สะท้อนภาพ ฮุนเซน บินเยี่ยม ทักษิณ ชี้การทูตบ้านจันทร์ส่องหล้า อำนาจขนานรัฐบาล

สะท้อนภาพ ฮุนเซน บินเยี่ยม ทักษิณ ชี้การทูตบ้านจันทร์ส่องหล้า อำนาจขนานรัฐบาล

วันที่ 4 ของการพักโทษ ทักษิณ ชินวัตร เปิดบ้านจันทร์ส่องหล้า ต้อนรับเพื่อนรัก สมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน หรือ สมเด็จฮุนเซน ประธานคณะองคมนตรีกัมพูชา อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมง รับประทานอาหารไทย อย่าง กุ้งแม่น้ำเผา ขนมต้ม ลูกชุบ โดยมี อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวคนเล็ก หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ร่วมวงสนทนา

หลังออกจากบ้านจันทร์ส่องหล้า สมเด็จฮุนเซน โพสต์ภาพคู่ทักษิณ และ หลานอุ๊งอิ๊ง ลงเฟซบุ๊กทันที เอ่ยว่า 2 อดีตนายกฯ มาพบกัน แต่ไม่ได้คุยเรื่องการเมือง ชวนคิดถึง 32 ปีแห่งมิตรภาพ

พร้อมเชิญหลานสาว “อุ๊งอิ๊ง” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ไปเยี่ยมที่กัมพูชา กลางเดือนหน้า

Advertisement

ย้อนกลับไปเมื่อ 5 สิงหาคม 2566 ก่อนที่พรรคเพื่อไทยจะจัดตั้งรัฐบาล 11 พรรคได้สำเร็จในช่วงสิ้นเดือนเดียวกัน ทักษิณ ซึ่งประกาศเตรียมกลับไทย และ ยิ่งลักษณ์ 2 อดีตนายกฯ บินร่วมงานคล้ายวันเกิด 71 ปี ของ สมเด็จฯ ฮุนเซน ที่ กัมพูชา ได้พักที่บ้าน 1 คืน ก่อนเดินทางกลับในอีกวันหนึ่ง วันเดียวกันนั่นเอง ที่ทักษิณ ได้ทวิตขอเลื่อนวันเดินทางกลับไทย จากกำหนดเดิม

การเดินทางมาพบทักษิณ ของ ฮุนเซน ครั้งนี้ จึงมีความหมาย สะท้อนภาพกระชับแน่นของความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ และการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่น้อย

Advertisement

รศ.ดร. ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ความเห็นเรื่องดังกล่าวไว้ว่า เมื่อคุณทักษิณได้พักโทษ และมาอยู่ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เป็นโอกาสที่ดี ที่สมเด็จฯ ฮุนเซน จะมาเยี่ยม ซึ่งเป็นเพื่อนสนิท คบค้าสมาคมกันมาหลายปี หลักๆน่าจะเป็นห่วงสุขภาพ

แต่ถามว่า จะไม่พูดเรื่องการเมืองเลยไหม ต่อให้ไม่พูดวันนี้ แต่ก่อนและหลังจากนี้ ก็ต้องมีเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว ทั้งเรื่องการเมือง และความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งก็คิดว่ามีหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาแบ่งสรรผลประโยชน์ พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทย ซึ่งรัฐบาลเศรษฐา กับ ฮุนมาเนต ก็มูฟออนเรื่องนี้เหมือนกัน

พอทักษิณ กับฮุนเซน มาคุยกัน ก็พอต่อภาพได้เหมือนกันว่า การเจรจาแก้ไขความขัดแย้ง กับจัดสรรผลประโยชน์ ทั้ง 2 ประเทศ จะต้องมีบารมี มีความคิด วิสัยทัศน์ของทักษิณ ฮุนเซน เข้าไปร่วมอยู่ด้วย เป็นธรรมชาติของความสัมพันธ์ 2 ประเทศ ที่ติดกับชนชั้นนำ ที่มีสายสัมพันธ์กับทางตระกูลที่เหนียวแน่น” ดุลยภาคระบุ

สะท้อนภาพ การเมืองวงศ์ตระกูล

ดุลยภาค กล่าวต่อว่า การทำความเข้าใจบริบทการเมืองระหว่างประเทศ หรือความสัมพันธ์ ระหว่าง 2 ประเทศนี้ ไม่เข้าใจตระกูลฮุน กับ ตระกูลชินวัตร เห็นจะไม่ได้

ก่อนเสริมว่า ภาพของทักษิณและฮุนเซน เป็น Family Politics หรือ การเมืองวงศ์ตระกูล ที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ต้องดูว่าจากนี้ อิ๊งจะไปเยี่ยมที่พนมเปญ หรือไม่ ถ้าไป ก็คิดว่าฮุนเซนก็จะไป เพื่อต้อนรับ พัฒนาความสัมพันธ์ด้วย ถามว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบทางการ ในฐานะรัฐบาลเพื่อไทย และ กระทรวงการต่างประเทศ โดยคุณปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศ ก็ต้องทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว แต่วันนี้ จะได้เห็นภาพกิจกรรมทางการทูต ระหว่างทักษิณ และ อุ๊งอิ๊ง ซ้อนคู่ขนานเข้ามา

“ยิ่งทักษิณกลับมาอยู่ที่ไทย ภาพกิจกรรมทางการทูตจะยิ่งไหลว่อน คึกคักมาก โดยเฉพาะระหว่าง 2 ประเทศนี้” ดุลยภาคกล่าว และว่า

ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศนี้ อยู่ที่ชนชั้นนำ อยู่ที่การเมืองวงศ์ตระกูล ซึ่ง ตระกูลชินวัตร เข้าไปลงทุนในกัมพูชาตั้งแต่ก่อนทักษิณจะเป็นนายกฯด้วยซ้ำ ความสัมพันธ์ของ 2 ชาติ จึงอยู่ที่ ชนชั้นนำตระกูลชินวัตรกับตระกูลฮุน ไม่ได้บอกว่าดีไม่ดี แต่นี่เป็นคาแรกเตอร์เฉพาะของการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บางที การแก้ไขความขัดแย้งระหว่างประเทศ มันทุเลาลงได้ด้วยการที่ผู้นำ 2 ประเทศ กระซิบ สนทนา บอกกัน ไม่ใช่เฉพาะชนชั้นนำระหว่างไทยกับกัมพูชาอย่างเดียว แต่บางช่วงยังรวมถึงชนชั้นนำในพม่า

การทูต ทักษิณ สไตล์

ดุลยภาค กล่าวว่า สิ่งนี้เป็นสไตล์การทูตที่เชื่อมต่อระหว่าง Elite คือ ชนชั้นนำ กับชนชั้นนำ เมื่อทักษิณกลับมาอยู่ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ยิ่งเห็นได้ชัด เพราะมันเคยเกิดขึ้นในยุคที่ทักษิณเป็นนายกฯ Legacy นี้ไม่ได้ถูกทำลายไป แต่อาจถูกปรับ ขยาย เพราะทักษิณตัวจริงกลับมาแล้ว

ในการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชนชั้นนำทางการเมืองอาจมีนับถือเป็นพี่เป็นน้องกัน คุณทักษิณเอง ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่า คนที่นับถือเป็นพี่น้อง คือ ทักษิณ ฮุนเซน และ สุลต่านบรูไน ซึ่งหลังพักโทษ ฮุนเซนก็เดินทางมาเลย ไม่รู้ในอนาคตจะมีกิจกรรมการทูตระหว่างทักษิณ กับ สุลต่านบรูไนไหม นี่เป็นสไตล์ชนชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่คุณทักษิณเป็นโมเดลสำคัญ

จับตาการทูตบ้านจันทร์ส่องหล้า

ด้วยทักษิณ เดินทางกลับมาพำนักที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ที่น่าจะได้เปิดบ้านต้อนรับบุคคลสำคัญไม่น้อย นี่จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนว่า การทูตคู่ขนาน เป็นสิ่งที่น่าติดตามในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย ที่ดุลยภาค กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่า คุณทักษิณมีต้นทุน มีทรัพยากรด้านการต่างประเทศ เคยคุมงานด้านต่างประเทศ และเป็นนายกฯ วิสัยทัศน์ซีอีโอ ตอนดำรงตำแหน่ง มีการทูตแบบทักษิณ คือ ทักษิณคิด และหน่วยงานต่างๆไปทำ มีความริเริ่มที่ทำให้บทบาทไทยสูงเด่นขึ้น ในเวทีระหว่างประเทศ เป็นผลงานโบว์แดง แม้มีข้อเสียว่า ผลประโยชน์ผู้นำวงศ์ตระกูลกับผลประโยชน์ชาติเนี่ย เส้นแบ่งชัดๆอยู่ตรงไหน เป็นสิ่งทีฝ่ายตรงข้ามวิจารณ์เยอะ แต่ผลงานระดับโลก อยู่ในช่วงการทูตทักษิณนั่นเอง

และว่า พอเปลี่ยนรัฐบาล ภาพตรงนี้ไม่ค่อยเห็น วันนี้เราเห็นรัฐบาลเพื่อไทย เจ้าของพรรคคือทักษิณ เราเห็นบทบาทคุณอุ๊งอิ๊ง ทำเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งซอฟต์เพาเวอร์เป็นปัจจัยทางวัฒนธรรมที่ไปเชื่อมระหว่างประเทศได้ อย่างอุ๊งอิ๊งไปกัมพูชาครั้งหน้า เรื่องซอฟต์พาวเวอร์ที่ขัดแย้งกันเรื่องรากวัฒนธรรมเนี่ย จะเอามาเชื่อมโยงแบ่งปันกันได้ไหม

“ทั้งหมดเป็นมรดกและสไตล์การทำงาน ของการทูตทักษิณ และคุณทักษิณยังอยู่ มาอยู่ไทย มาอยู่ศูนย์กลางบ้านจันทร์ส่องหล้า เพราะฉะนั้นกิจกรรมทางการทูต เอาแบบไม่เป็นทางการ กึ่งทางการ ก็อยู่ที่ปริมณฑลแห่งอิทธิพลของคุณทักษิณ ซึ่งตรงนี้สำคัญ”

ดุลยภาค กล่าวอีกว่า เวลามองนโยบายต่างประเทศไทย คงจะมองคุณเศรษฐาที่ทำเนียบฯ และคุณปานปรีย์ที่กระทรวงต่างประเทศ ว่า คิดอย่างไรมองอย่างเดียวไม่ได้ คงจะมีการทูตคู่ขนานที่บ้านจันทร์ส่องหล้า มันเป็นการทูตที่สามารถสร้างสมาคมชนชั้นนำวงในได้ล้วนๆ เต็มๆ คนเหล่านี้ บ้างก็เป็นคีย์แมนในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ หรือมีอิทธิพลสูงในการขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศ หรือ ในเพื่อนบ้าน หรือ แถบเอเชีย คุณทักษิณสามารถดึงตรงนี้มาได้ เป็นจุดเด่นที่น่าสนใจ

ถอดรหัสการเมืองกัมพูชา สู่ไทย

แม้จะออกตัวไม่พูดเรื่องการเมือง แต่นัยยะที่ซ่อนอยู่ ในความคิดของ อ.ดุลยภาคนั้น เรื่องการเมือง ย่อมเป็นสิ่งที่สอดแทรกอยู่อย่างเสียไม่ได้

ดุลยภาค กล่าวว่า ทักษิณ นั้น เคยเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวฮุนเซน และ ที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชาด้านเศรษฐกิจ แต่ทักษิณจะเป็นผู้หลบหนีคดีทางการเมืองหลังรัฐประหาร แต่ฮุนเซน ก็บอกว่าเป็นคดีการเมืองทั้งสิ้น แม้จะให้คำปรึกษาด้านเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องมีทอล์กกับฮุนเซนเรื่องการเมือง เพราะทั้ง 2 คน เป็นอดีตนักการเมือง เป็นอดีตนายกฯ ต้องพูดเรื่องการเมืองประกอบไปด้วย

สิ่งที่ตนให้ความสนใจคือ ตอนที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นำทัพในการตั้งคณะรัฐมนตรี ฮุนเซน มีท่าทีแปลกประหลาด เหมือนไม่ค่อยยินดีสักเท่าไหร่ เพราะพฤติกรรมของฝ่ายค้านในกัมพูชา ต่อกรกับระบอบของฮุนเซน ไม่ว่าจะเป็นสมรังสี แนวร่วมฝ่ายค้านที่ต่อยายมาจากอำนาจอิทธิพลสมรังสี หรือ กลุ่มก้อนเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่ใช้โซเชียลมีเดีย ที่ดูแล กระบวนการต่อสู้ อาจจะได้แรงบันดาลใจ หรือ ติดต่อกับพรรคก้าวไกล ซึ่งสิ่งนี้ไม่ดีกับระบอบฮุนเซน แต่ฮุนเซนก็สามารถขจัดปัญหานี้ได้ ด้วยการใช้สูตรการเมืองหลายๆสูตร สูตรสำคัญคือ นำบุตรชายหัวแก้วหัวแหวน ที่วัยรุ่นมาหน่อยอย่าง ฮุนมาเนต มานำทัพคุมคนรุ่นใหม่ในแพลตฟอร์มทางการเมือง นำมาสู่การถ่ายโอนอำนาจ ที่ฝ่ายค้านไม่มีที่ยืนเหมือนเดิม ในระเบียบการเมืองกัมพูชา

“ประสบการณ์ที่สำเร็จ ที่ส่งต่อให้ฮุนมาเนต แต่ฮุนเซนยังอยู่ มันจะเป็นโมเดล ประสบการณ์ที่แลกเปลี่ยนถ่ายทอดกับทักษิณได้ดีหรือไม่ เพราะฮุนเซน คุมระบอบฮุนเซน ทักษิณคุมระบอบทักษิณ ที่เราคิดว่าระบอบทักษิณตายไปแล้ว ผมคิดว่าไม่ใช่ ผมคิดว่ากำลังจะฟื้นฟูพละกำลังกลับคืนมาใหม่”

บทเรียนสู้ฝ่ายค้าน รักษาฐานอำนาจ

ดุลยภาค กล่าวอีกว่า ระบอบแบบนี้ แม้จะเป็นการเลือกตั้ง แต่ผู้นำใช้อำนาจแบบอำนาจนิยม ฮุนเซน กับ ทักษิณ มีคาแรคเตอร์ที่คล้ายกันอยู่เหมือนกัน วันนี้เพื่อไทยคู่แข่งคือก้าวไกล คนรุ่นใหม่ที่อินกับก้าวไกล กรณีแบบนี้ กัมพูชา สามารถลดพลังคนรุ่นใหม่ เยาวชนคนหนุ่มสาว กรณีนี้ ทักษิณอาจจะคิดได้เอง หรือมีโมเดลอื่น นอกจากกัมพูชาอยู่แล้ว แต่ว่า ฐานะมิตรภาพที่ให้คำปรึกษากันมา เกื้อหนุนมาเป็น 10 ปี ประสบการณ์ของฮุนเซนย่อมอยู่ในบทสนทนา

ก่อนฉายภาพเพิ่มเติมว่า การเมืองกัมพูชา มันจะเป็นเผด็จการเลือกตั้งแบบครอบงำ มีเลือกตั้ง รัฐสภา มีสถาบันการเมืองแบบประชาธิปไตย แต่ พรรคซีพีพี ก็ชนะถล่มทลาย ปกครองแบบอำนาจนิยม ฮุนเซนกับพรรครัฐบาลครอบงำโครงสร้างสภา และการเมือง ก็แค่ส่งไม้ต่อให้ฮุนมาเนต แต่ระบอบยังอยู่ ทำให้ระบอบฮุนเซนมีเรี่ยวแรงสู้ต่อกับระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยแบบจัดๆ พวกฝ่ายค้านจึงถูกขจัดไปเยอะ

ตัดภาพมาที่ไทย วันที่ทักษิณครองอำนาจ ถูกมองว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ผู้นำใช้อำนาจแบบอำนาจนิยม ตามสไตล์ทักษิณ มีการครองเสียงข้างมากในสภา การเมืองบีบอำนาจมาอยู่ที่เสียงข้างมากได้ แต่วันนี้การเมืองเปลี่ยนไปเยอะ เป็นสูตรรัฐบาลผสม ไม่เหมือนไทยรักไทยพรรคเดียว และฝ่ายค้านอย่างก้าวไกล มีเสียงไม่น้อย

เงื่อนไขแบบนี้ แตกต่างกันระหว่างระบอบทักษิณกับฮุนเซน ถ้าคิดว่าระบอบทักษิณกำลังฟื้นฟูพละกำลังขึ้นมา การเมืองแบบวงศ์ตระกูล คู่เทียบที่เหมาะที่สุดในคาแรกเตอร์การเมืองชนิดนี้ ที่จะให้คำปรึกษาถ่ายทอดได้ ก็ไม่พ้นฮุนเซน เพราะฉะนั้นการต่อสู้ของเพื่อไทย แมตช์ต่อไปของเพื่อไทย จะจัดการกับฝ่ายค้านที่มีพลังอย่างก้าวไกลยังไง หรือจะเจรจา ต่อรอง Elite อย่างไรให้อยู่ได้ยาวนาน เหมือนฮุนเซน ที่อยู่นานเกิน 30 ปี

“มันจะทำได้ไหม เมื่อบริบทเปลี่ยนไปเยอะ แต่จะฉีกออกมาแล้วนำมาปฏิบัติ ในฐานะเผด็จการเลือกตั้งที่ช่ำชอง มันก็ไม่แน่” ดุลยภาค ทิ้งท้าย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image