เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่ท้องพระโรง หอศิลป์ ม.ศิลปากร วังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดงานแถลงข่าวหัวข้อ ‘โลงผีแมน ข้อมูลใหม่ สู่การถอดรหัส สืบรากมนุษย์ยุคโบราณ 1,700 ปี การบูรณาการศาสตร์ ด้านสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ กับวิทยาศาสตร์’ สืบเนื่องจากการค้นพบข้อมูลใหม่ในประเด็นดังกล่าว โดยล่าสุดได้รับการตีพิมพ์จากวารสารดังระดับโลกที่มีผลกระทบสูงมากทั้งทางวิชาการและสังคม หลังร่วมกับสถาบันดังของโลกในเยอรมนีร่วมกันศึกษาดีเอ็นเอโบราณของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในป่าเขตร้อนจนได้ข้อมูลใหม่มนุษย์โบราณในประเทศไทยอายุกว่า 1,700 ปี นับเป็นต้นแบบการศึกษาด้านมนุษย์โบราณและวัฒนธรรมโลงไม้สำหรับพื้นที่อื่นๆ ในอาเซียนและเอเชียตะวันออก (อ่านข่าว พบข้อมูลใหม่โลงผีแมน สืบดีเอ็นเอ 1,700 ปี ศ.ดร.รัศมี นำทีมแถลงใหญ่)
ในตอนหนึ่ง ศาสตราจารย์ ดร.รัศมี ชูทรงเดช ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีบนพื้นที่สูงและริเริ่มการขุดค้นแหล่งโบราณคดีใน จ.แม่ฮ่องสอน มากกว่า 20 ปี กล่าวว่า รัฐบาลควรเห็นความสำคัญของการให้ทุนวิจัยพื้นฐานทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งสามารถเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้เช่นกัน ดังเช่นกรณีของ สถาบันวิจัย Max Planck Institute for Evolutionary anthropology เยอรมนี ซึ่งใช้งานวิจัยระดับโลกสร้างชื่อเสียงให้ประเทศในด้านงานวิจัย
“กว่าเราจะทำมาได้ขนาดนี้ จะเห็นได้ว่าใช้เวลากว่า 20 ปี ที่ค่อยๆ สะสมความรู้ แสวงหาความรู้ ในตอนนี้เริ่มเกิดการใช้ประโยชน์แล้ว
สำหรับความรู้ตรงนี้อยากให้รัฐบาลสนับสนุนการวิจัยพื้นฐานทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และงานบูรณาการทางด้านนี้ เพราะบางครั้งการมองงานด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ท่านมองแค่แง่มุมของการใช้ประโยชน์ในเชิงนโยบาย เพื่อทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว
แต่ในขณะเดียวกันงานวิจัยสามารถเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้เช่นเดียวกัน อย่างสถาบันวิจัย Max Planck Institute for Evolutionary anthropology ประเทศเยอรมนี ใช้งานวิจัยระดับโลก เพื่อทำให้ประเทศของเขามีชื่อเสียงในด้านงานวิจัย เป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศในทางวิชาการ หากปรับเปลี่ยนวิธีคิดของเราเองว่า ถ้ามหาวิทยาลัยไหน หรือสถาบันใด สร้างความเป็นเลิศด้านศิลปะ ด้านวัฒนธรรม หรือความเป็นเลิศด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สิ่งเหล่านี้จะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้ในระยะยาว ไม่ใช่ช่วงเวลาสั้นๆ” ศาสตราจารย์ ดร.รัศมีกล่าว
ศาสตราจารย์ ดร.รัศมี กล่าวด้วยว่า การที่รองศาสตราจารย์ ดร.วิภู กุตะนันท์ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร พูดถึงประโยชน์ของงานดีเอ็นเอในแง่ของการใช้ประโยชน์ของทางด้านวิทยาศาสตร์และการรักษาโรค ในด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ก็คือ พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ซึ่งกำลังอยู่ในวาระของการที่จะบังคับใช้ ในสภามีการถกกันในประเด็นนี้แล้ว
“สำหรับข้อมูลทางด้านชาติพันธุ์ ถ้าเรามีการวิจัยมากขึ้นโดยทำด้วยความเคารพ ในการเก็บ ดีเอ็นเอ ปัจจุบันก็มีปัญหาทางจริยธรรม เราทำเพื่อทำให้เราเข้าใจความหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์ว่าเกิดขึ้นมาเมื่อไหร่ และทำให้เรามีข้อมูลที่อาจช่วยเกิดประวัติศาสตร์กระแสรอง ก็คือประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ในอนาคต
“ตอนนี้โบราณคดีชาติพันธุ์เริ่มเกิด ถ้ามีประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ เชื่อว่าประเทศไทยก็จะเป็นประเทศไทยที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย เพราะฉะนั้นคุณูปการ ในส่วนนี้ เราอาจจะเห็นว่า งานด้านนี้สามารถที่จะให้แง่มุม และฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย และสามารถที่จะนำร่องให้กับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนที่อาจจัดแยกพี่น้องชาติพันธุ์ว่าเป็นคนกลุ่มน้อย ถ้าเราอยากมีบ้านเมืองที่สันติสุขต้องมองอย่างเคารพกัน” ศาสตราจารย์ ดร.รัศมี กล่าว