ก้าวไกล รุมอัดพลังงาน งบน้อย แต่ขุมทรัพย์มหาศาล แนะ 3 ข้อแก้ไฟแพง-เอกนัฏลุกแจง

ก้าวไกล รุมฉะกระทรวงพลังงาน อัดสนพ. จัดจ้างบุคลากรทำซอฟต์แวร์ติดตามก๊าซเรือนกระจก-จ่อจัดซื้อพลังงานทดแทน ทั้งที่ยังไม่มีแผนพลังงานชาติ จวก แม้ได้รับงบน้อยสุด แต่ซุกงบเกินครึ่งให้โครงการสร้างเขื่อนขนาดเล็ก-โซลาร์ลอยน้ำ ทำปชช.เสียผลประโยชน์ แนะ 3 ข้อ แก้ปัญหาค่าไฟราคาแพง ด้าน ‘เอกนัฏ’ ป้อง ‘พีระพันธุ์’ ชี้ หากต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงต้องรื้อกติกา  

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯคนที่ 2 เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงินงบประมาณ 3.48 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 2 เรียงตามมาตรา ซึ่งคณะกรรมาธิกา (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 พิจารณาเสร็จแล้ว เป็นวันที่สอง

จากนั้น เวลา 13.20 น. เข้าสู่การพิจารณามาตรา 18 กระทรวงพลังงาน โดย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขอสงวนความเห็น อภิปรายว่า โครงการจัดทำระบบติดตามและประเมินผลงานดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการด้านพลังงาน พ.ศ.2566-2580 (แผนพลังงานชาติ) จัดขึ้นโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ซึ่งเป็นการจ้างที่ปรึกษาจัดทำซอฟต์แวร์ Automated-MRV เพื่อประเมินและติดตามผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพลังงานชาติ (NEP)

โดยแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) เป็นแผนย่อยของแผนพลังงานชาติในปี 2565 เช่นกัน ปัญหาอยู่ที่แผนพลังงานชาติที่ควรจะออกมาตั้งแต่ปี 2565 เป็นเวลา 2 ปีที่เราอยู่กันโดยไม่มีแผนพลังงานชาติ กลายเป็นว่าโครงการนี้กำลังจะจัดจ้างที่ปรึกษา แต่วันนี้ยังไม่มีการจัดเปิดรับฟังความคิดเห็นแผนพลังงานชาติของปี 2565 เลย หลังมีกำหนดการฟังตั้งแต่เดือนมกราคม และถูกเลื่อนมาให้จัดในช่วงเดือนเมษายน หากรับฟังเสร็จในเดือนเมษายน จะสามารถประกาศใช้อีกทีเดือนกันยายน เท่ากับสิ้นปีงบประมาณปี 2567 พอดี จึงไม่มีความสมเหตุสมผล ที่ทั้งแผนพลังงานชาติและการเปิดรับฟังความเห็นก็ยังไม่คืบหน้า

Advertisement

“ระหว่างนี้ที่เราไม่มีแผนพลังงานชาติ ก็มีการอนุมัติแผนรับซื้อพลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ในที่ประชุมสภาฯ สมัยที่แล้ว ตนได้ตั้งคำถามต่อการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนในประเทศลาว ว่าเป็นไปตามแผนพลังงานชาติหรือไม่ แม้ยังไม่มีแผนพลังงาน แต่กลับมีการอนุมัติทำสัมปทานซื้อพลังงานจากเขื่อนในลาวแล้วเรียบร้อย นอกจากนี้ยังมีการรับซื้อพลังงานทดแทน 5 พันเมกกะวัตต์ และจ่ออนุมัติซื้อพลังงานทดแทนอีก 3,600 เมกกะวัตต์ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าสอดคล้องกับแผนพลังงานใหม่หรือไม่ ต้องสอบถามไปยังกมธ.ว่ามีการพูดคุยเรื่องนี้กับ สนพ.อย่างไร ถ้าเราไม่จำเป็นต้องมี PDP เราก็อนุมัติซื้อไฟฟ้าได้ ไม่ต้องมีแผนพลังงานชาติ เราก็รับซื้อไฟฟ้าได้ งั้นก็ไม่ต้องมี ให้อำนาจอยู่ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานไปเลยไหมคะ ไม่ต้องทำแล้วแผนพลังงานชาติ รวมทั้งงบประมาณต่างๆ ที่จะต้องเตรียมระบบข้อมูลให้สอดคล้องแผนพลังงานชาติ” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

ด้าน นายศุภโชติ ไชยสัจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. อภิปรายว่า แม้กระทรวงพลังงานจะได้รับงบประมาณน้อยที่สุด 1,856 ล้านบาท แต่การได้รับงบประมาณน้อยไม่ได้หมายความว่ากระทรวงนั้นจะไม่มีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น อาจจะเป็นที่ที่คนปล่อยปละละเลยจนมีการทุจริตมากที่สุด แต่ 1,172 ล้านบาทนั้น ถูกจัดสรรไปให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) หากเราไปดูเนื้อในจะพบว่ามีโครงการหนึ่งที่ชื่อว่าโครงการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานด้านพลังงานทดแทน ที่ได้เงินไปกว่า 800 ล้านบาท และนำไปชดเลยปาล์มน้ำมัน 300 ล้านบาท แต่เข้าใจได้เพราะเงินถูกส่งถึงมือชาวสวนปาล์ม ส่วนที่เหลือ 441 ล้านบาท ถูกนำไปใช้สร้างโรงไฟฟ้าทั้งเขื่อนขนาดเล็กและโซลาร์แบบลอยน้ำ ซึ่งเป็นส่วนที่มีปัญหา

นายศุภโชติ กล่าวต่อว่า หากท่านบอกว่าทำเพื่อประชาชนที่เข้าไม่ถึงไฟฟ้าหรือลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน ตนขอสรุปปัญหา 3 ข้อของโครงการนั้น คือ 1.ประชาชนต้องจ่ายเงินซ้ำซากให้กับเขื่อนขนาดเล็ก โรงไฟฟ้าเหล่านี้ คือเขื่อนเหล่านี้ใช้งบประมาณแผ่นดินที่มาจากเงินภาษีของประชาชน นอกจากจะจ่ายเงินค่าสร้างอย่างเดียวไม่พอแล้ว ยังต้องจ่ายที่โรงไฟฟ้าเหล่านี้ผลิตไฟฟ้าไปยังบ้านพี่น้องประชาชนอีก แต่คำถามสำคัญคือเงินที่ได้จากการขายไฟจากโรงไฟฟ้าเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหน

Advertisement

2.ค่าก่อสร้างที่แพงแล้ว แพงอีก ทั้งของเขื่อนขนาดเล็กและโซลาร์แบบลอยน้ำ ซึ่งมีมูลค่าค่าก่อสร้างสูงกว่าสหภาพยุโรป 4 เท่าตัว จะเป็นเช่นนี้ได้อย่างไรในเมื่อค่าแรงของสหภาพยุโรปรวมถึงค่าวัสดุอุปกรณ์ แต่ทำไมค่าก่อสร้างที่อยู่ในเล่มงบประมาณจึงมีมูลค่าสูงกว่าสหภาพยุโรปมากเช่นนี้ จึงฝากคำถามกลับไปยังกรม พพ.ว่าที่ผ่านมามีการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใสและเป็นธรรมหรือไม่ นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงหรือไม่

นายศุภโชติ กล่าวด้วยว่า 3.ปัญหาเรื่องงบประมาณ ตนสงสัยว่า ทำไมกระทรวงพลังงงานต้องของบประมาณที่เป็นภาษีของพี่น้องประชาชนในการไปก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กเช่นนั้น เพราะมีกลไกอื่นคือ กองทุนด้านพลังงานที่ยังรอการนำงบประมาณไปใช้ให้เกิดประโยชน์และถูกวัตถุประสงค์อีกหลายกองทุน เช่น กองทุนพัฒนาไฟฟ้า เหลืองบประมาณที่เป็นเงินสด 5,016 ล้านบาท แต่เป็นตัวเลขที่เปิดเผยในปี 2565 และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่เหลือเงินสด 12,005 ล้านบาท ซึ่งทั้งสองกองทุนนี้ในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เขียนไว้ชัดเจนว่าอนุญาตให้นำเงินไปใช้ได้ในโครงการอนุรักษ์พลังงานและแก้ไขสิ่งแวดล้อมได้ หากนำเงินจากทั้ง 2 กองทุนมารวมกันจะสามารถสร้างโรงงานไฟฟ้าสะอาดในพื้นที่ที่ห่างไกล โดยไม่ต้องของบประมาณแผ่นดินเลยแม้แต่บาทเดียว

ทั้งนี้ ตนมีข้อเสนอทั้งหมด 3 ได้แก่ 1.ใช้เงินจากกลไกกองทุนในการสร้างเขื่อนแทนงบประมาณ 2.โอนโรงงานไฟฟ้าขนาดเล็กทั้งหมดไปอยู่ในการดูแลของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อนำให้กระบวนการคัดเลือก การประมูลค่าไฟฟ้ามีความโปร่งใสมากขึ้น และ 3.ยกเลิกการนำต้นทุนที่ใช้ในการสร้างเขื่อนขนาดเล็กมาคิดรวมในค่า Ft จึงขอปรับลดงบประมาณในมาตรานี้ลด 5 เปอร์เซ็น

ขณะที่ น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. อภิปรายว่า ตนขอปรับลดงบประมาณกระทรวงพลังงาน 5 เปอร์เซ็น เนื่องจากอาจจะมีพลังงานซ่อนอยู่ เพราะกระทรวงพลังงานแม้จะเป็นกระทรวงที่งบประมาณน้อย แต่มีขุมทรัพย์มหาศาลซ่อนอยู่ เพราะเมื่อปี 2561 หลังจากที่บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ได้สิทธิ์ในการประมูลและสำรวจปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย แหล่งเอราวัณ และบงกชไปถือครอง ทำให้เชฟรอนบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของสหรัฐอเมริกา ที่เคยเป็นผู้ถือครองสัมปทานในแหล่งเอราวัณมาอย่างยาวนาน ได้พ่ายแพ้การประมูลและต้องทำแผนรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียม และส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดคืนให้กับรัฐ โดยปัญหาของข้อพิพาทที่ทำให้เชฟรอนได้ทำการยื่นฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการรัฐบาลไทย ในประเด็นที่เกี่ยวกับกรณีข้อพิพาทค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนแท่นที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติให้ทางเชฟรอนเป็นผู้รับผิดชอบในการรื้อถอนและค่าใช้จ่ายเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทานลง ซึ่งเชฟรอนได้ส่งหนังสือยืนยันและพูดถึงการรื้อถอนแท่นที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมว่าตนเองมีหน้ารับผิดชอบการรื้อถอนแท่นแค่ 49 แท่น ที่ไม่ได้ส่งมอบให้แก่รัฐบาลตามสัญญาตามสัมปทานเพียงเท่านั้น

น.ส.เบญจา กล่าวต่อว่า ส่วน 142 แท่นที่ส่งมอบให้รัฐไปก็เป็นหน้าที่ของรัฐในการดำเนินการเรื่องนี้ เพื่อเป็นไปตามสัญญาสัมปทานเดิมที่เคยทำกันไว้ตั้งแต่ปี 2515 แต่หลังรัฐประหารปี 2559 รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ ไปแก้กฎกระทรวงย้อนหลัง ทำให้ผู้รับสัมปทานคือเชฟรอน ต้องไปชี้แจงว่าประเด็นนี้ไปสู้กันในอนุญาโตตุลาการประเด็นกฎหมายที่ออกมาใหม่ เป็นการออกมาภายหลังแล้วจะมีผลบังคับใช้ย้อนหลังกลับไปได้หรือไม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในวันนี้ และพล.อ.ประยุทธ์ ในวันนั้น ไม่ดำเนินการตามนโยบายพลังงาน และเป็นการดำเนินการตามนโยบายที่ผิดพลาด บกพร่อง ปล่อยปละละเลย ไม่รอบคอบไม่รัดกุมเช่นนี้ จะเอาผิดอย่างไรกับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ ซึ่งตนได้อภิปรายงบส่วนนี้มาปีที่ 4 แล้ว แต่วันนี้เปลี่ยนรัฐบาลแล้ว

“ดิฉันต้องตั้งคำถามไปยังรัฐบาลที่มาจากพรรคเพื่อไทย ที่สู้รบกับรัฐบาลของคุณประยุทธ์มา 10 ปี ในวันที่ท่านเคยลั่นวาจาเอาไว้ว่า วันใดที่คุณประยุทธ์หมดอำนาจ พรรคเพื่อไทยนี่แหละ จะเล่นงานคุณประยุทธ์ ไม่ใช่แค่เอาผิดต่อความเสียหายที่คุณประยุทธ์ ก่อไว้กับประเทศชาตินี้ แต่ต้องทำให้คุณประยุทธ์ในวันที่ลงจากอำนาจต้องย้ายไปอยู่บ้านหลวงหลังใหม่ที่เรียกว่าเรือนจำ แต่วันนี้นอกจากรัฐบาลจะไม่เอาผิดอะไรคุณประยุทธ์ ยังอยู่สบายแถมรัฐบาลเพื่อไทยต้องมาตามชดใช้ความเสียหายให้กับรัฐบาลคุณประยุทธ์อีกด้วย” น.ส.เบญจา กล่าว

ต่อมา เวลา 14.15 น. นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในฐานะกมธ.ชี้แจงว่า ยืนยันว่ากมธ.เราไม่ได้มีอำนาจไปออกกฎเกณฑ์เรื่องการก่อสร้างเขื่อนขนาดเล็ก แต่ทั้งหมดมีข้อซักถาม เราก็ตั้งข้อสังเกตไปที่หน่วยงานเช่นเดียวกัน ตนทราบดีว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตระหนักดีถึงการทำงานในกระทรวงพลังงาน ก็ไม่ยึดติดว่ากระทรวงนี้เป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณน้อยที่สุด แต่เนื่องจากเป็นภารกิจในการกำกับดูแล หากต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง ต้องมีการรื้อกฎเกณฑ์กติกา รื้อระบบ และรัฐมนตรีฯ ก็ทำตลอด ตรงกับที่มีการนำเสนอว่า มีหลายเรื่องที่ไม่ต้องใช้เงินแก้ปัญหา แต่สามารถใช้แนวทางอื่น

อย่างการแก้ระเบียบกติกาให้เหมาะสมในการแก้ปัญหาได้ การผลิตพลังงานสะอาดหมุนเวียนให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งวัตถุประสงค์หลักในการสร้าง คือการเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และเป็นการหาพลังงานราคาถูก เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตของประชาชนที่มีฐานะไม่ดี ไม่ได้มองว่าเป็นการจ่ายเงินซ้ำซ้อน หลายโครงการมีวัตถุประสงค์ที่ดี ซึ่งเราได้เรียกหน่วยงานมาทบทวนหลายโครงการ หากดำเนินการภายในปีนี้ไม่ได้ หรือไม่มีความจำเป็นเราก็ขอปรับลดงบประมาณ

จากนั้น ที่ประชุมได้ลงมติเห็นตาม กมธ.เสียงข้างมาก ด้วยคะแนนเสียง 278 ต่อ 161

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image