มท.สั่งทุกจังหวัด ดึงพลังอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก7.3 ล้านคน ปูพรมแก้ปัญหาฝุ่น-หมอกควัน

ปลัด มท. สั่งการทุกจังหวัด ดึงพลังการมีส่วนร่วม “อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก” 7.3 ล้านคนทั่วประเทศ ดำเนินทุกมาตรการแก้ปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง เน้นย้ำ ปัญหาฝุ่นละอองจะแก้ได้ด้วยพลังการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงการแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 โดยเฉพาะพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่จะมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงต้นปีและช่วงปลายปีของทุกๆ ปี ซึ่งปัญหาดังกล่าวมีแหล่งกำเนิดจากกิจกรรมในพื้นที่ ได้แก่ ไฟป่า การเผาในพื้นที่เกษตร หมอกควันข้ามแดน การจราจรและขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม ประกอบกับสภาพอากาศในช่วงต้นปีที่ความกดอากาศสูงแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทย ทำให้อากาศปิด ลมสงบ ฝุ่นละอองไม่ฟุ้งกระจาย ส่งผลให้มีปริมาณฝุ่นละอองในอากาศสะสมในพื้นที่เป็นจำนวนมากจนเกินมาตรฐาน

“เมื่อประเมินสถานการณ์ฝุ่นละอองในปี 2567 คาดการณ์ว่า สถานการณ์เอลนีโญจะมีกำลังแรงขึ้นในช่วงฤดูร้อน ปี 2567 โดยอุณหภูมิเฉลี่ยมีแนวโน้มจะสูงกว่าค่าปกติ ทำให้มีอากาศร้อนและแล้งมากขึ้น ประกอบกับปริมาณฝนโดยรวมของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 10 ซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ในปี 2567 จะมีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง โดยการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน โดยคำนึงถึงบริบทของพื้นที่ รวมถึงให้มีการยกระดับการดำเนินงานให้เข้มข้น เพื่อบูรณาการ ติดตาม เฝ้าระวัง และแจ้งเตือนสถานการณ์ และบริหารจัดการในพื้นที่ให้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566” นายสุทธิพงษ์กล่าว

นายสุทธิพงษ์กล่าวต่อว่า สำหรับในช่วงนี้หลายพื้นที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ กรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล โดยหลายพื้นที่ยังเกิดสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้มีข้อสั่งการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในมิติเชิงพื้นที่ และเชื่อมโยงกับแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” โดยจัดให้มีการเฝ้าระวังและติดตามข้อมูลสภาพอากาศ และจุดความร้อน (Hotspot) โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม อาทิ ภาพถ่ายดาวเทียม แอพพลิเคชั่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการอำนวยการ การสั่งการแก้ไขปัญหาของผู้อำนวยการในแต่ละระดับรวมถึงสื่อสารข้อมูลแจ้งเตือนแก่ประชาชน พร้อมทั้งวางกลไกแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยทบทวนและปรับแผนเผชิญเหตุให้เป็นปัจจุบัน โดยให้ความสำคัญกับการจัดทำข้อมูลพื้นที่เสี่ยง ทั้งพื้นที่ป่า พื้นที่การเกษตร พื้นที่ชุมชนและริมทาง ข้อมูลประชากรกลุ่มเสี่ยง ข้อมูลทรัพยากร เครื่องจักรกลสาธารณภัยและแนวทางการปฏิบัติในแต่ละระดับที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ รวมถึงแบ่งพื้นที่และมอบหมายภารกิจให้หน่วยงาน ตั้งแต่ระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้านอย่างชัดเจน

Advertisement

นายสุทธิพงษ์กล่าวต่ออีกว่า อีกทั้งซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุแบบบูรณาการอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) บังคับใช้มาตรการทางกฎหมายในการป้องกันมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด โดยเฉพาะการคมนาคมขนส่ง การก่อสร้าง ภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน รวมถึงรณรงค์งดการเผาในพื้นที่การเกษตร พร้อมสนับสนุนการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกโดยใช้การไถกลบ การใช้จุลินทรีย์ย่อยสลาย หรือแปรรูปเศษวัสดุทางการเกษตร อาทิ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล

“สำหรับกรณีการเผาในพื้นที่การเกษตร ในขณะนี้ทางอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่ รวมถึงใช้กลไกอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) ที่มีอยู่กว่า 7.3 ล้านคนทั่วประเทศ ร่วมรณรงค์ลดการเผาพื้นที่แปลงเกษตร ภายหลังทำการเกษตรโดยให้ใช้การไถกลบแทน สำหรับช่วงที่เกิดวิกฤตหมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ได้มีอาสาสมัคร และประชาชนจิตอาสาพร้อมอุปกรณ์และเครื่องจักรกลสาธารณภัยปฏิบัติการดับไฟป่า และเฝ้าระวังการลักลอบเผาป่า รวมถึงประสานดับไฟป่าด้วยอากาศยานในพื้นที่เข้าถึงยาก อีกทั้งยกระดับการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพอนามัย ให้หน่วยงานสาธารณสุขดูแลประชาชนกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบางที่ปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ พร้อมให้ข้อมูลการดูแลสุขภาพอย่างถูกวิธี รวมถึงให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดพื้นที่และระบบบริการประชาชนในพื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone) หรือห้องปลอดฝุ่น ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมทั้งสร้างการรับรู้และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยให้ข้อมูลสถานการณ์และผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ข้อกฎหมาย และมาตรการของภาครัฐ เพื่อให้จิตอาสาและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และปรับตัวรับมือสถานการณ์ภัยได้ถูกวิธี” นายสุทธิพงษ์กล่าว

นายสุทธิพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้บูรณาการแก้ไขปัญหาเชิงรุก โดยให้คณะทำงานติดตามสถานการณ์ตรวจสอบข้อมูลจุดความร้อน ข้อมูลคุณภาพอากาศ และประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง กรณีฝุ่นละอองส่งผลกระทบต่อสุขภาพให้ประสานศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฉีดพ่นน้ำเพิ่มความชื้นและลดปริมาณฝุ่นละออง กรณีเกิดไฟป่าในพื้นที่เข้าถึงยากสามารถประสานกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์บรรเทาสาธารณภัย KA-32 ปฏิบัติการทิ้งน้ำดับไฟ เพื่อควบคุมไฟป่าและคลี่คลายสถานการณ์ฝุ่นละออง นอกจากนี้ ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนช่วยกันงดการเผาขยะและเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อช่วยการลดต้นตอการเกิดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ไม่ใช่เฉพาะช่วงที่ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน แต่ขอให้ช่วยกันตลอดทั้งปี ซึ่งจะเกิดประโยชน์แก่สังคมโดยรวม และสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่ รวมถึงหากพบเห็นเพลิงไหม้ ในพื้นที่ป่ารกร้าง พื้นที่ป่าไม้ สามารถแจ้งเหตุทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานระงับเหตุโดยด่วน

Advertisement

“ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จะสามารถแก้ไขได้ ทุกคน ทุกฝ่าย ต้องร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจกัน ทำทุกวิถีทาง เริ่มต้นที่ ‘ตัวเรา’ ขยายผลไปยัง ‘ครอบครัวของเรา’ ไปสู่ ‘หมู่บ้าน/ตำบล/อำเภอ/จังหวัดของเรา’ เมื่อทุกจังหวัดร่วมกันแก้ไข ประเทศไทยก็จะได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยสิ่งสำคัญ คือ การใช้ชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคนที่จะต้องคำนึงถึง ‘ผลที่จะเกิดขึ้น’ ทั้งต่อตัวเองและสังคมโดยรวม และจะทำคนเดียวไม่ได้ ต้องทำด้วยกัน ทำไปพร้อมกัน ร่วมแรงแข็งขัน ช่วยกันหยุดพฤติกรรมหรือการกระทำที่จะส่งผลให้ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ทวีความรุนแรงขึ้น นำทุกมาตรการที่ภาครัฐได้ระดมสรรพกำลังทุกภาคส่วนจัดทำขึ้นไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง ไม่ใช่ให้เป็นเพียงแผนที่อยู่ในกระดาษ และหากเราสามารถทำให้มาตรการเหล่านี้ถูกนำมาใช้จริง เราก็จะได้สูดอากาศบริสุทธิ์ ได้เห็นท้องฟ้าที่สดใส ลูกหลานของเราก็จะได้อยู่อาศัยบนโลกใบเดียวนี้อย่างยั่งยืนสืบไป” นายสุทธิพงษ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image