พัชรวาท ตอบกระทู้แรก ส.ส.ปชป.ลุกบี้รบ. เร่งแก้ปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งปากพนัง

‘พัชรวาท’ ตอบกระทู้ครั้งแรก แก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งปากพนัง ของ ส.ส.ปชป.

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ เวลา 10.45 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาคนที่สอง เป็นประธานการประชุม เข้าสู่วาระกระทู้ถามสดด้วยวาจา ของนายพิทักษ์เดช เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ถาม รมว.ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนกรณีการกัดเซาะชายฝั่ง ว่าเนื่องจากการเกิดมรสุมทุกปีปรากกฏว่าตลอดแนวชายฝั่งของ อ.ปากพนัง และ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นจนได้รับความเดือดร้อนเสียหายทั้งทรัพย์สิน และบ้านเรือน แต่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขดูแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเป็นปัญหาที่ซ้ำซากถึง 8 ปีแล้ว

“เมื่อคืนผมนอนไม่หลับว่ารัฐมนตรีจะมาตอบกระทู้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาท่านมาบ้างไม่มาบ้าง และวันนี้ รมว.ทรัพยากรฯ มาตอบกระทู้ของผมก็รู้สึกยินดี ปลื้มปิติ กับชาวบ้านของลุ่มน้ำปากพนัง ดังนั้นอยากถามว่ากระทรวงทรัพย์ฯ จะแก้ปัญหานี้อย่างไรให้เป็นรูปธรรมชัดเจน รวดเร็วอย่างไร และขอให้ทบทวนการทำอีไอเอในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบซ้ำซาก” นายพิทักษ์เดชกล่าว

ด้าน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.ทรัพยากรฯ ได้มาตอบกระทู้สดด้วยตัวเอง เป็นครั้งแรกว่า การแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง อ.ปากพนัง อ.หัวไทรนั้น กรมโยธาธิการและผังเมือง มีโครงการสร้างเขื่อนหินใหญ่เรียง เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน แต่เนื่องจากต้องมีการทบทวนโครงการ เพราะมีความกังวลเรื่องผลกระทบต่อเนื่อง จากการดำเนินโครงการ และอาจจะกระทบไปถึงบริเวณปลายแหลมตะลุมพุกได้ แต่ชาวบ้านอยากได้เขื่อนกันคลื่นที่มีความแข็งแรง คงทน ถาวร แต่ปัจจุบันกรมทรัพยากรธรรมชาติทางชายฝั่งได้แก้ไขโดยการปักรั้วไม้ชะลอคลื่น ซึ่งเป็นโครงการไม่ถาวรและอยู่ได้ไม่นาน ชาวบ้านไม่ค่อยเห็นด้วย ประกอบประกาศกระทรวงฯกำหนดว่าการสร้างเขื่อนกั้นคลื่นทุกขนาดต้องทำอีไอเอ จึงทำให้การแก้ปัญหาล่าช้า

Advertisement

“ยืนยันว่ากระทรวงให้ความสำคัญกับประชาชนในพื้นที่คลื่นกัดเซาะ ชายฝั่ง ซึ่งได้ดำเนินการแก้ปัญหาลดความเดือนร้อนแล้ว ส่วน อ.ปากพนัง มีชายฝั่งที่สมบูรณ์และสวยงาม การแก้ปัญหาต้องไม่ให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่ข้างเคียง ทางกระทรวงจึงมอบหมายให้นักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้คณะอนุกรรมการบูรณาการด้านการจัดการการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ไปดำเนินการศึกษารูปแบบที่เหมาะสมให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันหรือประมาณปลายเดือนมีนาคม ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวทางกระทรวงพยายามเลือกรูปแบบที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่” พล.ต.อ.พัชรวาทกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image