กม.ปราบโกงฉบับป.ป.ช. คุมเข้ม”ขรก.-นักการเมือง”

หมายเหตุ – สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่จัดทำโดยสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อพิจารณาให้สอดคล้องกับบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ

ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.มีเนื้อหา 11 หมวดหลักและบทเฉพาะกาล รวมทั้งสิ้น 233 มาตรา โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้

หมวด 1 คณะกรรมการ ป.ป.ช.

มาตรา 19 อำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. (1) ไต่สวนและมีความเห็นกรณีการกล่าวหา ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ฐานร่ำรวยผิดปกติ ทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ประพฤติมิชอบ และฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

(2) ไต่สวนและวินิจฉัยเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ ฐานรวยผิดปกติ ทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ ผิดต่อตำแหน่งราชการ (3) ไต่สวนและวินิจฉัยเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ ที่ทำผิดตาม พ.ร.บ.นี้ หรือการกระทำความผิดที่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งได้กระทำนอกราชอาณาจักรไทย ทั้งการประสานความร่วมมือ เพื่อประโยชน์แห่งการไต่สวนและวินิจฉัยให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

Advertisement

(4) กำหนดให้มีการไต่สวนสาธารณะในการไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องที่มีลักษณะความผิดร้ายแรงและกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด

(5) สอบสวนกรณีที่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้จัดทำโครงการหรืออนุมัติหรือจัดสรรงบประมาณโดยรู้ว่าสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา คณะกรรมาธิการ หรือคณะรัฐมนตรี ดำเนินการอันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 144 ว่าด้วยการห้ามแปรญัตติเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

(7) กำหนดให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมาย หรือสถาบันการเงินอื่นหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ประกอบอาชีพ รายงานธุรกรรมทางการเงินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และเงื่อนไขที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด

Advertisement

มาตรา 30 ในกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า เอกสารหรือข้อมูลข่าวสารที่ส่งทางไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์สื่อสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ถูกใช้หรืออาจถูกใช้เพื่อประโยชน์ในการทำความผิด ฐาน ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือประพฤติมิชอบ คณะกรรมการ ป.ป.ช.อาจอนุมัติให้เจ้าหน้าที่ ยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อขอข้อมูลดังกล่าวได้

มาตรา 31 ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือเลขาธิการ ป.ป.ช. มีอำนาจให้บุคคลใด หรือหน่วยงานของรัฐ จัดทำเอกสาร หรือหลักฐานใดขึ้น หรือเข้าไปแฝงตัวในองค์กรหรือกลุ่มคนใด หรือปฏิบัติการอำพราง เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ สืบสวน แสวงหาข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐาน หรือไต่สวน โดยให้ถือว่าเป็นการกระทำโดยชอบ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด

มาตรา 32 พนักงานเจ้าหน้าที่อาจใช้เครื่องมือสื่อสารโทรคมนาคม เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีอื่นใด ในการสะกดรอยผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิด ฐานร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ ผิดต่อตำแหน่งราชการ ผิดต่อหน้าที่ในการยุติธรรม หรือผิดต่อกฎหมายอื่น ทั้งนี้ให้ป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด

หมวด 2 การไต่สวนข้อเท็จจริง

มาตรา 39 ห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.รับหรือยกคำกล่าวหาที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ขึ้นพิจารณา (1) เรื่องที่มีข้อกล่าวหาหรือประเด็นเกี่ยวกับเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้วินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดแล้ว เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันเป็นสาระสำคัญแก่คดี ซึ่งอาจทำให้ผลของคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เปลี่ยนแปลงไป (2) เรื่องที่เป็นคดีอาญาในประเด็นเดียวกัน และศาลประทับฟ้องหรือพิพากษาหรือมีคำสั่งเสร็จเด็ดขาดแล้ว เว้นแต่คดีนั้นได้มีการถอนฟ้องหรือทิ้งฟ้อง หรือเป็นกรณีที่ศาลยังมิได้วินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดี คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะรับหรือยกคำกว่าหานั้นขึ้นพิจารณาก็ได้ มาตรา 42 การวินิจฉัยชี้ขาดคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตาม พ.ร.บ.นี้ เป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญ และเป็นการดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ทางแพ่ง หรือทางอาญาเกี่ยวเนื่องวินัย โดยไม่อยู่ในเงื่อนไขการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

มาตรา 45 การดำเนินคดีอาญาตาม พ.ร.บ.นี้ ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีระหว่างถูกดำเนินคดี หรือระหว่างการพิจาณาของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนี รวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ

มาตรา 56 ส.ส. ส.ว.หรือสมาชิกสภาทั้งสอง ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือประชาชนจำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อกล่าวหา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า ผู้ดำรงตำแหน่งต่อไปนี้ กระทำฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง

หมวด 5 การบังคับทางกฎหมาย

มาตรา 106 กรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า ข้อกล่าวหาหรือผลการดำเนินการสอบสวนคดีใดมีมูล ให้ประธาน ป.ป.ช. ส่งรายงานและสำนวนการสอบสวน และเอกสารที่มีอยู่พร้อมความเห็นไปยัง (1) อัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลที่มีเขตอำนาจ โดยเกี่ยวกับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ และการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศ หรือการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐระหว่างประเทศ (2) อัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลที่มีเขตอำนาจ เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ร่ำรวยผิดปกติ (4) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ แล้วแต่กรณีเพื่อดำเนินคดีเกี่ยวกับ การจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน หรือยื่นบัญชีอันเป็นเท็จ (5) ศาลฎีกา เพื่อดำเนินคดีกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง (6) ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อดำเนินคดีการฝ่าฝืนมาตรา 144 ของรัฐธรรมนูญว่า ด้วยการห้ามแปรญัตติเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

มาตรา 111 ในกรณีที่เป็นการดำเนินคดีกับบุคลตามมาตรา 56 ว่าด้วยการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้อัยการสูงสุดฟ้องคดีตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

มาตรา 115 ในกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับฟ้องตามมาตรา 111 ให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา เว้นแต่ศาลฎีกาฯ จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ในกรณีที่ศาลฎีกาฯพิพากษาผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด ให้ผู้ต้องหาพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปี ด้วยหรือไม่ก็ได้ โดยผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง จะไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด การพิจารณาของศาลฎีกาฯ ให้นำสำนวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นหลักการพิจารณาโดยใช้ระบบไต่สวน

มาตรา 136 เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริง ตามการเข้าชื่อกล่าวหาบุคคลว่า มีการกระทำฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมอย่างร้ายแรง หากมีมติไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เห็นว่าผู้นั้นมีพฤติการณ์ทำผิดตามที่ไต่สวน ให้กรรมการ ป.ป.ช.เสนอเรื่องให้ศาลฎีกาวินิจฉัย หากศาลฎีการับฟ้อง ให้นำมาตรา 115 มาบังคับใช้

มาตรา 137 เมื่อได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้จัดทำโครงการหรืออนุมัติหรือจัดสรรงบประมาณ ที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 144 ของรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี รายจ่ายเพิ่มเติม การแปรญัตติที่ทำให้ ส.ส. ส.ว. กมธ.มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรืออ้อม ให้กรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการสอบสวนทางลับโดยพลัน โดยการสอบสวนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่กรรมการ ป.ป.ช.กำหนด

หมวด 6 การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม

มาตรา 154 ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดดำเนินกิจการดังต่อไปนี้ (4) เข้าไปมีส่วนได้เสียในฐานะเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงาน หรือลูกจ้างในธุรกิจของเอกชน ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบของหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่รัฐผู้นั้นสังกัด หรือปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งโดยสภาพของผลประโยชน์ของธุรกิจของเอกชนนั้นอาจขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชน์ทางราชการ หรือกระทบต่อความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น

มาตรา 155 ให้นำมาตรา 154 มาใช้บังคับกับการดำเนินกิจการของผู้ซึ่งพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมาแล้วยังไม่ถึง 2 ปีโดยอนุโลม เว้นแต่การเป็นผู้ถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ในบริษัทมหาชน ซึ่งมิใช่บริษัทที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ

หมวด 11 บทกำหนดโทษ

มาตรา 217 ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กรรมการ ป.ป.ช. กรรมการไต่สวนพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลหรือคณะบุคคลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมาย ผู้ใดปฏิบัติหน้าที่ โดยขาดความเที่ยงธรรม กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ต้องระวางโทษ 2 เท่าของกฎหมายที่กำหนดสำหรับความผิดนั้น

บทเฉพาะกาล

มาตรา 219 ให้ประธาน ป.ป.ช. และกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้บังคับใช้ ซึ่งได้รับการสรรหาและแต่งตั้ง โดยคุณสมบัติของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.พ.ศ.2542 และแก้ไขเพิ่มเติม ยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไปจนกว่าจะถึงคราวออกตาวาระ หรือดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบ 9 ปี โดยไม่นำบทบัญญัติมาตรา 216 และมาตรา 218 ของรัฐธรรมนูญมาบังคับใช้

มาตรา 221 ให้กรรมการ ป.ป.ช.ประจำจังหวัดที่ได้รับการคัดเลือกและแต่งตั้งไว้แล้ว ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ เป็น ป.ป.ช.ประจำจังหวัดต่อไป จนกว่าจะครบวาระ 4 ปี นับตั้งแต่วันที่ประกาศแต่งตั้ง เว้นแต่เป็นบุคคลซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ หรือมีเหตุให้ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image