เรียงคนมาเป็นข่าว สเปเชียล วันอาทิตย์ที่ 25 กุมภาพันธ์

เรียงคนมาเป็นข่าว สเปเชียล วันอาทิตย์ที่ 25 กุมภาพันธ์

⦁…เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กมธ.อว.) ที่มี ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เป็นประธาน นำคณะกรรมาธิการ ประกอบด้วย ณกร ชารีพันธ์ ส.ส.มุกดาหาร พรรคก้าวไกล, เพ็ญชิสา หงษ์อุปถัมภ์ชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย, ละออง ติยะไพรัช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย,ปรเมษฐ์ จินา ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรครวมไทยสร้างชาติ และ ชัชวาล แพทยาไทยส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคไทยสร้างไทย ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการ พร้อมด้วย อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เดินทางไปจังหวัดกาฬสินธุ์ จุดประสงค์เพื่อไปดูงานด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่โดดเด่นทางด้านงานวิจัย และได้รับรางวัลมากมายทั้งสองแห่ง

โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นมหาวิทยาลัยที่มีงานวิจัยและพัฒนาติดอันดับโลก จาก THE Impact Rankings 2023 ได้อันดับ 9 ของโลก และคุณภาพการศึกษาอยู่อันดับ 33 ของโลก จากการจัดอันดับของ Times Higher Education รวมถึงมีบัณฑิตจบการศึกษาแล้วและมีงานทำ 75% ผู้ประกอบการพึงพอใจกับคุณภาพบัณฑิตถึง 80%

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยขอนแก่นขับเคลื่อนให้มีการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม มีหลักสูตรการเรียนการสอนที่ทันยุคทันสมัย ตรงกับความต้องการของตลาด ผลิตบัณฑิตเพื่อออกไปรับใช้สังคมและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศชาติ ถึง 304 หลักสูตร เช่น หลักสูตรรถไฟฟ้าความเร็วสูง High Speed Train ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยแรกที่เปิดตัวทำหลักสูตรนี้ โดยใช้นวัตกรรมหลักสูตร 2 ปริญญา ร่วมกับมหาวิทยาลัยเซ้าท์เวสต์เจียวทง ประเทศจีน เปิดรับสมัครแล้วในปีการศึกษา 2566 ที่ผ่านมา หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต วิศวกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาผู้ประกอบการทางด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีด้านการตลาด ตอบโจทย์โลกปัจจุบัน เป็นต้น

Advertisement

ส่วนผลงานวิจัยที่น่าสนใจ มีตั้งแต่เรื่องของการทำแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่มีการตั้งโรงงานต้นแบบแล้ว และกำลังวิจัยแบตเตอรี่โซเดียมไอออนต่อ เพราะภาคอีสานได้ชื่อว่ามีแร่โปแตชมากที่สุดในประเทศไทย งานวิจัยชุดตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับสำเร็จรูปแบบใช้ได้ง่ายและรวดเร็ว เพื่อแก้ไขปัญหาและกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีของคนอีสานที่ชอบกินปลาดิบน้ำจืด ซึ่งเป็นที่มาของโรค งานวิจัยชิ้นนี้กำลังจะผลิตในเชิงพาณิชย์ นวัตกรรมชุดทดสอบเพื่อตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมทางด้านอาหารที่กำลังศึกษาอยู่ เช่น โครงการแมลงกินขยะอินทรีย์ เป็นการกำจัดขยะเศษอาหารเหลือโดยใช้แมลง โครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้เป็นพืชยืนต้น ปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวได้ 3-4 ครั้ง ฯลฯ

สำหรับมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เกิดจากการควบรวมของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ และ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ เป็นสถาบันการศึกษาที่ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นประจำปี 2565 จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ในเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจนให้ชาวบ้าน ที่มีความโดดเด่นอย่างมาก คือ โครงการ Kalasin Happiness Model ซึ่งสามารถทำให้คนจนใน 6 อำเภอของกาฬสินธุ์อยู่ดีกินดี ก้าวพ้นจากความยากจน โดยจากเดิมครัวเรือนยากจนที่เป็นอยู่มีรายได้เดือนละ 2,000 บาท เมื่อเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นเป็น 6,000-8,000 บาท ต่อเดือนต่อครัวเรือน โครงการนี้ยังยกระดับมูลค่าความช่วยเหลือในปีแรกได้ประมาณ 6 ล้านบาท และในปี 2567 เพิ่มมากถึง 12 ล้านบาท เป็นผลงานที่คณะกรรมาธิการ ประทับใจอย่างยิ่ง อีกทั้งมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ได้ชื่อเป็น “มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่” ติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศ ในการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ในภาคอีสาน

Advertisement

หลังจบการดูงาน คณะกรรมาธิการ รับปากผู้บริหารทั้งสองมหาวิทยาลัยจะนำสิ่งที่ได้รับฟัง ไม่ว่างานวิจัยหรือปัญหาที่มีอยู่ ส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวง อว.และกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการต่อ เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาและสร้างอนาคตประเทศตามนโยบายรัฐบาล ขณะที่ประธาน กมธ.อว. “ฐากร” ซึ่งพื้นเพเป็นคนกาฬสินธุ์อยู่แล้ว ให้ความสนใจเป็นพิเศษ อยากขยาย Kalasin Happiness Model ให้เต็มพื้นที่ทั้งจังหวัด เพื่อก้าวข้ามพ้นความยากจน เพราะสถิติของประเทศ ประชากรกาฬสินธุ์ยากจนเป็นอันดับ 3 ติดต่อกันมา 5 ปี เฉพาะ “ยางตลาด” อำเภอเดียว มีรายได้ต่ำมาก วันละ 93 บาทต่อคนเท่านั้นเอง !!

คุณอ้อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image