กัมพูชา แจงยูเอ็น กรณีวันเฉลิม ก่อนฮุนเซนมาไทย อ้างไม่พบจนท.เอี่ยว จึงไม่ใช่กรณีอุ้มหาย

เปิดคำชี้แจงกัมพูชา หลังยูเอ็นบี้ถาม กรณีวันเฉลิม อ้างไม่พบจนท.เอี่ยว จึงไม่ใช่กรณีอุ้มหาย

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เผยแพร่ข่าวพิจารณาทบทวนสถานการณ์การบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศกัมพูชาของคณะกรรมการว่าด้วยการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (CED) องค์การสหประชาชาติ ที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา 2 วันก่อนที่ สมเด็จฯฮุน เซน ประธานองคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา จะเดินทางมาประเทศไทย เพื่อเข้าเยี่ยมนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า

ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุม คณะกรรมการฯได้ตั้งคำถามต่อประเทศกัมพูชาถึงกรณีการบังคับสูญหาย นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และการบังคับให้สูญหายอีก 3 ราย และขอให้ประเทศกัมพูชารายงานถึงความคืบหน้าของทั้ง 4 คดี

โดยตัวแทนประเทศกัมพูชาได้ตอบคำถาม โดยแจ้งว่า กรณีดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินการสอบสวนของผู้พิพากษาไต่สวน (Investigating judge) และเป็นความลับ อย่างไรก็ตาม ประเทศกัมพูชายืนยันว่า กรณีวันเฉลิมไม่เป็นกรณีการบังคับสูญหายตามอนุสัญญาฯ เนื่องจากไม่พบว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐกัมพูชาเกี่ยวข้อง

Advertisement

“ในส่วนของกรณีนายเขม โสภา (ผู้แปล-คดีเยาวชนหายไประหว่างการชุมนุม) และวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์นั้น คดีอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนและเป็นความลับ จึงสามารถบอกได้เพียงว่า ทั้ง 2 คดีนี้อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน ขณะนี้สำนวนคดีอยู่กับศาลและผู้พิพากษาไต่สวนกำลังทำการสอบสวนเพื่อค้นหาบุคคลเหล่านี้ ทั้งนี้กัมพูชาไม่ถือว่า กรณีดังกล่าวเป็นกรณีการบังคับบุคคลให้สูญหาย เนื่องจากไม่พบหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีเหล่านี้ในขณะนี้” ตัวแทนประเทศกัมพูชา กล่าว

กรณีของเขม โสภา (Khem Sophath) และวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นสองกรณีที่ก่อนหน้านี้ สหพันธ์สากลเพื่อสิทธิมนุษยชน (FIDH) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธฺมนุษยชน (TLHR) ได้ส่งรายงานสถานการณ์การบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศกัมพูชาต่อคณะกรรมการตามอนุสัญญาอุ้มหายฯ เป็นเอกสารข้อมูลจากภาคประชาสังคมที่ ได้ตั้งคำถามถึงการสืบสวนสอบสวนกรณีการบังคับสูญหายสองกรณีดังกล่าว โดยในกรณีเขม โสภา (Khem Sophath) เป็นกรณีของเด็กชายวัน 16 ปีที่หายตัวไประหว่างการปราบปรามอย่างรุนแรงของกองกำลังความมั่นคงกัมพูชาต่อคนงานในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าเมื่อปี 2557

Advertisement

น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธฺผสานวัฒนธรรม ได้ให้ความเห็นต่อการตอบคำถามของตัวแทนประเทศกัมพูชาต่อกรณีการบังคับสูญหายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ไว้ว่า “ก่อนหน้านี้ตลอดระยะเวลาสามปี ทางกัมพูชาไม่เคยยอมรับว่านายวันเฉลิมอยู่ที่กัมพูชาและหายตัวไปจากกัมพูชา หากตอบว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ของประเทศกัมพูชาเกี่ยวข้องกับกรณีวันเฉลิม ประเทศกัมพูชาก็ต้องมีข้อมูลในทางสืบสวนว่า เป็นเจ้าหน้าที่รัฐใดหรือเป็นการกระทำของบุคคลกลุ่มใดที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐกัมพูชา เรื่องการสืบสวนสอบสวนคดีละเมิดสิทธิฯ ไม่ใช่เรื่องความลับ เรื่องนี้ต้องเปิดเผยในเวทีการประชุมของสหประชาชาติ เพื่อให้เกิดการปรับโครงสร้างกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของกัมพูชา ทั้งครอบครัว ญาติพี่น้องของนายวันเฉลิม มีสิทธิที่จะรู้ความจริงว่าวันเฉลิมสูญหายไปอย่างไร ใครเป็นผู้อุ้มนายวันเฉลิมไป”

อย่างไรก็ตาม ประเทศกัมพูชากล่าวยืนยันระหว่างการรายงานและตอบคำถามต่อคณะกรรมการฯ ในครั้งนี้ว่า “กัมพูชาไม่มีกรณีการบังคับบุคคลให้สูญหาย ดังนั้นจึงไม่มีข้อมูลเชิงสถิติเกี่ยวกับกรณีเหล่านี้” และนอกจากนี้ ทางการกัมพูชา เคยออกมาให้ข้อมูลว่า “ไม่พบว่า นายวันเฉลิมอยู่ และหายไปในประเทศกัมพูชา” และแม้ว่าประเทศกัมพูชาจะยืนยันในข้อมูลดังกล่าว ในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้มีการตั้งคำถามว่าเมื่อใดจะมีการระบุว่าการบังคับให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญาในประเทศเพื่อให้มีการสืบสวนสอบสวนได้และมีสถิติข้อมูล รวมทั้งถามย้ำถึงถึงความคืบหน้าในการสืบสวนสอบสวนถึงสี่กรณีที่เชื่อว่าเป็นกรณีการบังคับให้บุคคลสูญหาย

นอกจากกรณีของวันเฉลิมและเขม โสภา ที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีการตั้งคำถามถึงอีกสองกรณีการบังคับให้สูญหาย ได้แก่ กรณีของนายออสมาน คารากา (Osman Karaca) และ นายซัม หมื่น (Sum Moeun) โดยตัวแทนประเทศกัมพูชากล่าวในทิศทางเดียวกันว่าสองกรณีดังกล่าวก็ไม่ใช่กรณีการบังคับให้บุคคลสูญหาย โดยกรณีของนายออสมาน คารากา ระหว่างการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐกัมพูชา ได้มีการติดต่อกับสถานทูตตุรกีอยู่ตลอดเวลา ทางสถานทูตฯ ทราบถึงชะตากรรมของพลเมืองของตนมาโดยตลอด ส่วนกรณีนายซัม หมื่น เป็นกรณีที่ไมมีการจับกุมเกิดขึ้นและไม่ถือว่าเป็นกรณีการบังคับให้สูญหายเช่นกัน

การนำเสนอรายงานและคำถามเกี่ยวกับการบังคับให้บุคคลสูญหายกรณีวันเฉลิมหรือกรณีนายออสมาน แม้ไม่ใช่ชาวกัมพูชา แต่การหายตัวไปหรือการจับกุมควบคุมตัวเกิดขึ้นที่ประเทศกัมพูชา แม้ประเทศกัมพูชายังคงปฏิเสธว่าทั้งสี่กรณีไม่ใช่กรณีของการบังคับให้บุคคลสูญหายตามอนุสัญญาฯ เนื่องจากตามนิยามนั้นการบังคับให้บุคคลสูญหายตามหลักการของยูเอ็นนั้นต้องเกี่ยวข้องกับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ใช้อำนาจรัฐ ซึ่งขณะนี้ทางกัมพูชายังคงปฏิเสธข้อร้องเรียนต่อคณะกรรมการชุดนี้ สำหรับประเทศไทยนั้นประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันเป็นรัฐภาคีแม้จะลงนามไปแล้วตั้งแต่ปี 2554

ทั้งนี้ การประชุมนี้จะจัดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2567 ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยการพิจารณาทบทวนสถานการณ์การบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศกัมพูชาจะมีถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 เวลาไทย 16.00-19.00 น. ทาง https://webtv.un.org/en/asset/k1w/k1wzk1dcqh โดยเมื่อการทบทวนเสร็จสิ้นคณะกรรมการฯ จะมีการสรุปความเห็นให้แก่ประเทศกัมพูชา เพื่อให้ข้อเสนอแนะและแนวทางในการดำเนินการให้ประเทศกัมพูชาสามารถปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ ที่ได้บังคับใช้และให้สิทธิที่รับรองไว้ในอนุสัญญาฯ ได้อย่างเป็นจริงต่อไป มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอเชิญชวนประชาชนที่ติดตามและสื่อมวลชนร่วมกันจับตาการประชุมในครั้งนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image