ศูนย์ทนายฯ ไขปมนิรโทษกรรม ถ้ารัฐจริงใจก็ง่ายนิดเดียว! แนะประกาศให้ประกันผู้ต้องขังทางการเมือง

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ลานประชาชน รัฐสภา เกียกกาย กรุงเทพฯ เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน 23 องค์กร จัดกิจกรรม ‘ส่งรักให้ถึงสภา ถามหาความยุติธรรม เพื่อนิรโทษกรรมประชาชน’ โดยจะมีการส่งมอบร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน พร้อมรายชื่อสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว ให้กับประธานรัฐสภาและหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค หลังร่วมรณรงค์เป็นเวลา 14 วัน

เมื่อเวลาประมาณ 16.15 น. มีการเสวนาหัวข้อปัญหาและผลกระทบจากการดำเนินคดีการเมือง โดย รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายพิฆเนศ ประวัง ทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รวมถึงมารดาของ นายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง หรือ เก็ท กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ผู้ต้องหา ม.112

ในตอนหนึ่ง นายพิฆเนศ  กล่าวว่า วันนี้ตนขึ้นเวทีแทน น.ส.คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ หัวหน้าฝ่ายคดีศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งติดภารกิจในการเป็นทนายความยื่นประกันตัวนางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน, นายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือแฟรงค์  และนายนภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ หรือ สายน้ำ

นายพิฆเนศ  กล่าวว่า คดีความผู้ต้องหาทางการเมือง นับตั้งแต่วันที่ศูนย์ทนายฯ ก่อตั้ง คดีที่ยังคงเหลืออยู่เกี่ยวกับ พรก.ฉุกเฉิน และคดีมาตรา 112 รวมกว่า 1,000 คดี โดยอัตรากำลังศูนย์ทนายฯ มีเพียงแค่ 8-9 คน และทนายอาสา 30-40 คน ที่กำลังช่วยดำเนินการอยู่ในขณะนี้

ADVERTISMENT

“สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับกระบวนการยุติธรรม นี่คือสิ่งผมต้องได้มานั่งอยู่ตรงนี้ แทน น.ส.คุ้มเกล้า ทนายไม่สามารถปลีกตัวมาได้จริงๆ เพราะมีการทำงานเพื่อให้ประชาชนถูกประกันตัวออกมาได้รับอิสรภาพ”นายพิฆเนศ กล่าว

ADVERTISMENT

นายพิฆเนศ  กล่าวว่า ในช่วงเวลาอันสั้น หากรัฐหรือผู้มีอำนาจ อยากแสดงความจริงใจว่าต้องการนิรโทษกรรมประชาชน อยากจะให้ทุกคน ทุกฝ่ายได้หลุดพ้นออกไปจากโทษทางการเมือง ที่เราแบกรับกันอยู่ในขณะนี้ ง่ายนิดเดียว คือ ให้ประกาศว่าจะมีการให้ประกันตัวผู้ต้องขังคดีทางการเมืองที่ยังอยู่ข้างในเรือนจำ แล้วมาพูดคุยกัน เดินหน้าไปด้วยกัน

“ยกตัวอย่างคดีหนึ่ง ที่มีคนมาอดอาหารหน้าศาลอาญา กรุงเทพฯ เจ้าตัวเป็นคนจังหวัดเชียงราย ระหว่างอดอาหารเพียงเรียกร้องสิทธิการประกันตัว เขาถูกแสดงหมายจับ และส่งกลับไปยังจังหวัดเชียงราย ศาลชั้นต้นตัดสินพิพากษาว่าเขามีความผิด 14 กรรม จาก 27 กรรม ที่ถูกฟ้อง ต่อมาศาลอุทธรณ์ตัดสินว่าเขามีความผิดเพิ่มอีก 11 กรรม รวมแล้วเขาต้องรับโทษ 50 ปี มีทั้งการโพสต์เฟซบุ๊ก การแชร์ข่าวสารต่างๆ

ผมคิดว่ากระบวนการยุติธรรมควรกลับไปหาหลักเรื่องสิทธิประกันตัว การสันนิษฐานว่าเขาบริสุทธิ์อยู่ จนกว่าจะถึงศาลฎีกา หรือสูงสุด หรือคดีของเขาถึงที่สุด ตัดสินว่าเขาผิด” นายพิฆเนศ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image