ่านมาครั้งหนึ่งเราเป็นประเทศที่สามารถจับสัตว์น้ำส่งขายเป็นอันดับต้นๆของโลก อยู่ที่1ที่2มาโดยตลอด แต่หลังจากปี 58 เป็นต้นมา ทำให้อาชีพชีพประมงถูกกฎหมาย แชะมีการออกเป็นพ.ร.ก.กดดัน จนทำให้จากเป็นผู้ส่งออก ต้องเป็นผู้นำเข้าในขณะนี้ ทำให่้เกิดความเสียหายต่อพี่น้องชาวประมงทั้งประเทศ
ขณะที่ นายพิทักษ์เดช เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ชี้แจงเหตุผลว่า ที่ผ่านมาชาวประมงต้องประสบปัญหาในการประกอบอาชีพ ทั้งที่การประมงของไทยมีความสำคัญอย่างยิ่งทางเศรษฐกิจเพราะทำรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาลในแต่ละปี แต่ชีวิตพี่น้องชาวประมงไทยสวนทางกับรายได้ มีคุณภาพชีวิตย่ำแย่ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากภาครัฐอย่างที่ควรจะเป็นและยังถูกซ้ำเติมด้วยการออกกฎหมายระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ทำให้อาชีพประมงไทยได้แต่รอวันสูญพันธุ์ ปัจจุบันกฎหมายว่าด้วยประมงที่บังคับใช้อยู่ มีหลายเรื่องที่จำกัดสิทธิ์ในการทำประมง ทั้งจำกัดอาณาบริเวณการทำประมงพื้นบ้านให้อยู่เฉพาะในเขตทะเลชายฝั่ง การกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิ์ขอรับใบอนุญาตที่ไม่เอื้อต่อการทำประมง การจำกัดเครื่องมือในการทำประมงในเวลากลางคืน การมีคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดกำหนดสัดส่วนให้ผู้ดำรงตำแหน่งอย่างไมาสมดุลเหมาะสม การกำหนดโทษมุ่งเฉพาะขนาดของเรือ ยิ่งเรือขนาดใหญ่ยิ่งมีความผิดรุนแรง ดังนั้นพ.ร.ก.การประมงที่บังคับใช้อยู่ถือว่าลิดรอนสิทธิเป็นอย่างมาก
หลังสมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวาง นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯคนที่ 2 แจ้งต่อที่ประชุมว่า รัฐบาลขอรับร่างพ.ร.บ.ประมง ทั้ง 7 ฉบับไปพิจารณาก่อน แต่ต้องไม่เกิน 60 วัน ทำให้ฝ่ายค้านไม่พอใจ ทั้ง นายพิทักษ์เดช เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คัดค้าน เพราะทำให้ชาวประมงต้องรออีก 60 วัน
โดย นายวิโรจน์ กล่าวว่า ชาวประมงรอกฎหมายฉบับนี้ แต่เพราะความเกียจคร้านของรัฐบาล ท่านคิดถึงหัวใจของชาวประมงหรือไม่ ตนมั่นใจถ้าเป็น ร.ต.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เขาจะไม่อุ้ม เพราะเขาเข้าใจถึงหัวใจของชาวประมง เขาเขาใจว่า วันนี้ชาวประมงร้องไห้เป็นสายเลือด และชีวิตไม่ได้แขวนไว้บนเส้นด้าย แต่แขวนไว้บนเส้นอวน ฉะนั้น 60 วันตนไม่ให้อุ้ม เพราะท่านอุ้มชีวิตชาวประมงและพาเขาไปตายมาหลายชีวิตแล้ว หากรัฐบาลจะอุ้มต้องตอบชาวประมงให้ได้ เพราะความเกียจคร้านของรัฐบาลและความเกียจคร้านของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรมว.คลัง ใช้หรือไม่
ทำให้ นายอนุชา นาคาศัย รมช.เกษตรฯ ชี้แจงว่า ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอนำร่างพ.ร.บ.ประมง ทั้ง 7 ร่างกลับไปพิจารณาก่อนตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ พ.ศ.2562 ข้อที่ 118 จากที่ได้ฟังผ่านการผู้อภิปรายและนำเสนอ ก็เห็นต้องตรงกันว่าเป็นร่างพ.ร.บ.ที่ต้องรีบดำเนินการ เพื่อให้บรรลุผลตามที่ทุกท่านมีความปรารถนาดีกับพี่น้องชาวประมงเฉกเช่นเดียวกับนายกฯ และ ครม.ก็คิดเฉกเช่นเดียวกันกับสมาชิกทุกท่านที่นำเสนอ
ทั้งนี้ กฎหมายที่เราพิจารณากันอยู่แม้ว่า จะผ่านไปแล้ว และเข้าประชุมในชั้นกรรมาธิการฯ หากยังไม่ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่วนใหญ่ก็ไม่เร็วอย่างที่ท่านคิด โดยรัฐบาลที่แล้วก็มีการดำเนินการในลักษณะเช่นนี้ โดยกฎหมายเข้าไปก็ไม่ได้เร็วอย่างที่เราเห็นกันอยู่ ขณะที่ ร่างพ.ร.บ.ฯ ของรัฐบาล ขณะนี้ได้เร่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาโดยเร่งด่วน ดังนั้นคณะรัฐมนตรีไม่ได้มีเจตนาประวิงเวลาหรือเกียจคร้านตามที่ท่านสมาชิกได้อภิปราย
อย่างไรก็ตาม ส.ส.ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ยังโต้เถียงกันไม่หยุด โดยฝ่ายค้านไม่ยอม แต่ฝ่ายรัฐบาลยอมให้ครม.นำร่างกลับไปพิจารณาก่อน จนกระทั่งเวลา 17.51 น. ทำให้นายพิเชษฐ์ ต้องสั่งพักการประชุม 10 นาที
จากนั้นเวลา 18.08 น. การประชุมกลับมาอีกครั้ง โดย นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะครม.ชี้แจงว่า ได้คุยกับคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ซึ่งกฤษฎีกาชี้แจงว่า กฎหมายดังกล่าว เกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศ 2 ข้อ ซึ่งตนก็เห็นว่า ใช้เวลาพิจารณา 60 วันช้าเกินไป ตนจึงเสนอว่าใช้เวลาพิจารณา 15 วันแล้วเอากลับมา ขอให้สมาชิกสบายใจได้
ด้าน นายณัฐวุฒิ บัวปทุม สส.บัญชีรายชื่อ ลุกขึ้นยินดีให้ครม.นำกลับไปพิจารณา แต่ขอให้นะกลับมาบรรจุวาระ และพิจารณาร่วมกันในวันที่ 22 ก.พ. ซึ่งรัฐมนตรี ที่เป็นตัวแทนครม. ก็เห็นด้วย จากนั้นนายพิเชษฐ์ จึงสรุปว่า ที่ประชุมอนุมัติให้ครมท.นำกลับไปพิจารณาแล้วนำร่าง พ.ร.บ.ประมงกลับเข้าทีป่ระชุมสภาฯอีกครั้งในวันที่ 22 ก.พ. แต่นายพิทักษ์เดช เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่ยอม จะขอโหวตให้ได้ ทำให้นายพิเชษฐ์ ตัดบทว่ามันผ่านไปแล้ว ขอให้อย่าใช้อารมณ์ และวันนี้ประชุมกันมาพอสมควรแล้ว และสั่งปิดประชุมทันทีในเวลา 18.18 น.