แกะรอยเส้นทาง เศรษฐา ปลุกเศรษฐกิจทั่วไทย-ดึงลงทุนทั่วโลก
คำกล่าวของนายเศรษฐา ทวีสิน ตั้งแต่วันเข้าพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ประกาศว่า จะขอทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีอย่างไม่รู้จักคำว่าเหน็ดเหนื่อย
น่าสนใจตรวจสอบทบทวนว่า เป็นคำแถลงที่นำมาสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังหรือไม่
เมื่อย้อนกลับไปดู นับจากวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ถัดจากนั้นอีกสองวัน นายกฯเศรษฐา ได้เดินทางลงพื้นที่ภูมิภาคในทันทีสลับกับการเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อเปิดประตูการค้าและดึงการลงทุน การท่องเที่ยว
การเดินทางอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ น่าจับตามองว่า จะบรรลุเป้าหมายปลุกเศรษฐกิจ ดึงการลงทุน ฟื้นการท่องเที่ยว อย่างได้ผลหรือไม่
-
เริ่มจากภูเก็ตไปสู่พื้นที่ทั่วประเทศ
จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดแรก ในการลงพื้นที่เมื่อวันที่ 25 สค. 2566 เพราะเป็นจังหวัดที่สร้างมูลค่าเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวอย่างสูง เป็นการไปดูโครงสร้างโดยรวม ทั้งสนามบินความพร้อมผู้ประกอบการและสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว
จากจังหวัดภูเก็ต ลงไปที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เพื่อติดตามความคืบหน้าพื้นที่ก่อสร้างอาคาร CIQ ของกรมศุลกากร, ตรวจเยี่ยมจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก และตรวจเยี่ยมนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว ต่อด้วย 27 พย. 2566 จังหวัดสงขลา พื้นที่ด่านสะเดา และด่านบูกิตกายูฮิตัม ของมาเลเซีย ได้พบกับนายดาโต๊ะ ซรี อันวาร์ บิน อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย หารือทวิภาคีกลุ่มเล็ก และฟังรายงานความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย รวมถึงสถานการณ์การค้าและการท่องเที่ยวบริเวณชายแดน
จากนั้น ระหว่างวันที่ 27-30 พ.ย. นายกฯเดินทางไปตรวจราชการ และติดตามโครงการป้องกันอุทกภัย จ.สุโขทัย และร่วมพิธีเผาเทียน ชมการแสดง แสง เสียง ร่วมพิธีลอยพระประทีปพระราชทาน และชมการแสดงพลุ ตะไล ไฟพะเนียง ที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
ก่อนบินต่อไปยังจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นประธานการประชุมและหารือประเด็นแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และปล่อยขบวนคาราวานปฏิบัติการ และต่อเนื่องมายังจ. อุตรดิตถ์ เยี่ยมชมโครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก อำเภอเมือง จ.อุตรดิตถ์ ช่วงบ่ายเยี่ยมชมศูนย์จำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) อำเภอลับแล หลังพักค้างคืนที่เขื่อนสิริกิติ์ นายกรัฐมนตรีเดินทางต่อไปยังสนามบินนานาชาติ จ.ภูเก็ตเพื่อเป็นประธานเปิดศูนย์บริการด้านการท่องเที่ยว จ.ภูเก็ต
วันที่ 1 ธ.ค. นายกฯลงพื้นที่ ตำบลป่าตอง อำเภอกระทู้ จังหวัดภูเก็ต อีกครั้ง เพื่อ ติดตามการฝึกซ้อมแผนการบริหารจัดการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล วันที่ 6 ธ.ค. นายเศรษฐา เข้าร่วมประชุมสัมมนากับพรรคเพื่อไทย ที่เขาใหญ่อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา พร้อมกับดูความคืบหน้าโครงการก่อสร้างมอร์เตอร์เวย์ เช้าวันที่ 9 ธ.ค. นายกรัฐมนตรีเดินทางไป จ.กาญจนบุรี เพื่อดูเส้นทางมอเตอร์เวย์ ,ปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก และการสร้างอุโมงค์ผันน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง
ในพื้นที่ภาคอีสาน นายกฯไปตรวจราชการ จ.อุดรธานี และจ.หนองบัวลำภู พร้อมกับการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งแรกของรัฐบาลที่ จ.หนองบัวลำภู ระหว่างวันที่ 3-4 ธ.ค. ก่อนที่จะลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดน่าน ในวันเสาร์ที่ 23 ธ.ค.เพื่อติดตามประเด็นการเจรจาแก้หนี้นอกระบบในพื้นที่จังหวัดน่าน จากนั้นล่องใต้ วันที่ 26 ธ.ค.นายเศรษฐา เดินทางไปจังหวัดนราธิวาส เพื่อตรวจเยี่ยมและซับน้ำตาชาวบ้านจากเหตุอุทกภัย
หลังเทศกาลปีใหม่ นายกรัฐมนตรียังคงเดินสายลงพื้นที่ต่างจังหวัด และเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อเป้าหมายนำไทยกลับสู่เวทีโลก
วันอาทิตย์ที่ 7 ม.ค. 2567 นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกิจกรรม Kick off “30 บาทรักษาทุกที่” ที่จังหวัดร้อยเอ็ด จากนั้น ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 10 – 12 ม.ค. มีเป้าหมายการตรวจราชการโครงการสำคัญตามนโยบายรัฐบาล ได้แก่ การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง การพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ในภาพรวม การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) การส่งเสริมการท่องเที่ยวและการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวการส่งเสริมการอนุรักษ์งานประเพณีศิลปวัฒนธรรม
และระหว่างวันที่ 19-21 ม.ค.นายกฯกลับไปที่จังหวัดเชียงใหม่ อีกครั้ง นำบรรดานักธุรกิจชื่อดังของประเทศ 115 รายขณะลงพื้นที่จริงเยี่ยมชมโครงการพระราชดำริ ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งเสริม ต่อยอดและขยายผลผลิตภัณฑ์ช่วยเกษตรกร และต่อเนื่องในการประชุม ครม.สัญจร ที่จ.ระนอง ระหว่าง วันที่ 21-24 ม.ค. รวมทั้งการไปดูพื้นที่จริง ในการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์
วันที่ 9 ก.พ.นายกฯลงพื้นที่ จ.สระบุรี-ลพบุรี พบกับเกษตรกร ตรวจเยี่ยมการชลประทานจัดสรรน้ำให้เกษตรกร เยี่ยมชมงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ และระหว่างวันที่ 17-19 ก.พ.นี้ นายกฯ มีกำหนดลงพื้นที่ จังหวัดนครพนม-สกลนคร-อุดรธานี นอกจากนี้ ช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ระหว่างวันที่ 27-29 กพ. นายกฯจะลงพื้นที่ 3 จว.ชายแดนใต้เพื่อเร่งสร้างเศรษฐกิจ ยกระดับรายได้ประชาชนใน 3 จังหวัด
-
เดินสายทั่วโลกดึงการลงทุนการท่องเที่ยว
เส้นทางของนายกฯเศรษฐา ไม่แค่ในประเทศ ยังเดินทางไปประเทศต่างๆอย่างมากมาย หลายทวีป ตามภารกิจที่ประกาศไว้ นำไทยกลับคืนสู่เวทีโลกอย่างมีศักดิ์ศรี พร้อมประกาศตัวเป็น ‘เซลส์แมน’ ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนและการท่องเที่ยวจากต่างชาติ
โดยนายกรัฐมนตรี ‘เศรษฐา’ เดินทางอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญครั้งที่ 78 (78th Session of the United Nations General Assembly: UNGA78) เป็นเวทีโลกแห่งแรกที่ เศรษฐา ทวีสิน เปิดตัวในฐานะนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 30 และเป็นทริปแรกที่แสดงบทบาทในการดึงนักลงทุนต่างชาติเข้าประเทศไทย
นายกฯ เศรษฐา เดินทางออกจากไทยในช่วงเย็นวันที่ 18 ก.ย. 2566 ไปยังนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่18-24 ก.ย. ถือเป็นภารกิจนอกประเทศครั้งแรก นับแต่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ภารกิจสำคัญในครั้งนี้ คือการร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 78 หรือ ยูเอ็นจีเอ ซึ่งเขามีกำหนดขึ้นกล่าวถ้อยแถลงในกิจกรรมคู่ขนานระดับสูงของไทยและอาเซียน ในหัวข้อ “Fostering Partnership for Our Common Future: Enhancing Multi-Stakeholder Partnerships to Accelerate the SDGs in ASEAN
ถัดจากการไปประชุม UNGA ในช่วงเดือนก.ย. 2566 นายกฯไปเยือนประเทศกัมพูชาอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 ก.ย. ก่อนจะเดินสายไปแนะนำตัวยังประเทศในกลุ่มอาเซียน ในวันที่ 8-12 ต.ค. ทั้งการเยือนเขตปกครองพิเศษฮ่องกงต่อด้วยประเทศบรูไนดารุสซาลาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ ต่อด้วย 16-21 ต.ค. เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ โดยนำทัพนักธุรกิจไทยกว่า 50 ชีวิต เพื่อร่วมประชุม Belt and Road Forum for International Coperration-BRF ครั้งที่ 3 และเปิดการค้าการลงทุน ได้คิวพบกับผู้นำอย่าง “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงหารือทวิภาคีกับนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐประชาชนจีน และนายจ้าว เล่อจี้ประธานสภาประชาชนแห่งชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน และ “วลาดิมีร์ ปูติน” ประธานาธิบดีรัสเซีย เพื่อหารือเรื่องการเกษตร
ตาราง “เศรษฐา” อัดแน่นไปทั้งการเจรจาการทูต และการค้า มีการขายโปรเจ็กต์ “โครงการแลนด์บริดจ์” ที่คณะรัฐมนตรีเพิ่งรับทราบหลักการ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน มูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท สร้างท่าเรือน้ำลึกชุมพร เชื่อมท่าเรือน้ำลึกที่ระนอง รวมถึงมอเตอร์เวย์-รถไฟทางคู่ เพื่อเชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน
จบภารกิจจากจีน “เศรษฐา” เดินทางต่อไปยังประเทศซาอุดีอาระเบียทันทีเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (ASEAN-Gulf Cooperation Council Summit) ที่ประกอบด้วยบาห์เรน คูเวตโอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เข้าเฝ้าเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูดมกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียด้วย นอกจากนี้ นายกฯ จะพบปะภาคเอกชนซาอุดีอาระเบีย จำนวน 3 บริษัท ก่อนเข้าหารือทวิภาคี เพื่อเปิดเจรจาทางการค้า โดยเฉพาะอาหารจากประเทศไทย
วันที่ 29-30 ต.ค.2566 นายกรัฐมนตรีเดินทางไปเยือน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ต่อจากนั้นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 (2023 APEC Economic Leaders’ Meeting) และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 12 – 19 พ.ย.ที่นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา โดยเอเปคเป็นเวทีพิเศษที่ไทยมีบทบาทเท่าเทียมและใกล้ชิดกับเขตเศรษฐกิจทั่วภูมิภาคโดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจมหาอำนาจ เช่น สหรัฐฯ จีน และรัสเซีย และเป็นเวทีที่ไทย มีบทบาทโดดเด่นเป็นที่ยอมรับโดยเฉพาะความสำเร็จจากการเป็นเจ้าภาพเอเปคเมื่อปี 2565 ของไทยภายใต้หัวข้อหลัก “Open. Connect. Balance.” ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีถือเป็นการรวมตัวของผู้นำแบบพบหน้า ครั้งแรกในรอบ 4 ปี และบรรลุผลลัพธ์สำคัญโดยฉันทามติท่ามกลางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ท้าทาย
จากนั้นนายกฯ เข้าร่วมประชุมสุดยอด อาเซียน-ญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 14-18 ธ.ค.พร้อมได้เชิญชวน นักธุรกิจญี่ปุ่น-บริษัทเอกชนสำคัญระดับโลกของญี่ปุ่น ดึงลงทุนในไทย ซึ่งครั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้จัดโรดโชว์โครงการแลนด์บริดจ์ท่ามกลาง 40 ผู้บริหารจาก 30 บริษัทใหญ่ร่วมรับฟัง และอีกครั้งสำคัญ นายกฯเดินทางร่วมประชุม World Economic Forum ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส 15-19 ม.ค. 67 นับเป็นการเข้าร่วมระดับผู้นำของไทยในรอบ 12 ปี
ระหว่าง วันที่ 3 -4 ก.พ. นายเศรษฐา เดินทางเยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา อย่างเป็นทางการตามคำเชิญของนายรานิล วิกรมสิงเห (H.E. Mr. Ranil Wickremesinghe) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา
-
รับแขกเมือง-เปิดประตูประเทศ
เมื่อวันที่ 25 ม.ค. นายกฯเศรษฐา ได้ให้การต้อนรับและหารือเต็มคณะ ร่วมกับ นายฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์(H.E. Dr. Frank-Walter Steinmeier) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี นาย Michael Kellner รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) และคณะผู้แทนภาคเอกชนเยอรมนี เพื่อเดินหน้าสานความสัมพันธ์ ร่วมผลักดันเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด
และเมื่อวันที่ 7 ก.พ. ที่ผ่านมานายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้การต้อนรับกับสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชาและภริยา ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล ซึ่งนอกจากจะมีการหารืออย่างเป็นทางการกันแล้วยังมีการพูดคุยถึงการร่วมมือกันแก้ปัญหา pm 2.5
อีกทั้งภารกิจเยือนต่างประเทศที่กำลังจะมาถึงในช่วงต้นเดือนมี.ค.67 ในระหว่างวันที่ 4-14 มี.ค. นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเดินทางเข้าร่วมประชุม อาเซียน-ออสเตรเลีย เยือนฝรั่งเศส และเยอรมนี
นับว่าความสัมพันธ์ต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา เดินหน้าไปได้ด้วยดี เป็นไปดังคำประกาศ“ประเทศไทยเปิดแล้ว”
แต่แค่ขยันเดินสายไปทั่วไทยและทั่วโลกยังไม่พอ ต้องรอดูผลที่จะตามมา จากการผลักดันโครงการฟื้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวทั่วประเทศไทย รวมทั้งการดึงการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยว จากหลายประเทศทั่วโลก ที่นายกฯเดินทางอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
คาดหมายกันว่า ตั้งแต่กลางปีนี้เป็นต้นไป ผลจากการเดินทางอันมากมาย จะนำมาสู่ตัวเลขเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมหวังว่าจะไม่แค่เดินทางอย่างเหนื่อยเปล่า