เปิดร่างแก้ไข พ.ร.ก.ประมง ฉบับปลดล็อกแก้ ‘ไอยูยู’

เปิดร่างแก้ไข พ.ร.ก.ประมง ฉบับปลดล็อกแก้ ‘ไอยูยู’

หมายเหตุสาระสำคัญส่วนหนึ่งของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 พ.ศ. … จำนวน 36 มาตรา ที่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเอกฉันท์ 416 เสียง รับหลักการ พร้อมกับตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ 37 คน มาพิจารณา โดยใช้ร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นร่างหลัก เพื่อแก้กฎหมายการทำประมงผิดกฎหมายและไร้การควบคุม หรือ IUU จนส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประมงของประเทศ

ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558

Advertisement

มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 4 บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนกิจการประมง การจัดระเบียบการประมงของประเทศไทย และคุ้มครองการประกอบอาชีพการประมง และที่เกี่ยวเนื่อง ควบคู่ไปกับการรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในภาวะที่เป็นแหล่งอาหารของมนุษยชาติและการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน สร้างและส่งเสริมการมีส่วนร่วม ของประชาชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา ฟื้นฟู และคุ้มครองสภาพสิ่งแวดล้อมให้ดำรงอยู่ในสภาพที่เหมาะสม รวมทั้งป้องกันมิให้มีการทำการประมงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมโดยสอดคล้องกับแนวทางและเป็นไปตามมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับตามหลักสากล ภายใต้วัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้

(1) เพื่อให้การบริหารจัดการด้านการประมงและการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล มีการรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลอย่างครบถ้วนและถูกต้อง

Advertisement

(2) เพื่อปกป้องคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการประมงที่ถูกกฎหมายในทุกวิถีทางโดยสอดคล้องกับวิถีชีวิตที่แตกต่างหลากหลายเพื่อให้เกิดการทำประมงที่ยั่งยืน

(3) เป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในน่านน้ำไทยและน่านน้ำอื่นใดที่รัฐไทยมีอำนาจตามพันธกรณีที่เกี่ยวข้อง เพื่อความยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุด

(4) เพื่อกำหนดมาตรการในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ทั้งที่เกิดจากเรือประมงไทยและเรือประมงต่างชาติโดยเจตนาในการกระทำความผิด

(5) มีการสำรวจ วิจัยและใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดเพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในน่านน้ำไทย นำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุดสอดคล้องกับแนวทางการรักษาสมดุลของระบบนิเวศและหลักการป้องกันล่วงหน้าเพื่อรักษาหรือฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในระดับที่สามารถก่อให้เกิดผลิตผลสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน

(6) เพื่อป้องกันและขจัดการทำการประมงที่เกินศักย์การผลิตและขีดความสามารถในการทำการประมงส่วนเกิน ตลอดจนควบคุมมิให้การทำการประมงมีผลบั่นทอนความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำ

(7) เพื่อบังคับใช้มาตรการตามที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนดนี้อย่างเป็นระบบและเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย

(8) เพื่อกำหนดสิทธิในการทำการประมงในน่านน้ำไทย และส่งเสริมการประมงในน่านน้ำไทยเพื่อความยั่งยืน

(9) ส่งเสริมความร่วมมือกับรัฐอื่น ภาคเอกชน และองค์การระหว่างประเทศ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนดนี้

(10) เพื่อส่งเสริมการประมงนอกน่านน้ำไทยให้ปฏิบัติตามข้อตกลงและพันธกรณีระหว่างประเทศ

(11) เพื่อสร้างระบบติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำการประมงให้มีประสิทธิภาพ

(12) เพื่อให้มีระบบการสืบค้นที่มีประสิทธิภาพและสามารถตรวจสอบที่มาของสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำได้ตั้งแต่การทำการประมงไปจนถึงผู้บริโภค

(13) กำหนดโทษทางปกครองและโทษทางอาญาให้ได้สัดส่วนและเหมาะสม เพื่อป้องกันการกระทำความผิด”

มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า “ทะเลชายฝั่ง” ในมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ทะเลชายฝั่ง” หมายความว่า ทะเลที่อยู่ในราชอาณาจักรนับจากแนวชายฝั่งทะเล ออกไปสามไมล์ทะเล เว้นแต่ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ จะออกกฎกระทรวงกำหนดให้เขตทะเลชายฝั่งในบริเวณใดมีระยะนับจากแนวชายฝั่งทะเลออกไปน้อยหรือมากกว่าสามไมล์ทะเลก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งจุดห้าไมล์ทะเลและไม่เกินสิบสองไมล์ทะเล โดยให้มีแผนที่แสดงแนวเขตบริเวณที่กำหนด ท้ายกฎกระทรวงด้วย หรือในกรณีที่พื้นที่ชายฝั่งทะเลมีข้อจำกัดตามลักษณะทางกายภาพ กฎกระทรวงดังกล่าวจะกำหนดเขตทะเลชายฝั่งให้มีระยะน้อยกว่าหนึ่งจุดห้าไมล์ทะเลก็ได้”

มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า “ประมงพื้นบ้าน” ในมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ประมงพื้นบ้าน” หมายความว่า การทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่งและทะเลนอกชายฝั่ง ไม่ว่าจะใช้เรือประมง หรือใช้เครื่องมือโดยไม่ใช้เรือประมง ทั้งนี้ ที่มิใช่เป็นประมงพาณิชย์”

มาตรา 6 ให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า “โรงงาน” ในมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560

มาตรา 7 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสี่ของมาตรา 9แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558

“ให้กรมประมงรวบรวมสถิติการประมงตามวรรคหนึ่ง จัดทำเป็นรายงานประจำปีและเปิดเผยผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้ประชาชนทราบ ทั้งนี้ จะต้องจัดทำให้แล้วเสร็จและเผยแพร่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคมของปีถัดไป”

มาตรา 8 ให้ยกเลิกมาตรา 30/1 มาตรา 11 และมาตรา 31/1 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง
(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560

มาตรา 9 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 1แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 13 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า ‘คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ’ ประกอบด้วย

(1) นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ

(2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธานกรรมการ

(3) ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง

(4) ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ และ

(5) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง จำนวนไม่เกินสิบคน เป็นกรรมการ”

มาตรา 12 ให้ยกเลิกความในมาตรา 26 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 26 ให้มีคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด ในจังหวัดที่รัฐมนตรีประกาศ กำหนด ประกอบด้วย

(1) ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ

(2) ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนกรมเจ้าท่า อัยการจังหวัดซึ่งเป็นหัวหน้าที่ทำการอัยการจังหวัด พาณิชย์จังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ผู้แทนศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลจังหวัดเฉพาะจังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับชายฝั่งทะเล และนายอำเภอในเขตท้องที่ที่มีการประมง เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง

(3) นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และประธานสภาเกษตรกรจังหวัดเป็นกรรมการ

(4) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจำนวนไม่เกินสิบสามคน เป็นกรรมการ

(5) ประมงจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการในจังหวัดใดมีอาณาเขตติดต่อกับชายฝั่งทะเลหรือแม่น้ำโขง ให้มีผู้แทนกองทัพเรือเป็นกรรมการโดยตำแหน่งเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน”

มาตรา 13 ให้ยกเลิกความในมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 32 ผู้ใดจะทำการประมงพื้นบ้านโดยใช้เรือประมง หรือเครื่องมือที่มีขนาดหรือลักษณะตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ต้องเป็นบุคคลธรรมดาผู้มีสัญชาติไทย และได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายการออกใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุจำนวนและประเภทเครื่องมือทำการประมงที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทำการประมง พื้นที่การทำการประมง หรือเงื่อนไขอื่นใดที่จำเป็นเพื่อให้สอดคล้องกับแผนบริหารจัดการการประมง และในกรณีเป็นการทำการประมงโดยใช้เรือประมงให้ออกให้แก่เจ้าของเรือประมงและสำหรับเรือประมงแต่ละลำ”

มาตรา 18 ให้ยกเลิกความในมาตรา 50 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 50 ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำไทยในเขตทะเลหลวงต้องมีผู้สังเกตการณ์ประจำอยู่ในเรือประมงหรือมีระบบสังเกตการณ์อื่นใด (e-observer) ตามหลักเกณฑ์ขององค์การระหว่างประเทศที่มีเขตอำนาจเหนือพื้นที่ที่ตนเข้าไปทำการประมงกำหนดหรือตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด ผู้สังเกตการณ์ต้องไม่ใช่บุคคลซึ่งมีหน้าที่อื่นใดในเรือประมง และต้องมีลักษณะตามที่อธิบดีประกาศกำหนดด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการฝึกอบรม และการขึ้นทะเบียนผู้สังเกตการณ์ ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด”

มาตรา 24 ให้ยกเลิกความใน (3) ของมาตรา 81 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(3) แจ้งการเข้าออกทำเทียบเรือประมงทุกครั้งเมื่อออกทำการประมงหรือกลับเข้าฝั่ง ที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด และในกรณีเข้าเทียบท่าเพื่อขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือประมง ต้องส่งมอบสำเนาสมุดบันทึกการทำการประมง และเอกสารหลักฐานอื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนดด้วย”

มาตรา 25 ให้ยกเลิกความในมาตรา 82 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 82 ก่อนนำเรือประมงตามมาตรา 81 ออกจากท่าเทียบเรือประมงเจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือต้องนำเอกสารเกี่ยวกับทะเบียนเรือ ใบอนุญาตใช้เรือ ใบอนุญาตให้ทำการประมง จำนวนรายชื่อและหนังสือคนประจำเรือ หรือหลักฐานการอนุญาตตามมาตรา 83 ของคนประจำเรือที่จะออกไปพร้อมกับเรือประมง และหลักฐานเกี่ยวกับการจัดระบบความปลอดภัยสุขอนามัย และสวัสดิภาพในการทำงานของคนประจำเรือตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดี ประกาศกำหนด ยกเว้นเรือที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทยประเภทการใช้ทำการประมงตามมาตรา 81 ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบจำนวนรายชื่อคนประจำเรือได้ตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย ไม่ต้องแสดงจำนวนรายชื่อและหนังสือคนประจำเรือ

ในกรณีที่เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือไม่ยื่นเอกสารและหลักฐานตามวรรคหนึ่ง หรือการจัดระบบความปลอดภัย สุขอนามัย และสวัสดิภาพในการทำงานของคนประจำเรือไม่เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สั่งห้ามมิให้นำเรือออกจากท่าเทียบเรือประมงหรือสั่งให้นำเรือประมงเข้าเทียบท่าได้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image