ปลัด มท.นำทีมลุยปักษ์ใต้ โค้ชชิ่งแฟชั่นสมัยใหม่ สืบสานภูมิปัญญาผ้าไทย

ปลัด มท.นำทีมลุยปักษ์ใต้ โค้ชชิ่งแฟชั่นสมัยใหม่ สืบสานภูมิปัญญาผ้าไทย

ปลัดมหาดไทย นำทีมดีไซเนอร์และผู้เชี่ยวชาญผ้าไทยลงพื้นที่เมืองปักษ์ใต้ โค้ชชิ่งถ่ายทอดความรู้แฟชั่นสมัยใหม่ สืบสานภูมิปัญญาผ้าไทย ยกระดับต่อยอดแนวทางการตลาด และบรรจุภัณฑ์ สู่การสร้างรายได้ และอาชีพ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนคนไทยอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ เวลา 09.00 น. ที่ห้องภูผาเมฆ ชั้น 3 โรงแรมทีอาร์ร็อคฮิลล์ ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างการรับรู้และเผยแพร่พระอัจฉริยภาพทางด้านการอนุรักษ์และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาการทอผ้าของไทยของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ครั้งที่ 3 พร้อมบรรยายพิเศษ “พระอัจฉริยภาพด้านการอนุรักษ์และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาการทอผ้า” โดยมี นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา, ว่าที่ร้อยตรี ตระกูล โทธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส, นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี, นายมาหะมะพีสกรี วาแม, นายอำนวย พิณสุวรรณ, นายเศวต เพชรนุ้ย, นายอภิชาติ สาราบรรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา, ดร.ยงยุทธ สุวรรณบุตร ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์นายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา, นายจรัญ อินทสระ ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน, นายธนิต ภูมิถาวร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย, ดร.ศรินดา จามรมาน, นายศิริชัย ทหรานนท์, ผศ.ดร รวิเทพ มุสิกะปาน, ดร.กรกลด คำสุข, ดร.กิติศักดิ์ เยาวนานนท์, นายนุวัฒน์ พรมจันทึก, ดร.ฐิศิรักน์ โปตะวณิช คณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก หัวหน้าส่วนราชการ เด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ในพื้นที่ รวมถึงผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย Young OTOP และผู้ที่สนใจพัฒนาและต่อยอดภูมิปัญญาด้านผ้าไทย รวมกว่า 200 คน ร่วมในงาน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างการรับรู้และเผยแพร่พระอัจฉริยภาพทางด้านการอนุรักษ์ และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาการทอผ้าของไทยของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาฯ นี้ เป็นโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อต่อยอดแนวทางการพัฒนารูปแบบผ้าไทยให้มีความทันสมัยตามพระดำริ ซึ่งในปี 2566 ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยร่วมกับสมาคมแม่บ้านมหาดไทย โดย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย น้อมสำนึกในพระกรุณาคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พระราชทานแนวทางพระดำริ ทำให้ทุกวันนี้ ผืนผ้าไทยทั่วประเทศ ได้รับการพัฒนาทักษะและต่อยอดผู้ประกอบการ ช่างทอผ้า จนมีลวดลายที่สวยงาม ทันสมัย และเป็นผืนผ้าที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

Advertisement

ด้วยการจัดประกวดออกแบบตัดเย็บโดยเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ทั่วประเทศ และเชิญชวนให้มีการเดินแบบผ้าไทยตามโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกทั้งในส่วนกลางและในส่วนภูมิภาค ซึ่งทำให้เกิดการตื่นตัวในการออกแบบตัดเย็บและการสวมใส่ผ้าไทยเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นที่มาของการเชื้อเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย มาร่วมออกแบบการฝึกอบรมเพื่อร่วมกันขยายผลแนวพระดำริให้ผืนผ้าไทยได้รับความนิยมชมชอบเป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ผู้เข้ารับการฝึกอบรมในวันนี้คือผู้ที่เป็นความหวังของการต่อยอดโครงการพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ทุกท่านคือผู้ขับเคลื่อนขยายผลในช่วงปลายน้ำ คือ การออกแบบตัดเย็บและการทำบรรจุภัณฑ์เพื่อจำหน่ายสู่ผู้บริโภค ซึ่งองค์ความรู้ที่คณะวิทยากรถ่ายทอดให้กับทุกท่านในวันนี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ตลอดจนทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ในการร่วมกันสนองแนวพระดำริ ก่อเกิดออกดอกออกผลยกระดับภูมิปัญญาผ้าไทยได้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น

“นับเป็นพระกรุณาธิคุณที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานแนวพระดำริในการพัฒนาภูมิปัญญาผ้าไทย นับเนื่องตั้งแต่การเสด็จทรงงานบ้านดอยกอย ตำบลสว่าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โดยทรงถ่ายทอดโค้ชชิ่งการ “สืบสาน รักษา และต่อยอด” ภูมิปัญญาผ้าไทยของผ้าย้อมครามให้กับแม่ถวิล อุปรี ประธานกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย จังหวัดสกลนคร และสมาชิกกลุ่ม ซึ่งในอดีตมีรายได้จากการขายผ้าย้อมครามเพียง 400 บาท/เดือน แต่ภายหลังจากที่พระองค์เสด็จไปพระราชทานแนวทางการพัฒนาผ้าย้อมคราม ทั้งการปรับเปลี่ยนโทนสีของผ้าให้มีความทันสมัย ทำให้สีที่เข้มอ่อนลง หรือแพนโทน ทำให้ทุกวันนี้พี่น้องประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 15,000 บาท/เดือน พร้อมทั้งพระราชทานหนังสือ THAI TEXTILES TREND BOOK ที่ทรงเป็นบรรณาธิการ เพื่อเป็นแนวทางให้กับประชาชนผู้ประกอบการกลุ่มทอผ้า ได้ยกระดับงานผลิตภัณฑ์จากการทำงานหัตถศิลป์ หัตถกรรม ทำให้ผลิตภัณฑ์ผ้าไทยมีความหลากหลาย นำไปสู่การสร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนและลูกหลานให้ดีขึ้นได้ ซึ่งในปัจจุบันนี้ บ้านดอนกอยได้มีสถานที่ถ่ายทอดงานหัตถศิลป์และงานหัตถกรรมไทย เป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้ผ้าย้อมคราม ผ้ามัดหมี่ และผ้าทอประเภทต่างๆ อยู่ในที่เดียวกัน มีกระบวนการถ่ายทอดที่จะทำให้เกิดความยั่งยืน คือ การถ่ายทอดให้กับลูกหลานเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ และการถ่ายทอดให้กับผู้คนที่สนใจในการศึกษาเรียนรู้แบบ Quick Win ภายใต้ศูนย์เรียนรู้ ชื่อว่า “วิชชาลัยดอนกอย วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน”” นายสุทธิพงษ์กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระวิริยะ อุตสาหะ และความมุ่งมั่นที่จะสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการ “สืบสาน รักษา และต่อยอด” เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทำให้พี่น้องประชาชนได้มีความสุข ดังพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และพระราชดำรัส “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ทุกศาลากลางจังหวัดและทุกที่ว่าการอำเภอทั่วประเทศ ได้เชิญไปติดไว้เพื่อเตือนใจพวกเราผู้เป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทั้งหมดมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการทำให้ประเทศชาติมั่นคงและประชาชนมีความสุข นอกจากนี้ พระองค์ได้พระราชทานพระดำริ Sustainable Fashion เพื่อให้พวกเราตระหนักและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เป็นการอนุรักษ์โลกและรักษาสุขภาพอนามัยของประชาชนกลุ่มผู้ประกอบการผ้าไทย โดยการนำเอาวัสดุตามธรรมชาติมาเป็นสีย้อมผ้า อีกทั้งน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ทำให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ และไม่ทำลายโลกใบเดียวนี้ของเรา ซึ่งการใช้วัสดุธรรมชาติมาเป็นสีย้อมผ้า ทำให้เราได้ค้นพบสีที่เป็นโทนสีแปลกใหม่เพิ่มเติม อีกทั้งทำให้เกิดลวดลายใหม่ๆ รวมไปถึงการออกแบบการตัดเย็บในรูปแบบทันสมัย เป็นที่นิยมชมชอบและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด

Advertisement

“สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงคิดคำนึงตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ การทำอย่างไรให้ทุกคนมีอาชีพ ตลอดจนรักษาโลกของเรา เพราะพวกเรามีโลกเพียงใบเดียว เป็นที่มาของ “Sustainable fashion” ซึ่งเป็นแนวทางการทำให้เกิดความยั่งยืน ที่พระองค์ท่านได้พระราชทานมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยในการทำให้เกิด “หมู่บ้านยั่งยืน” (Sustainable Village) โดยน้อมนำแนวทางตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่การสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนให้กับคนในชุมชน อาทิ การมีความมั่นคงทางอาหาร การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการขยะ สืบสานภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ ทำให้ชุมชนและบ้านเมืองมีความเข้มแข็ง ประชาชนไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ช่วยกันดูแลผู้ป่วย ผู้ยากไร้ และกลุ่มเปราะบาง เสริมสร้างความรักความสามัคคี สร้างระบบกลุ่มบ้าน สร้างความเข้มแข็งของทีมผู้นำชุมชน ภายใต้หลักการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน

ซึ่งแนวพระดำริทั้งหมดนี้ มีจุดมุ่งหมายในการให้พวกเรามีความสุข มีอาชีพ มีรายได้ภายใต้การพึ่งพาตนเอง จึงขอให้พี่น้องข้าราชการกระทรวงมหาดไทย และลูกหลานเยาวชนคนรุ่นใหม่ทุกคน ได้นำเอาสิ่งที่ดีไปขับเคลื่อนขยายผลให้กับพี่น้องประชาชน เช่น การส่งเสริมการสวมใส่ผ้าไทยตามโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ทำให้พี่น้องประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ การทำงาน Hand Craft ช่วยให้เกิดการพัฒนาฝีมือและทักษะให้กับเยาวชน ตลอดจนเกิดเป็นอาชีพ การพัฒนาสินค้าและบรรจุภัณฑ์และขอให้พวกเรามุ่งมั่นและอดทน ในการที่จะเรียนรู้และฝึกฝนไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดชิ้นงานและผลิตภัณฑ์ ขอให้การอบรมในครั้งนี้ได้เกิดสิ่งที่ดีและต่อยอดขยายผลจนบรรลุผลสำเร็จที่พวกเราทุกคนจะช่วยกันนำเอาสิ่งที่ดีไปขับเคลื่อนและขยายผล ยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนคนไทยอย่างยั่งยืน

นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ดำเนินการสานต่อพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน และการขับเคลื่อนโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการพระราชทานลายผ้าให้แก่ศิลปินช่างทอผ้าและหัตถกรรมไทยทั่วประเทศ ด้วยพระปณิธานในการอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมผ้าทอ การต่อยอด และการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทย ผนวกกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เห็นชอบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ และสวมใส่ผ้าไทย จังหวัดสงขลาได้ผลักดันมาตรการดังกล่าวในการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชนภูมิปัญญาเพื่อพัฒนาผ้าไทย จำนวน 2 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นเกาะยอ วัดโคกเบี้ยว ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา และศูนย์เรียนรู้ชุมชนภูมิปัญญาบ้านนาเสมียน ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา สนับสนุนให้ผู้ประกอบการผ้าร่วมส่งผ้าประกวดในการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ประจำปี พ.ศ.2566

ซึ่งจังหวัดสงขลาสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ เหรียญทอง ประเภท ผ้าบาติก มัดย้อม เขียนเทียน ผลงานของนายธณกร สุขเมตตา จากกลุ่มมีดีนาทับ อำเภอจะนะ อีกทั้งพัฒนาลายผ้าไทยจากลายราชวัตรดั้งเดิม ต่อยอดเป็น “ลายราชวัตรยกดอกสะเดา” ตลอดจนได้รณรงค์ส่งเสริม ให้ประชาชนชาวจังหวัดสงขลาสวมใส่ผ้าไทยทุกวัน และกำหนดจัดกิจกรรมเดินแบบผ้าไทย ในงานประจำปีและงานกาชาดจังหวัดสงขลา มีกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการผ้า จำนวน 46 กลุ่ม แบ่งเป็น กลุ่มผู้ผลิตผ้าทอ จำนวน 10 กลุ่ม ผู้ผลิตผ้าบาติกมัดย้อม จำนวน 14 กลุ่ม และกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้า จำนวน 22 กลุ่ม โดยในปี พ.ศ.2566 จนถึงปัจจุบัน สามารถสร้างรายได้จากการผลิตผ้าได้มากกว่า 70 ล้านบาท

“สำหรับการจัดกิจกรรมอบรมในครั้งนี้ ผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับความรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและงานหัตถกรรม มาถ่ายทอดองค์ความรู้หลากหลายสาขาวิชาที่เป็นการอนุรักษ์และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรม ได้แก่ 1.การสร้างแบรนด์ให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมสู่ตลาดสากล 2.การต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมตามเทรนด์แฟชั่นที่ร่วมสมัย 3.การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด 4.การผลิตเส้นใยและการย้อมสีธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BCG) และ 5.กลยุทธ์ทางการตลาดและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้า ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาและเพิ่มพูนองค์ความรู้ทักษะการทอผ้าของตนเองให้ดียิ่งขึ้น เพื่อร่วมกันสืบสาน รักษา และต่อยอดภูมิปัญญาด้านผ้าไทยสู่ชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน” นายสมนึกกล่าวทิ้งท้าย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image