ปลัด มท. นำทีมผู้เชี่ยวชาญผ้าไทยลงพื้นที่เมืองชล ถ่ายทอดความรู้คนรุ่นใหม่ ต่อยอดภูมิปัญญา

ปลัด มท. นำทีมผู้เชี่ยวชาญผ้าไทยลงพื้นที่เมืองชล ถ่ายทอดความรู้คนรุ่นใหม่ ต่อยอดภูมิปัญญา

ปลัดมหาดไทย สนองแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” นำทีมดีไซเนอร์และผู้เชี่ยวชาญผ้าไทยลงพื้นที่เมืองชล ถ่ายทอดความรู้แก่คนรุ่นใหม่ภาคตะวันออก เพื่อต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทยให้สอดคล้องแฟชั่นสมัยใหม่ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพื่อประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมรัตนแกรนด์บอลลูม โรงแรมรัตนชล อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างการรับรู้และเผยแพร่พระอัจฉริยภาพทางด้านการอนุรักษ์และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาการทอผ้าของไทยของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ครั้งที่ 4 พร้อมบรรยายพิเศษ “พระอัจฉริยภาพด้านการอนุรักษ์และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาการทอผ้า”

โดยมี นางสาวฐิติลักษณ์ คำพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี, นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน, นางนิภาพร แพภิรมย์รัตน์ รองประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดชลบุรี, ดร.ศรินดา จามรมาน, นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์, นายศิริชัย ทหรานนท์, ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน, ดร.กรกลด คำสุข, ดร.กิติศักดิ์ เยาวนานนท์, นายนุวัฒน์ พรมจันทึก, ดร.ฐิศิรักน์ โปตะวณิช คณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ เด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ในพื้นที่ รวมถึงผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย Young OTOP และผู้ที่สนใจพัฒนาและต่อยอดภูมิปัญญาด้านผ้าไทย รวมกว่า 200 คน ร่วมในงาน

Advertisement

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างการรับรู้และเผยแพร่พระอัจฉริยภาพทางด้านการอนุรักษ์และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาการทอผ้าของไทยของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา นี้ เป็นโครงการที่เปิดพื้นที่ เปิดเวทีให้กับพี ๆ น้องๆ ผู้เป็นอนาคตของชาติ ผู้มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการน้อมนำแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ด้วยการสืบสาน รักษา และต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทย มาทำให้เกิดสิ่งที่ดีต่อชีวิต และยังเป็นการถวายกำลังใจแด่พระองค์ท่านผู้ทรงมีพระปณิธานมุ่งมั่นแน่วแน่ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดงานหัตถกรรมและภูมิปัญญาของคนไทย ด้วยทรงเป็นลูกหลานที่มีพระกตเวทิตาคุณ โดยทรงแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการสนองพระราชปณิธาน “สืบสาน รักษา และต่อยอด” สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจช่วยเหลือพสกนิกรชาวไทย ทรงรื้อฟื้นคืนชีวิตผ้าไทยให้มีลมหายใจเมื่อ 50 ปีก่อน และพระราชกรณียกิจนานัปการ ด้วยการนำเอาความรู้ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย และเครื่องแสดงออกถึงอัตลักษณ์ของความเป็นไทย มาต่อยอดให้มีความทันสมัย

“สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเปรียบเสมือนเป็นขุนพล ‘ทหารเอกของชาติ’ ในการช่วยทำให้สิ่งดีๆ อันเป็นอัตลักษณ์และภูมิปัญญาไทย ที่จะส่งเสริมความมั่นคงของชาติให้คงอยู่ ด้วยพระอัจฉริยภาพ อันสอดคล้องกับพระราชปณิธานที่มุ่งมั่นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันแน่วแน่ที่ทรงอยากเห็นคนไทยมีความสุข ดังพระปฐมบรมราชโองการ ‘เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป’ และพระราชดำรัส ‘ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง’ ซึ่งการที่ประเทศชาติจะมีความมั่นคง ประชาชนจะมีความสุข เราจะต้องช่วยกันแก้ไขในสิ่งที่ผิด ดังที่พระองค์ได้เสด็จไปทรงงานในพื้นที่ต่างๆ เพื่อช่วยผ่าทางตันผ้าไทย ในด้านการออกแบบลวดลาย รูปลักษณ์ บรรจุภัณฑ์ และพระราชทานพระดำรัสมากมายเกี่ยวกับการพัฒนาผ้าไทย”

“จากที่เมื่อก่อนนั้นผ้าไทยไม่ค่อยมีความหลากหลาย มีแต่ลวดลายแบบเดิม สีเข้มๆ ยิ่งเมื่อดูรูปแบบของการตัดเย็บก็ยิ่งแล้วใหญ่ เชย ไม่น่าสวมใส่ ไม่ทันสมัย โดยเมื่อพระองค์พระราชทานแนวพระดำริ ‘ผ้าไทยใส่ให้สนุก’ และพระราชทานลวดลายผ้าแบบต่างๆ ทำให้เกิดความตื่นตัว เกิดกระแสการอยากสวมใส่ผ้าไทยที่เพิ่มพูนขึ้น และด้วยพระวิสัยทัศน์ที่ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน จึงได้พระราชทาน ‘คณะทำงานผ้าไทยใส่ให้สนุก’ เป็นคณะที่เปรียบเสมือนวิชชาลัยผ้าเคลื่อนที่ คล้ายๆ กับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ลงไป coaching ลงไปใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่กับช่างทอผ้าทั่วประเทศ เพื่อหนุนเสริมองค์ความรู้และทักษะการผลิตผ้าที่จะทำให้เกิดการสร้างรายได้ที่เพิ่มพูน และมีคุณภาพงานที่ได้มาตรฐานขึ้น”

Advertisement

“ทั้งนี้ ด้วยพระอัจฉริยภาพ จึงได้ทรงเป็นบรรณาธิการหนังสือ THAI TEXTILES TREND BOOK ที่เป็นคู่มือถ่ายทอดรูปแบบแนวทางให้กับประชาชนผู้ประกอบการกลุ่มทอผ้า และเยาวชน ได้ยกระดับงานผลิตภัณฑ์จากการทำงานหัตถศิลป์หัตถกรรม ทำให้ผลิตภัณฑ์ผ้าไทยมีความหลากหลาย สามารถสวมใส่ได้ในทุกวันและทุกโอกาส ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า อีกด้วย โดยกระทรวงมหาดไทยได้รวบรวมจัดทำเป็นหนังสือเฉลิมพระเกียรติในรูปแบบ E-Book ทาง https://www.thailandotop.org/rachanaree-flipbook และยิ่งกว่านั้น พระองค์ทรงคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของวงจรผ้าไทย จึงพระราชทานพระดำริ Sustainable Fashion “แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” เพื่อให้พวกเราตระหนักและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ทั้งการผลิตผ้าโดยใช้สีธรรมชาติ การพึ่งพาตนเอง ด้วยการปลูกไม้ให้สีธรรมชาติ จนกระทั่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย ได้ยกย่องพระองค์เป็นเจ้าหญิงผู้ทรงคำนึงถึงแนวทางแห่งความยั่งยืนด้านผ้าให้กับประชาชนคนไทยและโลกใบเดียวนี้” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า ด้วยสำนึกในพระกรุณาคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จึงเป็นที่มาของการเชิญคณะผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย นั่นคือ คณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ในพระดำริฯ ผู้ที่ทำให้ทั่วโลกได้ยลโฉมผ้าไทยรูปแบบต่าง ๆ ผ่านการนำเสนอขึ้นเวที “Cat walk” ระดับโลก เพื่อมุ่งขยายฐานลูกค้าผ้าไทยให้กว้างไกล ก่อให้เกิดความยั่งยืนในขั้นต้น มาก่อให้เกิด “ความยั่งยืนในขั้นสุดท้าย” คือ การถ่ายทอดให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ เฉกเช่นโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการฯ ในวันนี้ ซึ่งประกอบด้วยเด็กนักเรียน นักศึกษา กลุ่มผู้ประกอบการผ้าไทยที่จะได้มาพบกับวิทยากรคณาจารย์ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านผ้าไทย ผู้ที่จะมาถ่ายทอดความรู้ ที่สามารถจะนำไปพัฒนาทักษะและการประกอบอาชีพ มาช่วยพัฒนาองค์ความรู้ มากระตุ้นความคิด มาแนะนำแนวทางการพัฒนาลวดลายผ้าไทยประเภทต่างๆ อันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการสร้างวงจรผ้าไทยให้ดียิ่งขึ้นไป คือก่อให้เกิด “Demand Side” ความต้องการซื้อ ที่จะเตะตาต้องใจกับผู้คนให้มาสวมใส่ผ้าไทย

ซึ่งนับเนื่องตั้งแต่การเสด็จไปทรงงาน พระองค์ได้พระราชทานลายผ้า พระราชทานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก พร้อมคณะที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ทำให้สามารถช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการได้เพิ่มขึ้นปีละกว่า 19,901.56 ล้านบาท กลุ่มชาวบ้านได้รับประโยชน์มากกว่า 20,000 กลุ่ม ประชาชนในถิ่นที่ต่าง ๆ มีงาน มีอาชีพ มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีเพิ่มขึ้นมากกว่า 286,000 ครอบครัว อันเป็นการสร้างแรงจูงใจให้คนสนใจเข้ามาสืบสาน รักษา และต่อยอดงานผ้าไทยและหัตถกรรมไทยที่ดีที่สุด ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องชาวไทยในทุกจังหวัด ดังนั้น ทุกท่านที่นั่งอยู่ ณ ที่นี้ จะได้ร่วมกันทำให้ชีวิตของผ้าไทยยืนยาว เพราะทุกคนคืออนาคตและทุกคนคือผู้ที่จะก่อให้เกิดความยั่งยืน

“ดังนั้น เราจึงต้องถ่ายทอดสิ่งที่เป็นภูมิปัญญาไทย วัฒนธรรมไทย ประเพณีไทย อย่างต่อเนื่อง ดังที่กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับสมาคมแม่บ้านมหาดไทยนำโดย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ในการสนองแนวพระดำริ โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ด้วยการจัดแสดงแบบผ้าไทย ด้วยแนวคิด “ผู้นำต้องทำก่อน” และท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดทุกจังหวัด ได้เป็นผู้นำการแสดงแบบผ้าไทยในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้เกิดเม็ดเงินที่ได้จากผ้าไทยหมุนเวียนกลับไปสู่คนในชุมชน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอให้ทุกคนได้โปรดภาคภูมิใจว่า เราเป็นลูกหลานที่ดีของบรรพบุรุษไทย ดังที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงทำให้เห็นเป็นตัวอย่างในการสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการ “สืบสาน รักษา และต่อยอด” งานหัตถศิลป์หัตถกรรมภูมิปัญญาผ้าไทยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน และขอขอบคุณคณะผู้จัดงาน คณะข้าราชการ และพี่ๆ น้องๆ ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ทุกคน ขอให้พวกเราได้ช่วยกันขับเคลื่อนงาน ขยายผลถ่ายทอดให้ถึงชาวบ้านเพื่อนำเอาภูมิปัญญางานหัตถกรรมไทยมาใช้สร้างรายได้ สร้างความมั่นคงให้กับชีวิต สร้างความมั่นคงให้กับประเทศชาติ สร้างความมั่นคงด้านเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม หากเกิดภัยพิบัติหรือสงครามเราทุกคนสามารถผลิตเองเป็นก็จะอยู่รอดได้ ดังพระราชปณิธาน “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” อันเป็น “Key Success” ของพวกเราทุกคนในการร่วมกันขับเคลื่อนพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ให้เกิดความสุขต่อประชาชนคนไทยทุกคนอย่างยั่งยืนตลอดไป

นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย กล่าวว่า การจัดกิจกรรมอบรมในครั้งนี้ ผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับความรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและงานหัตถกรรม มาถ่ายทอดองค์ความรู้หลากหลายสาขาวิชาที่เป็นการอนุรักษ์และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรม ได้แก่ 1. การสร้างแบรนด์ให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมสู่ตลาดสากล 2. การต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมตามเทรนด์แฟชั่นที่ร่วมสมัย 3. การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด 4. การผลิตเส้นใยและการย้อมสีธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BCG) และ 5. กลยุทธ์ทางการตลาดและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้า ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาและเพิ่มพูนองค์ความรู้ทักษะการทอผ้าของตนเองให้ดียิ่งขึ้น เพื่อร่วมกันสืบสาน รักษา และต่อยอดภูมิปัญญาด้านผ้าไทยสู่ชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

ด้าน นางสาวฐิติลักษณ์ คำพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า จังหวัดชลบุรี มีนโยบายส่งเสริมการนำลายผ้าพระราชทาน ไปเป็นต้นแบบให้ข้าราชการ ภาคเอกชน ผู้นำกลุ่มองค์กรและประชาชนสวมใส่ในทุกโอกาสภายใต้โครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้แก่ช่างทอผ้าและผู้ผลิตผ้าของจังหวัดชลบุรี และได้จัดทำมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยของจังหวัดชลบุรี เพื่อรณรงค์ส่งเสริมและให้ข้าราชการภาคเอกชน ผู้นำกลุ่มองค์กรและประชาชนสวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ได้แก่ วันจันทร์ วันพฤหัสบดี วันศุกร์ และในโอกาสที่เหมาะสม ซึ่งในปี 2566 จังหวัดชลบุรีมีรายได้จากการจำหน่ายผ้าไทย จำนวนถึง 11,886,150 บาท นอกจากนี้ ได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการผ้า ร่วมส่งผ้าประกวดในการประกวดผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายดอกรักราชกัญญา และงานหัตถกรรม ประจำปี 2566 ซึ่งจังหวัดชลบุรีสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เหรียญนาก ประเภทผ้าบาติก มัดย้อม เขียนเทียน ผลงานของนางจันทวรรณ ฉัตรวัชกุล กลุ่มบาติกเพ้นท์อำเภอศรีราชา และสนับสนุนให้ผู้ผลิตผ้าใช้สีธรรมชาติจากพืชที่มีอยู่ในท้องถิ่นในการย้อมผ้า เช่น การย้อมสีจากเปลือกประดู่ต้นไม้ประจำจังหวัดชลบุรี เปลือกกระโดน เพกา สะเดา เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image