ปลัด มท. โชว์ความสำเร็จตั้งแบงก์ขยะท้องถิ่น 7,773 แห่ง สร้างรายได้ 800 กว่าล้าน

ปลัด มท. โชว์ความสำเร็จตั้งแบงก์ขยะท้องถิ่น 7,773 แห่ง สร้างรายได้ 800 กว่าล้าน

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงผลสำเร็จของการจัดตั้งและการขับเคลื่อนธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายหลังจากกระทรวงมหาดไทยได้ Kick-Off เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 67 ตามเป้าหมาย “60 วัน 1 อปท. 1 ธนาคารขยะ” พร้อมทั้งขับเคลื่อนแนวทางการบริหารจัดการธนาคารขยะ

นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า ได้แก่ ระยะที่ 1 คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการสำรวจขยะมูลฝอยระดับครัวเรือน ประชุมรับฟังความคิดเห็นการดำเนินงานธนาคารขยะ และจัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารธนาคารขยะ คณะกรรมการธนาคารขยะในระดับชุมชน/หมู่บ้าน ระยะที่ 2 คือ การประชุมและแต่งตั้งคณะทำงานฝ่ายต่างๆ รวมถึงการจัดทำระเบียบ/ข้อบังคับธนาคารขยะ และการสร้างการรับรู้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และระยะที่ 3 คือ ธนาคารขยะของ อปท. ทุกแห่ง มีการเปิดรับสมาชิกธนาคารขยะและมีการประชุมทำความเข้าใจกับสมาชิกธนาคารขยะ

ขณะนี้ดำเนินการครบถ้วน 100% คือ จำนวน 7,773 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ซึ่งมีจำนวนธนาคารขยะทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 14,655 แห่ง และสถิติรายได้จากการจำหน่ายขยะรีไซเคิล มากถึง 800 กว่าล้านบาท

Advertisement

“การจัดตั้งธนาคารขยะ เพื่อที่จะนำขยะรีไซเคิลนำมาสร้างมูลค่าด้วยการใช้หมุนเวียนให้เกิดประโยชน์ ซึ่งรายได้ที่เกิดจากการจัดตั้งธนาคารขยะสามารถสร้างสวัสดิการของท้องถิ่น เป็นเงินฌาปนกิจสงเคราะห์แก่ผู้เสียชีวิต หรือนำไปช่วยเหลือผู้ยากไร้ หรือเป็นทุนการศึกษาเด็ก ช่วยผู้เจ็บป่วยเรื้อรังในพื้นที่ ตามแต่แนวทางของแต่ละหมู่บ้านชุมชนตกลงกัน” นายสุทธิพงษ์กล่าว

นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 ข้อ โดยเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2565 คณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์การขับเคลื่อนประเทศไทยที่ยั่งยืน ภายใต้แนวคิด 76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา โดยมีคุณกีต้า ซับบระวาล ผู้แทนสหประชาชาติประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั่วทั้งประเทศ ผ่านกลไกในระดับพื้นที่

“ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาเพียง 5 ปี อบต.โก่งธนู อำเภอเมืองลพบุรี มีรายได้จากการขายขยะรีไซเคิลสูงมากถึงเกือบ 30 ล้านบาท นำเอาไปใช้เป็นเงินสวัสดิการช่วยเหลือฌาปนกิจศพ ศพละ 800 บาท เป็นเงิน 20 กว่าล้านบาท สิ่งนี้เป็นข้อบ่งชี้ด้านความสำเร็จ” นายสุทธิพงษ์กล่าว

Advertisement

นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลการดำเนินการคัดแยกขยะรีไซเคิลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นเลิศ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู จังหวัดลพบุรี องค์การบริหารส่วนตำบลผาสามยอด จังหวัดเลย องค์การบริหารส่วนตำบลหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช และเทศบาลตำบลหนองล่อง จังหวัดลำพูน โดยมีศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ เพื่อถอดบทเรียน นำไปสู่การจัดทำแผนงานและแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงานธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank)

ทั้งนี้ มีตัวเลขที่น่าสนใจ ที่ถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จ คือ นับตั้งแต่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการธนาคารขยะ ตั้งแต่ปี 2560 ถึงปัจจุบัน ซึ่งมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการรวม 1,077 แห่ง ทั่วประเทศ มีรายได้จากการจำหน่ายขยะ รวม 897,521,672.72 บาท รายจ่าย อาทิ ค่าฌาปนกิจ ค่ารักษาพยาบาล และค่าคลอดบุตร 689,425,838.04 บาท คงเหลือ 208,095,834.68 บาท คิดเป็นปริมาณขยะ 1.3 ล้านตัน นอกจากนี้ สามารถดำเนินการจัดทำขยะเปียกจากถังขยะเปียกลดโลกร้อน ที่สามารถลดเศษอาหารได้ถึงวันละ 9,000 ตัน หรือคิดเป็น 3.3 ล้านตัน/ปี ซึ่งเราจะได้นำผลความสำเร็จของ อปท. ทั้ง 1,077 แห่งนี้ ขยายผลให้ครอบคลุมครบทั้ง 7,773 แห่งอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image