‘พิพัฒน์’ เปิดโรดแมป ผนึก4กระทรวง‘ผลิตกำลังคน’ ขับเคลื่อนศก.ไทย

‘พิพัฒน์’ เปิดโรดแมป ผนึก4กระทรวง‘ผลิตกำลังคน’ ขับเคลื่อนศก.ไทย

‘พิพัฒน์’ เปิดโรดแมป
ผนึก4กระทรวง‘ผลิตกำลังคน’
ขับเคลื่อนศก.ไทย

หมายเหตุ – นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงความคืบหน้าการดำเนินงานของ “4 กระทรวงทางสังคม และ 1 สถาบัน” ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงแรงงาน และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ภายหลังลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) “การสร้างทรัพยากรมนุษย์ของชาติ ปลูกจิตสำนึกรักชาติ ภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติไทย และยึดมั่นสถาบันสำคัญของชาติ” เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา


การลงนามเอ็มโอยูครั้งนั้น นำโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ได้ประกาศภารกิจของ 4 กระทรวง ที่มีเป้าหมายเดียวกันคือ “การพัฒนาคน พัฒนาชาติ” ผ่านการบูรณาการกำกับดูแลร่วมกัน พร้อมดำเนินนโยบายสอดประสานและส่งเสริมซึ่งกันและกัน เริ่มจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่มีหน้าที่ในการพัฒนาประชากรตั้งแต่วัยแรกเริ่ม ปลูกฝังค่านิยมที่ดี และสร้างวิวัฒนาการที่ทันสมัย ส่งไปยังกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ถือเป็นมันสมองของประเทศ เน้นพัฒนาองค์ความรู้ ส่งเสริมศักยภาพของคน ศักยภาพทางการศึกษา เทคโนโลยีและนวัตกรรมในระดับอุดมศึกษา จากนั้นส่งไม้ต่อให้กระทรวงแรงงาน (รง.) รับหน้าที่สร้างโอกาสการทำงาน โดยมีสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ช่วยออกใบประกอบคุณวุฒิวิชาชีพ ให้การรับรองความสามารถเฉพาะทาง เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงานของประชาชนตามความสามารถ ส่วนกระทรวงมหาดไทย (มท.) มีภารกิจต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนและประเทศชาติ ตามแนวทาง “ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที” เพื่อพัฒนาคนให้มีคุณภาพครบวงจร โดยเน้นย้ำในการพิจารณาคัดเลือกข้าราชการ เพื่อที่จะได้ข้าราชการที่เป็นแบบอย่างที่ดี มาสืบทอดจิตสำนึกในการรักชาติ ปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม

2 กระทรวงต้นน้ำโดย น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการ อว. ได้ชูนโยบาย “การพัฒนาระบบคลังหน่วยกิต” ของสถาบันอุดมศึกษา ให้มีระบบในการเทียบหน่วยกิตโดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียน ทั้งนักเรียน วัยทำงาน และผู้สูงอายุ เข้ามาเรียนรู้และเก็บสะสมหน่วยการเรียนรู้ไว้ได้ตลอดชีวิตตามความต้องการ และความสนใจในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมกับเงื่อนไขของแต่ละบุคคล ได้ทุกที่ ทุกเวลา ขณะที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. มีนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” พร้อมเน้นย้ำในตอนนี้คือ ปลูกฝังให้เด็กมีความรักชาติ สามัคคี ความจงรักภักดีต่อสถาบัน ดังนั้น ความร่วมมือ 4 กระทรวง จะช่วยเพิ่มความเข้มข้นในหลักสูตรประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง เพื่อทำให้เยาวชนเติบโตเป็นคนดีในอนาคต และปัจจุบันการสอนประวัติศาสตร์ไม่ใช่ท่องจำอย่างเดียว แต่เป็นการฝึกให้เด็กคิดวิเคราะห์ควบคู่กันไปด้วย ที่สำคัญครูต้องมีทักษะในการสอนที่สนุกจะดึงดูดให้เด็กเกิดความสนใจในวิชานี้มากขึ้น

Advertisement

ล่าสุด ความร่วมมือจาก 4 กระทรวง มีความคืบหน้า ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานเป็น 1 ใน 4 กระทรวงทางสังคม ที่มีเป้าหมายสำคัญคือ การปลูกพื้นฐานให้แก่เด็กและเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ที่เริ่มมีการวางแผนการศึกษาในการเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายว่า จะเลือกเรียนในรูปแบบใด ไม่ว่าจะเป็นสายวิชาชีพ อย่างประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หลักสูตรการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือสายอาชีวศึกษา หรือการเลือกเรียนในสายสามัญ ที่ต้องเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 4, 5 และ 6 จากนั้น ก็จะไปเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาที่เป็นการเรียนในมหาวิทยาลัย แต่ทั้งหมดก็จะมาบรรจบกันที่วุฒิปริญาตรี หรือเทียบเท่า จึงเป็นที่มาของการหารือร่วมกัน 4 กระทรวง เพื่อให้แต่ละกระทรวงที่มีบทบาทดูแลเด็กแต่ละช่วงวัย ได้ร่วมกันวางแผนงานการทำงาน

กระทรวงแรงงาน ถือเป็นกระทรวงปลายน้ำที่ผลิตแรงงานป้อนสู่ภาคธุรกิจ โดยเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ได้ลงนามความร่วมมือกับกระทรวง อว. ว่าด้วยการศึกษา การพัฒนาฝีมือแรงงาน เทียบโอน และสะสมหน่วยกิตในระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) ซึ่งได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) 9 แห่ง และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เพื่อการดูแลนักเรียนที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น หรือจบระดับ ปวช. แล้วออกไปทำงานหาเลี้ยงชีพ จนมีความสามารถในงานนั้นๆ อย่างเชี่ยวชาญ

ธนาคารหน่วยกิตได้เปิดโอกาสให้นักเรียนกลุ่มนี้ นำทักษะที่ได้จากการทำงานมาสอบเทียบระดับความสามารถกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อเก็บหน่วยกิต โดยเมื่อต้องการศึกษาต่อระดับชั้นปริญญาตรีใน มทร. และ ม.เกษตรฯ ก็ไม่จำเป็นต้องไปเรียนในวิชาที่มีความเชี่ยวชาญ และได้รับการสอบเทียบแล้ว ซึ่งจะช่วยทำให้ลดเวลาการเรียนและลดค่าใช้จ่ายลงทะเบียนเรียนด้วย โดยปัจจุบันมีสาขาที่น่าสนใจ เช่น ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างเขียนแบบเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ CAD เป็นต้น

Advertisement

เบื้องต้นมีการตกลงกันว่า ธนาคารหน่วยกิตจะเก็บได้ 30 หน่วยกิต ก็จะช่วยเซฟ (ประหยัด) เงินค่าหน่วยกิตได้ประมาณ 40,000 บาท และเซฟเวลาการเรียนได้ประมาณ 1 ปีครึ่ง ส่วนเป้าหมายการเก็บหน่วยกิตของปี 2567 เราไม่ได้กำหนดไว้เป็นตัวเลข เพราะปัจจัยนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ที่อยากสอบเทียบ แต่หน้าที่ของกระทรวงแรงงานและกระทรวง อว. คือการประชาสัมพันธ์ โฆษณาให้โครงการนี้แพร่หลายในวงกว้าง โดยทางกระทรวง อว.ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นธนาคารหน่วยกิตไว้รองรับโครงการแล้ว

ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานได้เริ่มหารือกับกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ที่มีหน้าที่ในการเข้าไปค้นหาผู้ว่างงานในพื้นที่ ผ่านการทำงานในระดับผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำชุมชน ผู้ซึ่งมีข้อมูลของผู้ว่างงานในชุมชนอยู่แล้ว จากนั้นก็จะรายงานข้อมูลไปยังกระทรวงแรงงาน เพื่อให้ 5 เสือแรงงาน ได้แก่ สำนักงานแรงงานจังหวัด สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด และสำนักงานประกันสังคมจังหวัด ลงพื้นที่เข้าไปสำรวจความต้องการทำงานของประชาชนเป็นรายบุคคล เพื่อให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่มีหลักสูตรการพัฒนาอาชีพถึง 279 สาขา และยังมีหลักสูตรการอัพสกิลและรีสกิล (Up and Re-Skill) ให้ผู้ใช้แรงงานอีกกว่า 1,000 หลักสูตร เข้ามาพัฒนาทักษะการทำงานและการเสริมสร้างอาชีพให้แก่ผู้ว่างงาน เพื่อเป้าหมายคือ “ให้มีงานทำ” ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นการเสริมทักษะการทำงานที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่นั้นๆ ด้วย เพื่อให้แรงงานมีงานทำในพื้นที่ ไม่ต้องเดินทางออกไปใช้ชีวิตในต่างจังหวัด ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มาก

“อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการว่างงานที่สะท้อนข้อเท็จจริงได้ดีที่สุด ควรจะต้องมาจากกระทรวงมหาดไทย ไม่ใช่สำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่ประเมินตัวเลขแนวโน้มการว่างงานรายปี เพราะผมเชื่อว่าตัวเลขที่ออกมาจากกระทรวงมหาดไทย โดยการสำรวจของผู้ใหญ่บ้าน คนในพื้นที่ จะเป็นตัวเลขที่สะท้อนสถานการณ์การว่างงานได้ดีที่สุด”

ทั้งนี้ กรณีที่ผู้ว่างงานต้องการสร้างอาชีพอิสระ แต่ยังขาดเงินทุนประกอบอาชีพ ทางกระทรวงแรงงานก็มีกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน ตามที่ได้ประกาศมอบเป็นของขวัญปีใหม่คนไทย 2567 โดยการกู้เงินจะมีบริการดอกเบี้ย 0% จำนวน 24 เดือน โดยมีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้หรือค่าธรรมเนียม ร้อยละ 0 ต่อปี ในงวดที่ 1-24 โดยไม่ปลอดเงินต้น และงวดที่ 25 เป็นต้นไป จนสิ้นสุดสัญญา คิดอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ผู้รับงานไปทำที่บ้านรายบุคคลยื่นคำขอกู้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อคน รายกลุ่มบุคคลกู้ไม่เกิน 300,000 บาทต่อกลุ่ม

ความร่วมมือของ 4 กระทรวงดังกล่าวนี้ ยังสามารถต่อยอดถึงนโยบายของกระทรวงแรงงาน “ทักษะดี มีงานทำ หลักประกันทางสังคมเด่น เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” ด้วย โดยตั้งแต่ที่ได้เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่ากระทรวงแรงงาน ได้ประกาศนโยบายไว้ชัดเจน เพื่อเป็นเข็มทิศในการทำงานของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงแรงงาน โดยสิ่งสำคัญคือ “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” เพราะแรงงานทั่วโลกต่างเป็นฟันเฟืองสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจในทุกประเทศ โดยเฉพาะนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของประเทศ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทย 40 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 3.5 ล้านล้านบาท แต่กลับพบว่าประเทศไทยยังขาดแรงงานในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีกจำนวนมาก กระทรวงแรงงานจึงต้องเร่งมือเพิ่มการพัฒนาทักษะแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการที่ตั้งเป้าไว้ 100,000 คน ในปี 2567 เพื่อรองรับกับนโยบายของรัฐบาล เช่น พัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี, พัฒนาทักษะด้านธุรกิจโรงแรม นวดไทย นวดสปา, การบริการอาหารและเครื่องดื่ม, มัคคุเทศก์ พนักงานขับรถนำเที่ยว หรือแคดดี้มืออาชีพ เป็นต้น

ขณะที่ประเทศไทยก็มีการนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อไม่ให้เงินรั่วไหลออกไปนอกประเทศ จึงจำเป็นต้องสร้าง “ดุลแรงงาน” เมื่อมีการจ้างแรงงานเข้าประเทศมากเท่าไร ก็ต้องมีการส่งออกแรงงานไปนอกประเทศมากเท่านั้น โดยเป้าหมายการส่งออกแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศในปี 2567 อยู่ที่ 100,000 คน และคาดว่าจะสามารถนำรายได้ส่งกลับประเทศประมาณ 60,000 ล้านบาทต่อปี

“ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะออกไปสร้างตลาดแรงงานไทยในประเทศใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากเดิมที่เรามีความร่วมมือกันอยู่แล้ว เป้าหมายในปี 2567 คือการเปิดตลาดแรงงานในประเทศแถบตะวันออกกลาง กลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ Gulf Cooperation Council หรือกลุ่มประเทศ GCC เช่น ซาอุดีอาระเบีย โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) กาตาร์ เป็นต้น โดยจะเน้นในเรื่องของการเจรจาให้ได้มาซึ่งค่าตอบแทนแรงงานที่สูงขึ้นสำหรับแรงงานที่มีฝีมือ เพราะปัจจุบันแรงงานที่ไปทำงานในกลุ่มประเทศ GCC ได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ยเพียงเดือนละ 13,000-15,000 บาท ดังนั้น หากรายได้เพิ่มสูงขึ้นได้ถึงเดือนละ 30,000-35,000 บาท จะก็สร้างแรงจูงใจให้กับแรงงานที่อยากไปทำงานในต่างประเทศได้ เชื่อว่าหลังกลางปีไปแล้ว ไทยจะได้ส่งแรงงานไปทำงานในกลุ่มประเทศ GCC มากขึ้น”

นอกจากนั้น ตั้งเป้าหมายในปี 2567 ประเทศไทยจะต้องเป็นหนึ่งในประเทศที่สามารถส่งแรงงานไปทำงานในประเทศออสเตรเลียได้ โดยปัจจุบันไทยยังไม่มีความร่วมมือกับประเทศออสเตรเลียในเรื่องนี้ เนื่องจากข้อกำหนดของประเทศปลายทาง อนุญาตนำเข้าแรงงานต่างชาติเฉพาะที่มาจากประเทศหมู่เกาะเท่านั้น เช่น หมู่เกาะรอบประเทศออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ติมอร์เลสเต เป็นต้น ซึ่งเดินทางไปเจรจาในสัปดาห์นี้

“จากนั้นในเดือนมีนาคม จะนำคณะเดินทางไปประเทศเกาหลีใต้ เพื่อเจรจาด้านแรงงาน และร่วมกันแก้ไขปัญหาแรงงานไทยผิดกฎหมาย หรือผีน้อย ในประเทศเกาหลีใต้ด้วย

จะเห็นได้ว่า เราต้องการแรงงานจำนวนมาก ซึ่งต้องย้ำว่าจะต้องเป็นแรงงานฝีมือ มีทักษะในด้านนั้นๆ เป็นอย่างดี”

ดังนั้น การเสริมสร้างทักษะแรงงาน จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก หากได้รับความร่วมมือจาก 4 กระทรวง ผนึกกำลังในการสร้างแรงงานที่ตลาดต้องการเข้าสู่ระบบได้มาก ก็จะช่วยส่งเสริมทั้งด้านกำลังคนและด้านเศรษฐกิจของประเทศได้

จิราพร จันทร์เรือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image