‘รองอ๋อง’ร่วมประชุม ‘สหภาพรัฐสภา’ เจนีวา ‘พิธา’ร่วมคณะ พร้อมดัน ‘กัณวีร์’ ชิงเก้าอี้ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน

“รองอ๋อง” เตรียมร่วมประชุม “สหภาพรัฐสภา” ที่เจนีวา มี “พิธา” ร่วมคณะ พร้อมดัน “กัณวีร์” ชิงเก้าอี้ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน หวังรัฐบาล นำข้อเสนอที่ปรับปรุงแล้วพิสูจน์ความจริงใจ เผย จ่อเปิดให้ ปชช.ลงทะเบียนร่วมสังเกตการณ์ ซักฟอก 3-4 เม.ย.

เมื่อวันที่ 19 มี.ค. เวลา 13.00 น. ที่รัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง แถลงถึงการเดินทางไปประชุมร่วมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 148 (IPU) ที่เมืองเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ว่า เพื่อสานสัมพันธ์การทูตรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นการสานสัมพันธ์ ผสานประโยชน์กับรัฐสภาประเทศอื่นในระดับทวิภาคี รวมไปถึงการสานสัมพันธ์ในระดับพหุภาคี ระดับภูมิภาค เช่น อาเซียน เอเชียแปซิฟิค รวมไปถึงระดับโลก ซึ่งภารกิจในการไปประชุมครั้งนี้ว่า ตนในฐานะเป็นรองประธานสภา คนที่หนึ่ง ได้รับมอบหมายจากประธานสภา ให้ดูแลด้านการต่างประเทศและเรื่องของกฎหมาย ดังนั้นหมุดหมายสำคัญของการไปครั้งนี้คือ ภารกิจการออกกฎหมาย เพื่อเรียนรู้การออกกฎหมายซึ่งกันและกัน

ซึ่งตนจะเริ่มศึกษาจากการประชุมออนไลน์ในเย็นวันนี้ (19 มี.ค.) เรื่องของการออกกฎหมาย Climate change ประเทศเยอรมนี และนิวซีแลนด์ ส่วนภารกิจที่สองคือ การตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล เพื่อเรียนรู้ประเทศอื่นๆ ว่ามีการจัดโครงสร้างกันอย่างไร และสุดท้ายคือ ภารกิจการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อนำมาปรับปรุงโครงสร้างสำนักงบประมาณของรัฐสภา

นายปดิพัทธ์กล่าวต่อว่า ตนได้เดินทางร่วมกับคณะผู้แทนรัฐสภาในฐานะที่ปรึกษาคณะเดินทาง ทั้ง ส.ว. ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน จำนวน 10 คน นำโดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะหัวหน้าคณะ นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ ส.ว. ในฐานะที่ปรึกษาคณะ ส่วน ส.ส.ฝั่งรัฐบาลมี น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย น.ส.สรัสนันท์ อรรณนพพร ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย นายอัคร ทองใจสด ส.ส.เพชรบูรณ์ พรรคพลังประชารัฐ และ ส.ส.ฝ่ายค้าน มีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สำหรับ ส.ว. ประกอบด้วย นางสุวรรณี ศิริเวชภัณฑ์ นายไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล และเจ้าหน้าที่อีกจำนวนหนึ่ง

Advertisement

นายปดิพัทธ์กล่าวต่อว่า รวมทั้งจะผลักดันหาเสียงเพื่อชิงตำแหน่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) วาระปี 2025-2027 ซึ่งเป็นวาระเดียวกันกับที่รัฐบาลพยายามเข้าไปมีบทบาทในเวทีโลก ซึ่งจะร่วมกันผลักดันโดยไม่แยกฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ส.ส. ส.ว. และจะเสนอชื่อนายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคเป็นธรรม เข้าชิงตำแหน่งกรรมาธิการว่าด้วยการส่งเสริมการเคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (Committee to Promote Respect of the International Humanitarian Law หรือ IHL) ในนามของประเทศไทย สัดส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วย

ทั้งนี้ ไทยอยากมีส่วนร่วมในการปรับปรุงนโยบายผ่านกลไกทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review หรือ UPR) ที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าภาพหลัก แต่ภารกิจรอบนี้จะมีโอกาสเสนอความเห็นและหาแนวทางปฏิบัติระหว่างรัฐสภากับกระบวนการทำ UPR

“ภารกิจครั้งนี้ อาจกระทบกับการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 67 ในวันที่ 22 มี.ค. เนื่องจากจะมีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่คนเดียว เพราะนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา มีภารกิจต่างประเทศเช่นกัน ดังนั้น ในวันที่ 21 มี.ค. ตนจะนั่งบัลลังก์ยาวหน่อย ยืนยันว่า ทีมประธานสภาทั้ง 3 คน จะทำหน้าที่พิจารณางบ และงานด้านต่างประเทศอย่างดีที่สุดไม่ให้ขาดตกบกพร่อง ส่วนการอภิปรายแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ในวันที่ 3-4 เม.ย.นี้ จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมสังเกตการณ์การอภิปราย โดยจะเปิดรับทั้งหมด 4 รอบ รอบละ 250-300 คน” นายปดิพัทธ์กล่าว

Advertisement

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่จะช่วงชิงตำแหน่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ทั้งที่ยังมีข้อครหาจากประชาชนเรื่องสิทธิมนุษยชนในไทย จะทำให้เสียเปรียบหรือไม่นั้น นายปดิพัทธ์กล่าวว่า “เราจำเป็นที่ต้องใช้เวทีนานาชาติไปฟังฟีดแบ๊ก เพื่อรับทราบว่าต่างชาติมีข้อกังวลอะไรบ้าง แล้วจะส่งผลกระทบต่อการช่วงชิงตำแหน่งอย่างไร เป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยที่ต้องฟังเสียงสะท้อนจากทั้ง ส.ส. ประชาชน และสังคมโลก เราคงไม่มีความสมบูรณ์แบบก่อนแล้วถึงจะท้าชิงได้ เราอาจจะต้องเข้าชิง แล้วดูจุดที่บกพร่องของตนเองเพื่อปรับปรุง ซึ่งผมก็หวังว่ารัฐบาลจะนำข้อเสนอที่มีการปรับปรุงไปพิสูจน์ความจริงใจในการเข้าชิงตำแหน่งนี้” นายปดิพัทธ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image