บทนำมติชน : แก้หมอกควัน

พื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน ประสบปัญหาหมอกควัน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายนประจำทุกปีโดยที่ยังแก้ปัญหาไม่ตก ปีนี้จังหวัดต่างๆ เช่น เชียงใหม่ เริ่มใช้มาตรการ 60 วัน ห้ามเผาเด็ดขาดเพื่อลดปัญหา ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ไปจน 15 เมษายน ขณะที่ในภาพรวมนายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย กำชับ เพิ่มความเข้มข้น ในการควบคุมไฟป่าและหมอกควันตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป พร้อมสั่งการ ตั้งกองอำนวยการระดับจังหวัด และอำเภอ เป็นศูนย์กลางประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง ให้ระดมกำลังจัดทำแนวกันไฟ เพิ่มเจ้าหน้าที่ ความถี่การลาดตระเวน ประกาศเขตห้ามเผาตามข้อตกลงแต่ละชุมชน

9 จังหวัดภาคเหนือตอนบนได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันปกคลุม คุณภาพอากาศไม่ได้มาตรฐานในช่วงหน้าแล้งนานนับสิบปี ภาครัฐสรุปว่า สาเหตุหลัก เกิดจากการเผาในพื้นที่เกษตร การเผาวัชพืชริมทาง ไฟป่า และการเผาในชุมชน ก่อให้เกิดหมอกควัน ฝุ่นละออง เถ้า เขม่าควัน ประกอบกับลักษณะภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะ สภาวะอากาศที่แห้งและนิ่ง ทำให้ฝุ่นละอองแขวนลอยอยู่ในบรรยากาศ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม การป้องกันและแก้ไขปัญหา จึงมุ่งไปที่การควบคุมต้นตอที่เชื่อว่าก่อให้เกิดปัญหาเป็นหลัก ตามผลสรุปสาเหตุของทางราชการ

การที่ภาครัฐตื่นตัว ตระหนักในปัญหา ตั้งแต่เริ่มต้นฤดูกาลนับว่าเป็นเรื่องดี น่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบได้ไม่มากก็น้อย ปัญหาหมอกควัน คุณภาพอากาศส่งผลกระทบอย่างมาก ไม่เพียงแต่สุขภาพ การดำรงชีวิตประจำวัน ที่ในแต่ละปีมีสถิติผู้ป่วยนับล้านคนเท่านั้น หากยังส่งผลต่อสภาวะอากาศของโลก เศรษฐกิจ การเดินทางท่องเที่ยวของประเทศอีกด้วย การกระตือรือร้นของทางการ ชุมชนต่างๆ ร่วมกันรณรงค์งดเผา เป็นวิธีการหนึ่งที่พอช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ก็ดูเหมือนการจำนน ว่าไม่อาจป้องกันมิให้เกิดขึ้นได้ ยอมรับเป็นเหมือนโรคประจำถิ่น ที่ระบาดทุกปี ต้องคอยระแวดระวังอย่างใกล้ชิด รัฐสรุปสาเหตุหลักหมอกควัน อากาศเป็นพิษ เกิดจากการเผาและลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ แต่ก็ไม่ควรหยุดเท่านี้ น่าจะศึกษา ค้นคว้าหาสาเหตุต่อว่า แท้จริงใช่เรื่องนี้หรือไม่ หรือว่าเกิดจากเหตุอื่น เพื่อจะได้แก้ไขที่ต้นตอให้ถูกโรค อย่างที่ชาวบ้านทักท้วงก็น่าสนใจว่า ในอดีตก็มีการเผา เกิดไฟป่า ในพื้นที่แอ่งกระทะเดียวกันนี้เหมือนกัน แต่ก็ไม่มีปัญหา การตั้งข้อสังเกตนี้นับว่าน่าสนใจ จึงไม่ควรมองข้าม ยอมจำนนต่อปัญหา หากแต่ต้องศึกษาค้นคว้าหาสาเหตุต่อโดยไม่หยุดยั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image