ศูนย์ทนายฯ ยื่นประกันครั้งใหญ่ ผู้ต้องขังการเมือง 15 ราย ตั้งแถวแถลงหน้าศาล ย้ำหลักสิทธิประกัน

ศูนย์ทนายฯ ยื่นประกันครั้งใหญ่ ผู้ต้องขังการเมือง 15 ราย ตั้งแถวแถลงหน้าศาล ย้ำหลักสิทธิประกัน

เมื่อเวลา 09.50 น. วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่บริเวณหน้าป้ายศาลอาญา รัชดาภิเษก เขตจตุจักร ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วยเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน เดินทางไปยื่นประกันตัว #ผู้ต้องขังคดีการเมืองชุดใหญ่ พร้อมแถลงข่าวเน้นย้ำหลักการว่าผู้ต้องหาบริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศว่า ตัวแทนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นำโดย นางสาว คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความจากศูนย์เพื่อสิทธิมนุษยชน ตัวแทนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ ดร.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วยเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ร่วมกันยืนแถลงหน้าป้ายศาลาอาญา รัชดาภิเษก โดยมีการถือป้ายผ้าแคมเปญนิรโทษกรรมประชาชน และโปสเตอร์ข้อมูลผู้ต้องหาคดีทางการเมือง ที่ต้องการเรียกร้องสิทธิประกันตัวจำนวนมาก

ADVERTISMENT

น.ส.คุ้มเกล้า กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2566 สถานการณ์ผู้ต้องขังคดีการเมืองเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ถูกดำเนินคดีในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และคดีครอบครองอาวุธที่สืบเนื่องมาจากการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ไม่ได้รับสิทธิประกันตัวในระหว่างต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ และในชั้นฎีกามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างน่ากังวล

น.ส.คุ้มเกล้า กล่าวต่อว่า จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจนถึงวันที่ 1 ก.พ. 2567 ยังคงมีประชาชนถูกคุมขังในเรือนจำจากคดีที่แสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง อย่างน้อย 38 คน โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี จำนวนอย่างน้อย 25 คน และคดีถึงที่สุดแล้ว 13 คน

ADVERTISMENT

“จำนวนของผู้ที่ไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างต่อสู้คดี มีผู้ที่ถูกคุมขังจากคดีตามมาตรา 1 12 จำนวน 14 คน และมีเยาวชน 2 คน ถูกคุมขังในข้อหานี้ เพราะกำหนดมาตรการพิเศษแทนการมีคำพิพากษา ส่วนในคดีครอบครองวัตถุระเบิดหรือเผารถตำรวจ มีผู้ไม่ได้ประกันตัวรวม 9 คน” น.ส.คุ้มเกล้า  กล่าว

น.ส.คุ้มเกล้า กล่าวว่า ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากคดีทางการเมือง นักศึกษา และภาคประชาสังคม ได้รวมกลุ่มกันเป็น “เครือข่ายนิรโทษกรรม” จัดทำร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน และจัดให้มีการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย โดยมีกิจกรรมรณรงค์ต่อเนื่องในช่วงวันที่ 1-14 ก.พ. 2567 เพื่อให้รัฐยุติการดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง

“ผู้ต้องหาและจำเลยที่ถูกคุมขัง เมื่อทราบถึงการเข้าชื่อเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมและกิจกรรมของเพื่อนข้างนอกแล้ว หลายคนแจ้งความประสงค์ที่จะยื่นขอประกันตัว เพื่อใช้สิทธิของตนเองอีกครั้ง และเพื่อตอกย้ำให้สังคมได้เห็นว่ายังมีคนไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและได้รับความเดือดร้อน” น.ส.คุ้มเกล้า เผย

น.ส.คุ้มเกล้า กล่าวว่า ในวาระที่มีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม ประกอบกับที่สภาผู้แทนราษฎรก็มีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อันจะเป็นทางออกในการยุติความขัดแย้งทางการเมือง และกฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญต่อพวกเขา

“ตั้งแต่เมื่อวานและวันนี้ ทนายความพร้อมนายประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์ จะเข้ายื่นประกันตัวผู้ต้องขังที่แจ้งความประสงค์ ขอใช้สิทธิประกันตัวทั้งหมด 15 ราย ได้แก่ ถิรนัย, ชัยพรประวิตร, มงคล, ขจรศักดิ์, คเซนทร์, แม็กกี้, ไพฑูรย์, สุขสันต์, ธนายุทธ,วีรภาพ, อุดม ,กัลยา , จิวัฒน์ และทีปกร โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ ซึ่งเป็นเงินบริจาคของประชาชน ในการวางหลักประกันต่อศาล

วัตถุประสงค์ขอยื่นประกันตัวในวันที่ 14 ก.พ. 2567 เนื่องจากเป็นวันเดียวกับการฟังคำพิพากษาในคดีของตัวเอง และอานนท์ นำภา ได้แจ้งความประสงค์ว่าจะยื่นประกันตัวเองพร้อมกับยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 14 ก.พ. 2567 เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นการยื่นอุทธรณ์ในคดีที่สืบเนื่องมาจากการปราศรัยในการชุมนุม 14 ต.ค. 2563

“ผู้ต้องขังคดีการเมืองรายอื่นๆ ที่ไม่ได้ยื่นขอประกันตัว เนื่องจากต้องการยุติการต่อสู้ทางคดีแล้ว รอคดีสิ้นสุด ได้แก่ ชนะดล และสมบัติ ทั้งในส่วนของวารุณี ได้แจ้งความประสงค์ว่าขอดูสถานการณ์ และยังไม่ขอตัดสินใจยื่นประกันตัวในช่วงเวลานี้” น.ส.คุ้มเกล้า กล่าว

น.ส.คุ้มเกล้า กล่าวว่า ผู้ต้องขังคดีการเมืองที่เหลือ ได้แก่ นายเวหา แสนชนชนะศึก และนายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง หรือ เก็ท ได้ปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม จนกว่าผู้ต้องขังรายอื่นจะได้รับการประกันตัวทั้งหมด ส่วนบุ้ง เนติพร ไม่ประสงค์ให้ยื่นประกันตัว เพื่อประท้วงความอยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรม

“ในสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้ความหวังในการใช้ชีวิตข้างนอกของประชาชนที่ยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำริบหรี่ เพียงเพราะคำสั่งในลักษณะเช่นเดิมที่ว่า ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม กลายเป็นแรงผลักให้หลายคนต้องตัดสินใจยอมรับคำตัดสินโทษ โดยไม่ได้อุทธรณ์หรือฎีกาต่อไป

แต่เพื่อให้พวกเขาได้กลับมามีอิสรภาพในชีวิตให้เร็วที่สุดอีกครั้ง การยื่นประกันตัวผู้ต้องขังทั้งหมดในวันนี้ด้วยความหวังกระบวนการยุติธรรม จะคงยึดมั่นในหลักการขั้นพื้นฐานที่สำคัญของระบบกฎหมายสมัยใหม่ คือหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และแม้เป็นจำเลย ก็ควรได้รับสิทธิในการต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด โดยการพิจารณาคำร้องขอประกันตัวของ ผู้ต้องขังคดีการเมืองเหล่านี้อย่างเที่ยงธรรม และคืนสิทธิประกันตัวซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ทั้งยังเป็นหลักประกันในการได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ให้กับผู้ต้องขังคดีการเมืองทุกคน” น.ส.คุ้มเกล้า กล่าว

ด้าน ดร.เบญจรัตน์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เรารับทราบมาตลอดโดยเฉพาะช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ที่มาการดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยจำนวนมาก คือมีคนกลุ่มหนึ่งที่กำลังถูกจองจำโดยอาชญากรรมของพวกเขา เพียงจากการตั้งคำถาม การวิพากษ์วิจารณ์หรือการออกมาต่อต้านผู้ที่มีอำนาจในสังคมหรือระบอบการเมือง

“สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ที่แสดงเห็นต่างทางการเมืองคือการไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวทั้งที่หลายคนยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี พวกเขากับถูกพรากเสรีภาพไปในระหว่างที่ฐานะตามกฎหมายของพวกเขาตามหลักการขั้นพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรม คือพวกเขายังเป็นผู้บริสุทธิ์” ดร.เบญจรัตน์กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image