‘วราวุธ’ ชู 5 แนวทาง สู้วิกฤตเด็กเกิดน้อย-สังคมสูงอายุ

‘วราวุธ’ชู5แนวทาง สู้วิกฤตเด็กเกิดน้อย-สังคมสูงอายุ
วราวุธ ศิลปอาชา

หมายเหตุ – นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) กล่าวปาฐกถาในการเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทยผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร” เป็นความร่วมมือระหว่าง วิทยาลัยประชากรศาสตร์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการจุฬาอารี และธนาคารโลก (World Bank) พร้อมทั้งแถลงนโยบายการขับเคลื่อนงาน เพื่อให้สังคมตระหนักถึงประเด็นท้าทายของประชากร ส่งผลสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของประชากรทุกช่วงวัยและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ รวมทั้งให้ทุกภาคส่วนร่วมกันออกแบบนโยบาย มาตรการ และขับเคลื่อนการพัฒนาความมั่นคงของครอบครัวไทยสู่ความมั่นคงของมนุษย์ ณ ห้องเพลนารี ฮอลล์ 1ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เขตคลองเตย กทม. เมื่อวันที่ 7 มีนาคม

ขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี ท่านได้โพสต์ในไลน์กลุ่มคณะรัฐมนตรีว่าขอความร่วมมือทุกกระทรวงให้ส่งผู้แทน หัวหน้าส่วนราชการมาร่วมกิจกรรมในวันนี้ ต้องขอขอบคุณทุกๆ กระทรวง หัวหน้าส่วนราชการและผู้บริหาร ซึ่งก็ขออนุญาตฝาก หลังจากพูดคุยกันเสร็จแล้ว เราได้ตกผลึกกัน เราจะนำมาทำเป็นหนังสือปกขาว รายงานให้กับคณะรัฐมนตรี ขอผู้แทนแต่ละกระทรวงนำกลับไปประยุกต์และทำต้องรีบทำ เพราะถ้าไม่รีบทำ ไม่ตายเดี่ยว แต่ตายหมู่

เชื่อว่า วันนี้คงไม่มีใครไม่เคยได้ยินสังคมผู้สูงอายุ ถ้าอัตราการเกิดของไทยยังเป็นอย่างนี้อยู่ อีก 60 ปีต่อจากนี้ไป ประชากรของประเทศไทยจาก 66 ล้านคน จะเหลือ 32 ล้านคน ดังนั้น สถานการณ์ที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย อย่าเพิ่งมองไป 50-60 ปี วันนี้เราจะมาพูดกันเอาอีก 5 ปี สิ่งที่เราสามารถแก้กัน สาเหตุสังคมผู้สูงอายุเกิดขึ้นจากภาวะการเกิดน้อยลงๆ เมื่อสมัยปี 2500 อัตราการเกิดต่อสุภาพสตรี 1 คน มีลูกถึง 6 คน แต่มาวันนี้ กลายเป็น 1 คนเท่านั้น ดังนั้นอัตราการเกิดของไทย 67 ปี เปลี่ยนจาก 6 ต่อ 1 เป็น 1 ต่อ 1 ไปแล้ว ในทางกลับกัน เกิดก็น้อยแล้ว อัตราผู้สูงอายุ ปัจจุบันอายุเฉลี่ยคนไทย 76 ปี ผู้หญิงอายุเฉลี่ยดีกว่าผู้ชาย 80 ปี คน คนไทยแก่ง่ายตายยาก อายุยืนขึ้น ส่งผลให้ประชากรประเทศไทย อัตราการเกิดน้อยกว่าผู้เสียชีวิต ใน 4 ปีที่ผ่านมา ปี 2562-2566 คนไทยหายไป5 แสนคน ฉะนั้น คนเกิดน้อย คนสูงอายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ วันนี้ประเทศไทยเป็น Aged Society (เอจ โซไซตี้) หรือสังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์แบบ อีกไม่นานเรากำลังจะกลายเป็น Super-Aged Society (ซุปเปอร์-เอจ โซไซตี้) หรือสังคมผู้สูงอายุขั้นสุดยอด แบบญี่ปุ่น

ตอนช่วงที่เกิดปี 2516-2518 ผมมีเพื่อนร่วมเกิดปีละล้านกว่าคน ต่อไปอีก 10 ปี จะมีคนเข้าสู่วัย 60 ปี ปีละล้านกว่าคน แบบคลื่นสึนามิ จะทำให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบขั้นสุดยอดเร็วขึ้นไปอีก คำถามคือใครจะเป็นคนดูแล วันนี้จึงต้องมาถามว่า ผู้สูงอายุทุกวันนี้มีลูกหลานน้อยลง บางคนโสด แถมอัตราการเกื้อหนุนผู้สูงอายุ เมื่อ 17 ปีที่แล้ว จะมีคนวัยทำงานซัพพอร์ตผู้สูงอายุ 1 คน ประมาณ 6 คน พอมาถึงตอนนี้ 17 ปีให้หลัง เหลือคนทำงานซัพพอร์ต 3.2 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน อีก 10 ปีข้างหน้า จาก 3 คนกว่าๆ จะเหลือแค่ 2 คนเท่านั้น ส่งผลให้คนเจเนอเรชั่นต่อไป ทั้งเจนแซด เจนอัลฟ่า และเจนต่อๆ ไป กำลังจะเป็นเจเนอเรชั่นเดอะแบก โดยเฉพาะเจนอัลฟ่าเจอแน่นอน

Advertisement

สำหรับค่าใช้จ่ายของรัฐในการดูแลเบี้ยยังชีพของคนกลุ่มต่างๆ ปี 2566 ใช้งบประมาณ 7.7 หมื่นล้าน ใช้ดูแลผู้สูงอายุ 10.3 ล้านคน ยังไม่ใช่ถ้วนหน้า ถ้าเราใช้เงินอย่างนี้ต่อไป อีก 5 ปีจากนี้ เราจะใช้ 1.2 แสนล้านบาท แต่ถ้าเปลี่ยนจากขั้นบันไดเป็นถ้วนหน้า คนละ 1,000 บาท ให้หมดทุกคนต้องใช้เงิน 1.9 แสนล้านบาท บางคนอยากเพิ่มเป็น 3,000 บาท ต้องใช้เงินเกือบ 5.6 แสนล้านบาท แต่ปัญหาเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมที่มีอยู่ตอนนี้ ผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น คนทำงานน้อยลง ถ้าเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ อยากให้เพิ่มไปเรื่อยๆ เหลืออยู่ทางเดียวล้มละลาย พังแน่นอน ค่าใช้จ่าย วันนี้เราพูดถึงแค่ประกันสังคม ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ ช่วงอายุมากขึ้นก็ต้องใช้เงินมากขึ้นในการดูแลสุขภาพ คาดว่าประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 15 ล้านคนในอีก 5 ปีข้างหน้า อาจต้องใช้เงินประกันสุขภาพสูงถึง 1.6 หมื่นล้านบาท

ปัญหาเกิดจากเด็กน้อยลง ส่งผลให้แรงงานน้อยลง บางครั้งคุณภาพยังไม่ถึง วันนี้เด็กไทยยังต้องการศึกษาที่ดี ประเทศไทยเราต้องก้าวไปเทียบเท่า ไม่ต้องไปไกล เอาแค่เพื่อนบ้านเราให้ได้มาตรฐานที่ดี นอกจากเด็กแล้ว ครอบครัวของประเทศไทย กำลังค่อยๆ หายไป ฟางเส้นสุดท้ายของสังคมไทยกำลังจะค่อยๆ หายไป ครัวเรือนที่อยู่คนเดียวเพิ่มมากขึ้นในไทย จากปี 2558 มีประมาณ 6% อยู่คนเดียว วันนี้เพิ่มเป็น 21% หรือเด็กไทยที่มี 4 ล้านกว่าคน แต่ประมาณ 2 ล้านคน อยู่ในครอบครัวที่มีทั้งพ่อและแม่อยู่ร่วมกัน ครัวเรือนผู้สูงอายุอยู่ลำพังมีมากขึ้น หรืออยู่สังคมตายายก็เพิ่มมากขึ้น ประเด็นท้าทายเรามีเด็กเกิดใหม่น้อยลงทุกวัน มีประชากรผู้สูงอายุมากขึ้นมากันแบบสึนามิ สิ่งที่จะเกิดขึ้น ประเทศไทยจะก้าวข้ามกับดักเป็นประเทศรายได้ปานกลางไปได้อย่างไร มันจะยิ่งยากขึ้นไปอีก จะทำให้เกิดการถดถอยของเศรษฐกิจไปเรื่อยๆ จะกระทบกันเป็นลูกโซ่ไปหมด

วันนี้เราต้องมาแก้มาปรับ มาเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิธีทำ ถ้าเราไม่เปลี่ยน จะเปลี่ยนวิธิคิดและวิธีทำ จะเปลี่ยนอีกกี่รัฐบาล กี่นายกฯ ท่านจะได้รับผลลัพธ์ปัญหาแบบเดิมๆ และก็ตายหมู่ดังนั้น ต้องมองว่า ประชาชนคนไทยที่มีอยู่ทุกวันนี้ทุกคนเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของประเทศไทย ต้องเอ็มพาวเวอร์ (ให้อำนาจ) เขา ให้เขาเป็นกำลังในการพัฒนาสังคมได้ ต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ ไม่ใช่พึ่งรัฐอย่างเดียวตลอด เราเปลี่ยนสังคมปัจเจกหรือสังคมโดดเดี่ยวให้เป็นสังคมที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันเหมือนสมัยก่อน ไม่ได้บอกให้ประเทศไทยถอยหลังเข้าคลอง แต่วันนี้เรากำลังจะบอกว่า คุณต้องคิดถึงตัวเองให้น้อยลง คิดถึงสังคมและส่วนรวมมากขึ้น นอกจากสิทธิของตัวเองแล้ว คุณมีหน้าที่อะไรบ้างจะให้สังคมไทย เปลี่ยนความคิดจากสังคมแข่งขันเพื่อตัวเอง ต้องใช้แนวคิดในหลวง รัชกาลที่ 9 แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เป็นสังคมที่ยืนอยู่บนความพอเพียง เราต้องทำเชิงรุก วันนี้ พม.จะไม่ใช่กระทรวงสังคมสงเคราะห์อีกต่อไป เราจะทำงานเชิงรุกเราจะเอ็มพาวเวอร์ ขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานในประเทศไทยมาช่วยกันเปลี่ยนสังคมไปด้วยกัน พร้อมๆ กับ พม.เพื่อก้าวข้ามปัญหาเรื่องนี้ไปได้ เราทำแบบเดิมอะไรก็ถ้วนหน้าผมรับประกันเลยว่าถังแตก แต่สิ่งควรให้ถ้วนหน้าคือโอกาส ให้คนยืนอยู่ในสังคมบนลำแข้งของตัวเอง บนความสามารถของตัวเอง

Advertisement

5 แนวทางสำคัญที่เราต้องเร่งทำวันนี้ เพื่อสร้างความมั่นคงให้สังคมของประเทศไทย อันดับแรกเราต้องส่งเสริมคนวัยทำงาน ทำให้สามารถตั้งตัวได้ พึ่งตนเอง เลี้ยงดูครอบครัวได้จนเขาอยากจะมีลูกมีครอบครัว อันดับสองต้องเพิ่มคุณภาพของเด็กและเยาวชน อันดับสามเพิ่มพลังเอ็มพาวเวอร์ให้ผู้สูงอายุ ต้องดึงพลังเหล่านี้กลับมาใช้ใหม่โดยการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส อันดับสี่สร้างโอกาสและเสริมคุณค่าพัฒนาศักยภาพให้กับคนพิการทั่วประเทศ และอันดับห้าเราต้องสร้างระบบนิเวศเอื้อต่อสังคมซัพพอร์ตครอบครัวให้เขาเติบโต มีความมั่นคง วันนี้ประเทศไทยต้องเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีทำ เราต้องเปลี่ยนด้วยกันทุกประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image