นิสิตจุฬา ลั่น ทำข่าวไม่ใช่อาชญากร อ.นิติฯ ร่วม ‘ยืนหยุดขัง’ หวั่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมปชช. ถูกเท
เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ลานโลมา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดกิจกรรมใส่เสื้อดำ ร่วม #ยืนหยุดขัง เรียกร้องเสรีภาพในการรายงานข่าวของสื่อมวลชน โดยให้ตำรวจปล่อยตัวนักข่าวประชาไทและสื่ออิสระอื่นๆ ที่โดนจับตัวไปเมื่อวานนี้
สืบเนื่องกรณี ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานข่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุม นายณัฐพล เมฆโสภณ ผู้สื่อข่าวประชาไท ข้อหาเป็นผู้สนับสนุนให้มีการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน กับ พ.ร.บ.ความสะอาด จากการขีดเขียนข้อความที่บ้านพัก ตามหมายจับของศาลอาญา ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 โดยตำรวจจาก สน.พระราชวัง เข้าแสดงหมายจับพร้อมควบคุมตัว และยังมีนักข่าวอิสระถูกจับอีก 1 ราย บริเวณวัดสุทธิวราราม ก่อนนำตัวไป สน.พระราชวัง จนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในเรื่องของสิทธิและเสรีภาพในการนำเสนอข่าวของสื่อ
นอกจากนี้มีกรณี ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ทำร้ายสื่อมวลชนอิสระอย่างน้อย 2 ราย ได้แก่ ลุงดร เกตุเผือก และขุนแผน แสนสะท้าน เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ระหว่างรายงานข่าวการชุมนุมของกลุ่มทะลุวังบริเวณรถไฟฟ้าสถานีสยาม
บรรยากาศเวลา 12.30 น. นิสิตคณะนิเทศศาสตร์และนิสิตจุฬาฯ ตลอดจนคณาจารย์ ทยอยมารวมตัว อาทิ น.ส.อันนา อันนานนท์ กลุ่มนักเรียนเลว, น.ส.พลอยวรินทร์ ชิวารักษ์ น้องสาว นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน แกนนำราษฎร, มี ผศ.ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ, ดร.พัชร์ นิยมศิลป อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งสอนวิชากฎหมายการชุมนุมสาธารณะ มาร่วมด้วย
โดยนิสิตสวมใส่เสื้อสีดำ พร้อมใจกันยืนเรียงแถว ชูป้ายข้อความ อาทิ เสรีภาพสื่อ = เสรีภาพประชาชน, ทำข่าวควรอิสระ คืนนักข่าวให้ประชาชน “รัฐยุติธรรม” “อยากเป็นนักข่าว ไม่อยากเป็นข่าว” ไปจนถึงข้อความ Journalist is not Crime #saveสื่อมวลชน“ ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวัน เฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิด โดยมีการบันทึกภาพภายในมหาวิทยาลัย ทั้งในช่วงก่อนและระหว่างทำกิจกรรม
นายอภิสิทธิ์ ฉวานนท์ ผู้แทนนิสิตคณะกรรมการนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การจับกุมตัวผู้สื่อข่าวครั้งนี้เป็นเรื่องไม่เป็นธรรมในสังคมประชาธิปไตย หากเห็นด้วยสามารถเข้ามาร่วมยืนแสดงพลัง เขียนป้าย ผูกโบขาวไปกับพวกเราคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ได้
“เรามีกระดาษเปล่าและปากกา มาร่วมเขียนแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วย เราเห็นว่าการจับกุมตัวผู้สื่อข่าวประชาไท และผู้สื่อข่าวอิสระจำนวนหนึ่ง เป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศในระบอบประชาธิปไตย เราควรมีสิทธิมีเสรีภาพ ในการรู้ข่าวสารในบ้านเมือง ไม่ใช่ใครทำข่าวจะต้องถูกจับ”
“ขอขอบคุณผู้สื่อข่าวทุกสำนัก รวมถึงผู้สื่อข่าวอิสระ โดยเชื่อว่าสื่อที่อยู่ตรงนี้ทำหน้าที่ของผู้ร่วมอุดมการณ์ไปด้วยกัน เราเชื่อว่าการจับกุมผู้สื่อข่าวเป็นเรื่องไม่เป็นธรรม จึงอาสาเป็นแกนนำในการริเริ่มแสดงพลังในวันนี้ หวังว่านิสิตจุฬา ประชาชน ชนรวมถึงคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ อยู่ใกล้เคียงจะมาร่วมแสดงพลังกับเรา” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีการรณรงค์ลงชื่อคัดค้านไม่เห็นด้วย ของภาคนักวิชาการ และประชาชน พวกเราไม่ได้โดดเดี่ยว มีความเห็นจากทางภาควิชาการและภาคประชาชนด้วย อยากให้ทุกคนที่เชื่อเหมือนกันกับเรา มาแสดงพลังว่า เสรีภาพสื่อ คือเสรีภาพประชาชน
ก่อนผู้ชุมนุมร่วมเปล่งเสียง “เสรีภาพสื่อ คือเสรีภาพประชาชน”
นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า จุฬาฯ เป็นสถาบันการศึกษาของเรา เราเป็นคนจ่ายค่าเทอม สิ่งที่เราพูด คิด เชื่อ เป็นสิ่งที่ถูกต้องในสังคมประชาธิปไตย ตำรวจที่มากันวันนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องมาจับตาดูเรา เพราะในจุฬาฯ มีการประสานกับฝ่ายรักษาความปลอดภัย
“พี่ รปภ.ของจุฬามือหนึ่งอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องมีตำรวจมารักษาความปลอดภัย เพราะว่าม็อบนี้เราไม่เห็นด้วยกับการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
”ตำรวจถือเป็นคนนอก เรามี รปภ. มือหนึ่ง ไว้ใจป้าเบียบ มากกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ“ นายอภิสิทธิ์กล่าว ท่ามกลางตำรวจนอกเครื่องแบบร่วมบันทึกภาพ
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขอบคุณทุกคนที่กล้าเสี่ยง กล้ามาแสดงพลังกับพวกเรา หวังว่าทุกคนจะได้รับการปล่อยตัว
”แค่การทำข่าว ไม่ใช่เรื่องที่เป็นอาชญากร แค่ทำให้พวกเราได้รับรู้ข่าวสารที่ถูกต้อง เป็นเรื่องที่ทำได้ ในประเทศประชาธิปไตย”
นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า กิจกรรมในวันนี้เป็นการยืนหยุดขัง แสดงพลังว่าเราไม่เห็นด้วยกับการจับกุมตัวผู้สื่อข่าวในครั้งนี้
“มีผู้ต้องขังการเมืองที่ติดคุกอยู่ออกมายืนกับเราไม่ได้ จะช่วยซัพพอร์ตเขาและแสดงพลังให้คนที่อยู่ในเรือนจำ ได้รู้สึกว่าเขาไม่โดดเดี่ยว ไม่ควรมีใครถูกขังอย่างโดดเดี่ยวจากการแสดงออกทางการเมือง” นายอภิสิทธิ์ชี้
นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า เราเคยเชื่อว่ารัฐบาลที่มาจากเผด็จการเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องในระบอบประชาธิปไตย ตอนนี้ผลกระทบจากการใช้อำนาจเหล่านั้นในอดีตยังคงอยู่ คำสั่ง คสช. กฎหมาย ม.112 ที่ทำให้คนต้องติดคุกยังมีอยู่
“จากการออกมาพูดเรื่องวัคซีน เรื่องงบประมาณ หลายเรื่องเป็นเรื่องโปร่งใส ที่พึงกระทำตามสิทธิเสรีภาพของประชาชนคนไทย เพราะฉะนั้นไม่ควรมีใครต้องติดคุก หรือถูกจับจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
ทางเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนจึงเปิดเสนอเข้าชื่อร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชน เพื่อลบล้างความผิดให้กับผู้ชุมนุมทุกคน ตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 ผู้ที่สนใจหรือนิสิต สามารถร่วมลงชื่อได้ทาง www.amnestypeople.com พรุ่งนี้วันสุดท้าย
“เราจะยื่นให้กับหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค รวมถึงประธานสภา เพื่อเข้าสู่กลไกรัฐสภาด้วย
ขณะนี้มีผู้ร่วมลงชื่อ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน 20,000 รายชื่อแล้ว พรุ่งนี้จะปิดแคมเปญ แต่มีสิทธิถูกปัดตกได้ จึงจำเป็นต้องสื่อสารเรื่องนี้ออกไป ให้คนมาลงชื่อเยอะๆ เพราะการแสดงออกเป็นเรื่องพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย ไม่ควรมีใครต้องติดคุกจากการทำข่าว” นายอภิสิทธิ์กล่าว
โดยเมื่อจนถึงเวลา 12.41 น. เป็นเวลา 11.2 นาที
นายอภิสิทธิ์กล่าวทิ้งท้ายว่า เราอาจจะอยู่แสดงพลังได้แค่ 11 นาที 2 วินาที เพราะหลายคนมีเรียนต่ออาจารย์หลายท่านต้องไปสอนต่อ
“แต่ผมเชื่อว่าประเด็นนี้ของนักข่าวประชาไท และผู้สื่อข่าวอิสระ จับกุมตัวไป จะได้รับการพูดถึงความไม่เป็นธรรมจากการถูกจับกุมตัวไป เพียงแค่เพราะการทำข่าว เชื่อว่าวันนี้พี่ๆ สื่อมวลชนจะเอาเรื่องนี้ไปพูดต่อในที่ทำงานในสื่อของตัวเองในครอบครัวของตัวเองเพื่อให้ตระหนักรู้ว่า ในประเทศระบอบประชาธิปไตย เรามีรัฐบาลที่จับกุมผู้สื่อข่าว เพียงแค่เพราะการทำหน้าที่ตามหลักวิชาชีพ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยของเรา เราเชื่อว่าเสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน” นายอภิสิทธิ์กล่าว ก่อนยุติกิจกรรม