“ปกรณ์วุฒิ” สับงบโครงการต้านข่าวปลอม 69 ล้าน ถามทำงานคุ้มงบหรือไม่ เชื่อตั้งศูนย์เป็นเครื่องมือรัฐปิดตาประชาชน
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 21 มีนาคม ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯคนที่ 2 เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงินงบประมาณ 3.48 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 2 เรียงตามมาตรา ซึ่งคณะกรรมาธิกา (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 พิจารณาเสร็จแล้ว เป็นวันที่สอง
โดยเป็นการพิจารณาในมาตรา 16 งบประมาณกระทรวงดิจิทัลเศรษฐกิจเพื่อสังคม โดย นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สงวนคำแปรญัตติว่า จากเอกสารดำเนินงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมในเดือนกันยายน 2566 ที่เผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ของศูนย์ฯ ซึ่งเป็นช่วงเวลาขณะนั้นรัฐมนตรีกระทรวงดีอีคนใหม่เข้ารับตำแหน่งแล้ว ซึ่งศูนย์ฯได้คัดกรองเรื่องที่จะตรวจสอบจากการตรวจสอบข้อความจาก 5.47 ล้านข้อความมา จนเหลือ 539 เรื่อง จากนั้นเรื่องก็จะถูกส่งไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบเรื่อง ได้รับการตรวจสอบกลับ 356 เรื่อง แต่สามารถเผยแพร่ได้เพียง 235 เรื่องเท่านั้น
ซึ่งทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้แปลเรื่องที่หน่วยงานเผยแพร่ คือ หน่วยงานไม่สามารถชี้แจงได้ หน่วยงานปฏิเสธการตรวจสอบ ตัวอย่างเรื่อง ครม.มีมติขยายการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ชายแดนใต้อีก 1 เดือนตรวจสอบกรมประชาสัมพันธ์ได้คำตอบว่า ไม่สามารถชี้แจงได้ เพราะไม่มีข้อมูล แต่ข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ 18 ก.ย.66 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ว่ามีการประกาศขยายเวลาใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปอีก 1 เดือน ซึ่งเป็นข่าวที่หาได้ทั่วไป ตนเคยอ่านเจอว่า ทีโออาร์ศูนย์มีค่าอินเตอร์เน็ตด้วย แบบนี้คอมพิวเตอร์ทั้งศูนย์จะไม่มีเครื่องไหนเปิดค้นกูเกิลได้สักเครื่องเลยหรือ จากตัวอย่างนี้ตนสงสัยว่าจากงบเกือบ 70 ล้านบาทนี้เราได้ประสิทธิภาพในการทำงานเท่านี้จริงๆใช่ไหม
นายปกรณ์วุฒิ กล่าวอีกว่า ตามหลักสากลหลักสำคัญของหน่วยงานที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้น คือความเป็นกลางและความเป็นอิสระ และศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเองก็ยืนยันมาตลอดว่า ตนเองเป็นกลาง จากข่าวที่หน่วยงานไม่ประสงค์เผยแพร่ ครม.อนุมัติแผนบริหารหนี้สาธารณะปี2567 ก่อหนี้ใหม่ 1.94 แสนล้านบาท จริงหรือไม่ ตรวจสอบไปที่กรมประชาสัมพันธ์ชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข่าวจริง แต่ไม่ประสงค์เผยแพร่ เพราะไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล ตนมั่นใจมากว่าถ้าข่าวนี้เป็นข่าวปลอมข่าวนี้จะถูกเผยแพร่โดยศูนย์ต่อต้านฯอย่างแน่นอน
จึงทำให้ตนหายสงสัยว่า ทำไมศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมถึงตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานราชการเท่านั้น เพราะตลอดเวลาตั้งแต่ตั้งศูนย์ฯมาการส่งเรื่องไปให้หน่วยงานฯไม่ใช่เป็นการขอให้ตรวจสอบ แต่เป็นการขออนุญาตว่าหน่วยงานราชการจะอนุญาตยอมให้เผยแพร่หรือไม่ นี่คือหลักฐานที่ชัดเจนว่าศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมไม่เคยมีความเป็นนกลาง เป็นแค่เครื่องมือของรัฐในการผูกขาดแบบที่รัฐจากจะให้คนรู้และปกปิดข้อเท็จจริงที่รัฐไม่อยากให้ประชาชนเห็น ตนยืนยันว่าโครงการแบบนี้ไม่ควรได้รับงบจากภาษีประชาชนแม้แต่บาทเดียว ตนจึงขอสวงนคำแปรญัตติตัดงบประมาณโครงการศูนย์ประสานงานและแก้ไขข่าวปลอมทั้งโครงการเป็นจำนวน 69,565,700 บาท