ม็อบแรงงาน ฝ่าแผงเหล็กกั้น ปักหลักจับตาสภา รับร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน

ไหนว่าจัดที่ให้? เครือข่ายแรงงานฯ งงใจ ตร. แจ้งม็อบหน้าสภา มาถึงดันต้องรื้อแผง

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา เกียกกาย เขตดุสิต กรุงเทพฯ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน นัดหมายชุมนุมข้างสภา เรียกร้องให้ ส.ส.โหวตเห็นชอบรับหลักการของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับก้าวไกล ในการลงมติวาระที่ 1 ของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

บรรยากาศเวลา 10.00 น. ที่ประตูทางเข้ารัฐสภา เกียกกาย (ฝั่ง ส.ส.) ถนนทหาร น.ส.ธนพร วิจันทร์ แกนนำเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน พร้อมด้วยสมาชิกเครือข่าย ทยอยเดินทางมารวมตัวบริเวณป้อมยามหน้าประตู โดยอยู่ระหว่างรอสมาชิกสหภาพแรงงานมาสมทบ ซึ่งจะมีการปราศรัย เรียกร้องให้ ส.ส.รับร่างหลักการ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ในระหว่างที่กฎหมายเข้าสู่สภา

Advertisement

ตัวแทนเครือข่ายแรงงานกล่าวว่า ทั้งจะมีสมาชิกสหภาพแรงงานจาก จ.สุรินทร์ สระบุรี อ่างทอง ปราจีน สมุทรปราการ ผู้ใช้แรงงานจากทั่วประเทศ จะมาร่วมติดตามร่างกฎหมายฉบับใหม่ ที่จะทำให้เราลืมตาอ้าปากได้

Advertisement

ด้าน น.ส.ธนพร หรือไหม กล่าวว่า เราได้แจ้ง พ.ร.บ.ชุมนุมเรียบร้อยแล้ว สน.บางโพ บอกว่าจะจัดที่จอดรถให้เรียบร้อย แต่พอมาต้องมารื้อแผงเหล็กกั้นออก เราแจ้งเจ้าหน้าที่รัฐสภามาเรียบร้อยแล้ว เพราะเป็นเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน และวันนี้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน เข้าวาระแรก จะเป็นหลักประกันของคนทำงานทุกคน

“เราไม่ได้มาพูดแค่เพื่อคนทำงาน แรงงานในโรงงาน หรืออุตสาหกรรม แต่รวมถึงพี่ๆ สื่อมวลชน ตำรวจ พ่อค้าแม่ค้า แรงงานนอกระบบ วินมอเตอร์ไซค์ พี่น้องไรเดอร์ เคยทำงานแพลตฟอร์ม แม่บ้านในสภา กฎหมายนี้มีความสำคัญมาก

เราจะมาร่วมกัน 95 สหภาพแรงงาน เรียกร้องในข้อเสนอที่เรียกร้องมายาวนาน มี ส.ส.ที่จะนำกฎหมายแรงงานเข้าสู่สภาในวันนี้ เราจึงมาสนับสนุน” น.ส.ธนพรกล่าว

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเครือข่ายแรงงานพรรคก้าวไกล จะยื่นร่างแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ในวันนี้ (28 กุมภาพันธ์) โดยกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับก้าวไกลเป็นการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่ไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมานานกว่า 20 ปี โดยมีสาระสำคัญอยู่ 9 ข้อคือ

1.คนทำงานทุกคนคือแรงงาน : เปลี่ยนนิยาม “ลูกจ้าง” ให้ครอบคลุมทุกรูปแบบการจ้างงาน รวมถึงอาชีพไรเดอร์ ฟรีแลนซ์ และแรงงานอิสระ เพื่อให้แรงงานทุกคนได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน

2.“การจ้างงานรายเดือน” ลูกจ้างต้องได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน คือ 30 วัน รวมถึงค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี วันหยุดพักผ่อนประจำปี และวันลาป่วยตามกฎหมายกำหนด

3.เปลี่ยนรายวันเป็นรายเดือน : ในสถานประกอบการที่มีทั้งการจ้างงานรายวันและรายเดือน ผู้จ้างจะต้องจ้างเป็นรายเดือนทั้งหมด โดยไม่เลือกปฏิบัติ

4.เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทุกปีอัตโนมัติ : กำหนดหลักเกณฑ์การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายปี โดยต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าเงินเฟ้อ เช่น หากได้รับค่าแรง 400 บาท อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3% จะได้รับค่าแรง 412 บาทอัตโนมัติ โดยไม่ต้องรอการประชุมไตรภาคี

5.ทำงาน 40 ชั่วโมง หรือ 5 วันต่อสัปดาห์ : เวลาทำงานรวมทั้งสิ้นของลูกจ้างต้องไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หากเกินต้องได้เงินค่าทำงานนอกเวลา (OT) และนายจ้างต้องจัดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์ไม่น้อยกว่า 2 วัน

6.ลาหยุด 10 วันต่อปี สะสมได้ : ให้ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบ 120 วัน มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 10 วันทำงาน

7.ลาดูแลผู้ป่วย : ลูกจ้างมีสิทธิลาไปดูแลบุคคลในครอบครัว หรือบุคคลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดปีละไม่เกิน 15 วันทำงาน

8.พื้นที่ปั๊มนมในที่ทำงาน : สถานที่ทำงานต้องมีพื้นที่ที่เหมาะสมและอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นในการให้นมบุตร หรือบีบเก็บน้ำนมในที่ทำงาน

9.ห้ามเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน : นายจ้างต้องปฏิบัติต่อลูกจ้างอย่างเท่าเทียม ไม่กีดกัน แบ่งแยก จำกัดสิทธิ ทั้งจากความแตกต่างทางถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ความพิการ หรือความเห็นทางการเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image