นึกว่าเลือกตั้งใหญ่! เด็ก ม.ราม มุงโหวต ‘สภาน.ศ.’ รองอธิการฯ รับ ‘สูสีมาก’

อย่างกับเลือกตั้งใหญ่! เด็ก ม.ราม กรูเข้าคูหา เลือกตั้งองค์การฯ-สภาน.ศ.  รองอธิการฯ รับ ‘สูสีมาก’ แบ่งฝ่ายนิติบัญญัติ-ฝ่ายบริหาร หวังเรียนรู้การเมืองจริง

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก กรุงทพฯ มีการจัดกิจกรรมเลือกตั้งคณะกรรมการองค์การนักศึกษา (อ.ศ.ม.ร.) และสมาชิกสภานักศึกษา (ส.ม.ร.) ประจำปีการศึกษา 2567 ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.00 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานบรยากาศเวลา 13.30 น. มีนักศึกษาจำนวนมาก ทยอยเดินทางมาร่วมใช้สิทธิ์เลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย บริเวณรอบอนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช โดยเข้ามาดูรายชื่อของตนเองก่อนเข้าคูหาไปลงคะแนนเสียง เลือกตั้ง คณะกรรมการองค์การนักศึกษา (อ.ศ.ม.ร.) และสมาชิกสภานักศึกษา (ส.ม.ร.) ที่ตนชื่นชอบ ซึ่งมีทั้งที่แต่งกายด้วยชุดนักศึกษาและชุดไปรเวท

Advertisement

บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก ทางมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ตั้งเต็นท์สีเขียวพร้อมกั้นด้วยผ้าใบสีขาวบริเวณรอบอนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง ซึ่งเป็นจุดลงคะแนน โดยแบ่งโซนแยกแต่ละชั้นปี พร้อมเขียนป้ายระบุไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้ง่ายต่อการลงทะเบียนใช้สิทธิของนักศึกษา

โดยชั้นปีที่ 1 ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งที่เต็นท์ หน้าตึกคณะนิติศาสตร์, ชั้นปีที่ 2 บริเวณสระน้ำ, ชั้นปีที่ 3 หน้าอาคารหอสมุดกลาง และ ชั้นปีที่ 4 ขึ้นไป ที่เต็นท์หน้าอาคารศิลาบาตร

 

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในปีนี้มีพรรคที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง จำนวน 3 พรรค โดยมีการติดป้ายประกาศหาเสียงทั่วบริเวณมหาวิทยาลัย ทั้งบริเวณม้านั่งริมสระน้ำ ทั้งอาคารโรงอาหาร อาคารกองกิจการนักศึกษา และมีจุดเช็คอินให้ถ่ายรูปเซลฟี่โพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ท่ามกลางนักศึกษาให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก แม้อากาศค่อนข้างร้อนแต่ยังคงมาร่วมใช้สิทธิเลือกตั้งตัวแทนของตน

สำหรับผู้สมัครลงเลือกตั้งทั้ง 3 พรรค ได้แก่

1.พรรคตะวันใหม่ สโลแกน มุ่งพัฒนากิจกรรมบนความหลากหลาย ภายใต้ผลประโยชน์ของ นักศึกษาและมหาลัย
2.พรรคลูกพ่อขุน สโลแกน กิจกรรมนักศึกษาต้องฟื้นฟู รามคำแหงต้องเปลี่ยน
3.พรรคพลังราม สโลแกน พลังรามเราคือพลังของตัวแทนแทนนักศึกษาทุกคน

ด้าน รศ.ดร.จักรี ไชยพินิจ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้สัมภาษณ์ ‘มติชน’ ถึงบรรยากาศการเลือกตั้ง คณะกรรมการองค์การนักศึกษา (อ.ศ.ม.ร.) และสมาชิกสภานักศึกษา (ส.ม.ร.) ในวันนี้ว่า ค่อนข้างเป็นไปอย่างคึกคัก

เหมือนกับทุกครั้งที่เรามีการเลือกตั้งในรั้วมหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่เมื่อเช้านี้ตนได้รับรายงานมาว่าที่สนามการเลือกตั้ง วิทยาเขตบางนา มีผู้มาใช้สิทธิมากกว่าปีที่แล้วมากพอสมควร เพียงแต่ยังบอกตัวเลขไม่ได้ว่าตอนนี้เท่าไหร่ รวมถึงบรรยากาศช่วงเช้าจนถึงช่วงบ่าย ตนได้เดินมาดูเอง พบว่ามีนักศึกษาทยอยมาเรื่อยๆ ตลอดทั้งวัน ซึ่งเราจะปิดหีบเวลา 16.00 น. ทั้งนี้ ที่วิทยาเขตบางนา จะปิดหีบก่อน แล้วจึงค่อยย้ายมาเปิดหีบนับคะแนน ที่ ม.รามคำแหง หัวหมาก

“คาดว่าจำนวนผู้ใช้สิทธิ์น่าจะมาเยอะ มีความครึกครื้น ถ้าเราพูดถึงที่รามคำแหง เรื่องบรรยากาศของการเลือกตั้งจะเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง จะมีเวทีหาเสียง มีการออกแคมเปญ แต่ละพรรคก็จะพยายามทำกิจกรรมดึงมวลชน ดึงน้องๆ นักศึกษาเข้ามาแข่งขันกันเหมือนเวทีการเลือกตั้งจริงๆ วันนี้เราเก็บป้ายหาเสียง เพราะเป็นกฎการเลือกตั้งว่าหลัง 18.00 น. ของเมื่อวานนี้ต้องเก็บป้ายในเขตปริมณฑลของการเลือกตั้ง แต่ว่าตัวป้ายสวยงาม น่ารักมาก” รศ.ดร.จักรีชี้

รศ.ดร.จักรีกล่าวอีกว่า ในวช่วงเช้าวันนี้ ก็มีพรรคต่างๆ มาร่วมสังเกตการณ์ด้วย ซึ่งเรามีระบบผู้สังเกตการณ์ที่จะต้องมีรายชื่อได้รับอนุญาตให้เข้าพื้นที่ในคูหาได้

“สิ่งที่น่าสนุกไม่แพ้กระบวนการอื่น ก็คือตอนนับคะแนน จะปิดหีบในวันนี้ และคะแนนจะออกมาให้ทุกคนทราบวันถัดไป”

เมื่อถามว่า อยากให้การเลือกตั้งในครั้งนี้มีการพัฒนาขึ้นอย่างไรบ้าง ?

รศ.ดร.จักรีเผยว่า ที่ผ่านมาจะเห็นว่าการเลือกตั้งของมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีการปรับตัวอยู่ 2 ช่วง อย่างช่วงก่อนโควิด เราทำกิจกรรมกันได้ตามปกติ มีการออกค่ายอาสา ทำกิจกรรมในลักษณะต่างๆ แต่เมื่อโควิด-19 ระบาด การจัดกิจกรรมก็ต้องนิ่งไป ที่ผ่านมาเราเจอปัญหาอย่าง คือหลังจากโควิดที่ผ่านมา จำนวนนักศึกษาที่มาทำกิจกรรม น้อยลงกว่าเดิม

“ความคาดหวังส่วนตัวผมเอง อยากจะให้พรรคที่ชนะ ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนก็ตาม รื้อฟื้นบรรยากาศของการทำกิจกรรมกลับมาให้ได้ ให้มันความคึกคักเหมือนเดิม เหมือนในอดีต ก็จะเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการไปทำอาชีพในอนาคตต่อไป” รศ.ดร.จักรีชี้

เมื่อถามถึงสิ่งที่คิดว่ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำมาดีอยู่แล้ว และจะยังคงทำต่อไป ?

รศ.ดร.จักรีเผยว่า มีหลายเรื่องมาก ตนขอแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเรามีชื่อเสียงด้านกีฬา มีหลากหลายประเภท หลากหลายชมรมที่เป็นกีฬา เป็นพื้นฐานของการไปแข่งขันนักกีฬาแห่งชาติ เป็นพื้นฐานการแข่งซีเกมส์ และเอเชียนเกมส์

“เวลาที่เราดูทีมชาติไทยกับเอเชียนเกมส์ หรือ ซีเกมส์ ในบรรดาผู้ที่ได้รับเหรียญ ไม่ว่าจะเป็นเหรียญเงินหรือทองแดง ก็จะมีชื่อของนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงอยู่ด้วย

ส่วนที่ 2 เรื่องชมรมเรามีชื่อเสมอมา ก็คือพวกโครงการพัฒนา จิตอาสาต่างๆ และส่วนที่ 3 ก็จะเป็นพวกชมรมเชิงวิชาการที่เวลามีรายการแข่งขันสอบ แข่งขันโต้วาที แข่งขันว่าความ ก็ต้องมีชื่อของนักศึกษารามคำแหงอยู่ด้วย อันนี้ก็คือพื้นฐานของชมรมกิจกรรมต่างๆ” รศ.ดร.จักรีระบุ

เมื่อถามถึงสิ่งที่ทางมหาวิทยาลัย อยากผลักดันหลังจากนี้ ?

รศ.ดร.จักรีกล่าวว่า ตอนนี้สิ่งที่อยากจะผลักดันมากที่สุด คือการรื้อฟื้นบรรยากาศการทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย ให้กลับคืนมาก่อน ตอนนี้เมื่อเริ่มที่จะมีระบบออนไลน์ นักศึกษาหลายคน ก็อาจจะเห็นความสำคัญของกิจกรรมน้อยลงไปด้วย

“แต่ว่าจริงๆ อย่างที่เราทราบว่า ในศตวรรษที่ 21 การเรียนในห้องเรียนหรือในชั้นเรียนมันเป็น hard skill (ความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน) แต่ว่าการผลักดันให้เกิด Soft Skill (ทักษะด้านอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับวิชาชีพแต่เป็นทักษะที่จำเป็นในการทำงานร่วมกับผู้อื่น) สำคัญมากในการทำงานในชีวิตจริง อย่างที่เราเรียนมาก็เป็นความรู้ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งมันคือทักษะการแก้ปัญหาการอยู่กับเพื่อน การที่จะบริหารจัดการงาน ซึ่งเหล่านี้มันเรียนในห้องไม่ได้เลย มันผ่านการทำกิจกรรมทั้งนั้น ดังนั้น Soft skill มันจะช่วยได้เยอะมากเลยจากการทำกิจกรรม” รศ.ดร.จักรีกล่าว

เมื่อถามว่า บรรยากาศปีนี้ถือว่าคึกคักมากน้อยแค่ไหน ?
รศ.ดร.จักรีกล่าวว่า ยังคึกคักเหมือนเดิม ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ถ้าสังเกตุจะมีจุดเด่นอยู่อย่างหนึ่ง คือเราจะมีการเลือกตั้งอยู่สองระบบ จะมีระบบสภา กับระบบฝ่ายบริหาร

“ฝ่ายสภาก็เรียกว่าสภาบริหารองค์การนักศึกษา แต่ว่าถ้าเป็นระดับบริหารเราเรียกว่า (อ.ส.ม.ร.) ก็คือองค์การบริหารนักศึกษา

ฝ่ายบริหาร ตัวนายกองค์การ จะกำหนดนโยบายใดก็ตาม ก็คงมีขอบข่ายในระดับหนึ่ง มีอำนาจในมากในระดับหนึ่ง แต่สุดท้ายอำนาจจะอยู่ที่สภาด้วย แปลว่าโครงการ งบประมาณ หรือแผนต่างๆ ถ้าฝ่ายบริหารคิด แต่สภาไม่อนุมัติ มันก็อาจจะทำยาก ซึ่งเหมือนเวทีจริงๆ เลย ดังนั้น ลักษณะของการแบ่งเลเยอร์ของฝ่ายนิติบัญญัติ กับฝ่ายบริหาร มันก็คือการทำงานการเรียนรู้การเมืองในแบบจริงๆ เลย

“มันกลับมาสู่คำถามที่ว่า ทำไมมันถึงคึกคัก แม้ว่าแดดจะร้อน เพราะว่าน้องๆ รู้ว่าการเลือก (อ.ศ.ม.ร.) และ (ส.ม.ร.) มันจะส่งผลต่อนโยบายที่มีต่อกิจกรรมเขายังไง” รศ.ดร.จักรีกล่าว

เมื่อถามว่า ถึงจุดเด่นของแต่ละพรรคว่าเป็นอย่างไรบ้าง ?

รศ.ดร.จักรีกล่าวว่า ปีนี้ก็น่าสนใจทั้ง 3 พรรค ซึ่งทุกพรรคสูสีมาก บางพรรคก็ทำกิจกรรมมานาน ฉะนั้นรู้เรื่องของระบบเอกสาร รู้เรื่องของงานแอดมิน รู้เรื่องระบบประกันคุณภาพ บางพรรคอาจจะมีประสบการณ์ในอดีต แล้วก็ขาดหายไป แต่ว่าก็สามารถที่จะรื้อฟื้นกลับมาเรียนรู้ได้ มีพลัง บางพรรคก็อาจจะอยู่ในแวดวงของกิจกรรมมาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่ได้ขึ้นมาบริหารเต็มๆ

“แต่ละพรรค จริงๆ แล้วจะมีจุดเด่นต่างกัน เท่าที่ผมสังเกตหลังเลือกตั้ง ไม่ว่าพรรคไหนจะชนะ แต่สุดท้ายเดี๋ยวน้องๆ นักศึกษาเขาก็จะมารวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรม จัดสรรงานต่างๆ ได้ เพราะสุดท้ายแล้วพอเสร็จเลือกตั้ง เขาก็เป็นเพื่อนกันอยู่ดี” รศ.ดร.จักรีกล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ขอเชิญชวนนักศึกษาระดับปริญญาตรีทุกคณะ ทุกโครงการ ใช้สิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการองค์การนักศึกษา (อ.ศ.ม.ร.) และสมาชิกสภานักศึกษา (ส.ม.ร.) โดยให้นำบัตรประจำตัวนักศึกษา มาแสดงตนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยใช้สิทธิได้ตั้งแต่เวลา 08.30 – 11.30 น. ณ ม.รามคำแหง บางนา หรือเวลา 13.00 – 16.00 น. ณ ม.รามคำแหง หัวหมาก (เลือกใช้สิทธิแห่งใดแห่งหนึ่ง) โดยจะประกาศผลพรรคที่ชนะการเลือกตั้งในปี 2567 ในวันพรุ่งนี้ (23 กุมภาพันธ์)

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image