วอชิงตันโพสต์เผย ปีนี้ ‘ไทย’ เสี่ยงเกิดรัฐประหารมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากบุรุนดี

เมื่อวันที่ 31 มกราคม เว็บไซต์วอชิงตันโพสต์ รายงานบทวิเคราะห์เรื่อง “ประเทศใดที่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการรัฐประหารขึ้นในปี 2560?” ปรากฏว่า ประเทศไทยติดอยู่อันดับ 2 ของการวิเคราะห์ในครั้งนี้ รองจากประเทศบุรุนดีที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดการรัฐประหารมากที่สุดในโลก

บทวิเคราะห์ของวอชิงตันโพสต์ ที่เขียนโดยไมเคิล ดี.วอร์ด และแอนเดรส บีเกอร์ ระบุว่า การคาดคะเนว่าเมื่อใดจะเกิดการรัฐประหารขึ้นเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร แต่ก็มีนักวิจัยจำนวนหนึ่งที่ทำการศึกษาเพื่อทำนายว่า ที่ใดที่น่าจะเกิดความพยายามในการก่อรัฐประหาร โดยทางวอชิงตันโพสต์เอง ได้มีการพัฒนาเครื่องมือสำหรับการคาดการณ์เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของผู้นำ ซึ่งรวมทั้งการทำรัฐประหาร โดยใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ จนได้เป็นผลการคาดการณ์ถึงความเสี่ยงที่จะเกิดรัฐประหารใน 161 ประเทศทั่วโลก ในปี 2560 โดยใช้รูปแบบสถิติจำนวนหนึ่งในการสร้างการคาดการณ์ขึ้นถึงความเป็นไปได้ที่การรัฐประหารจะประสบความสำเร็จ เช่นในประเทศไทย เมื่อปี 2557 หรือความล้มเหลวในการรัฐประหารของตุรกีเมื่อปี 2559 แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมารวมกันเพื่อทำนายเป็นความเสี่ยงในการที่จะเกิดความพยายามรัฐประหารในแต่ละประเทศ

www.washingtonpost.com
www.washingtonpost.com

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลปรากฏว่า ในปี 2560 ประเทศบุรุนดี กลายเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดความพยายามก่อรัฐประหารมากที่สุด คือ 12 เปอร์เซ็นต์ ส่วนความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการรัฐประหารมีโอกาสอยู่ครึ่งๆเท่ากัน ขณะที่รองลงมา คือประเทศไทย ที่มีความเสี่ยงอยู่ที่ 11 เปอร์เซ็นต์ และมีความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าที่จะล้มเหลว อันดับ 3 คือสาธารณรัฐแอฟริกากลาง อันดับ 4 คือสาธารณรัฐชาด และอันดับ 5 คือตุรกี ส่วนประเทศที่มีความเสี่ยงที่เกิดจะเกิดความพยายามก่อรัฐประหารน้อยที่สุด คือนอร์เวย์ ตามด้วยฟินแลนด์ ญี่ปุ่น และสโลเวเนีย

อย่างไรก็ตาม บทความดังกล่าว ระบุว่า รูปแบบของการคาดการณ์ว่าจะเกิดความพยายามก่อรัฐประหารนั้น ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า ต้นเหตุของการก่อรัฐประหารที่แท้จริงคืออะไร แต่ประเทศที่มีความเสี่ยงสูงส่วนใหญ่เกิดจากความไม่มีเสถียรภาพ อย่างเช่นประเทศบุรุนดี ซึ่งเกิดวิกฤตมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 เมื่อประธานาธิบดีปิแยร์ อึงกูรุนซีซา ต้องการให้ได้มาซึ่งการดำรงตำแหน่งเป็นวาระที่ 3 และประสบความสำเร็จในที่สุด ส่วนของประเทศไทยนั้น ปัจจุบันยังคงมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของพลเรือนนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2557 โดยมีการผ่านร่างรัฐธรรมนูญใหม่เมื่อปี 2559 และคาดว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปี 2560 แต่นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า การเลือกตั้งมักจะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นที่จะทำให้เกิดความพยายามในการก่อรัฐประหาร

Advertisement

บทสรุปของบทความดังกล่าว ระบุไว้ว่า ประเทศที่ติดอันดับต้นๆ ที่จะเกิดความพยายามก่อรัฐประหารในปีนี้ ล้วนแล้วแต่มีประวัติในเรื่องความพยายามก่อรัฐประหารเกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หรือปัจจุบันยังคงมีความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้น และแม้ว่าความเป็นจริงคือการรัฐประหารที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะสร้างความประหลาดใจให้เกิดขึ้นกับประเทศนั้นๆ แต่สำหรับประเทศที่มีความเสี่ยงลำดับต้นๆของปีนี้ดูจะไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจแต่อย่างใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image