ใบสั่งตาย “อู โก หนี่” กับ อนาคตรัฐธรรมนูญเมียนมาที่ (ไม่) เปลี่ยนแปลง ?

แฟ้มภาพ AFP โดย www.rfa.org

แม้ว่าการลอบสังหารบุคคลสำคัญทางการเมืองมักจะเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนักในการเมืองของเมียนมา กระนั้น เหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้ หากเกิดขึ้นแล้วกลับมีนัยยะสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการรักษาระบบความมั่นคงของรัฐได้ในหลายลักษณะ อาทิ การลอบสังหารนายพลอองซาน  บิดาแห่งการปลดปล่อยเมียนมาให้เป็นอิสระจากเจ้าอาณานิคม โดยการตายของอองซานกลับส่งผลสะเทือนต่อการเปลี่ยนแปลงของชนชั้นนำและการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองของกองทัพและพลเรือนอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะการเข้าควบคุมอำนาจทางการเมืองของทหารด้วยเหตุผลของความมั่นคงและการรักษาเอกภาพแห่งรัฐตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

อู โก หนี่ คือ บุคคลสำคัญทางการเมืองและถือได้ว่าเป็นนักกฎหมายชาวมุสลิมคนสำคัญที่ถูกสังหาญครั้งล่าสุด  ในขณะที่กระบวนการสืบสวนที่ยังไม่เสร็จสิ้นลง กระนั้น การตายในครั้งนี้กลับส่งผลสะเทือนต่อการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของพม่าในหลายลักษณะด้วยกัน โดยเฉพาะการเป็นนักกฎหมายชาวมุสลิม ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการดำเนินท่าทีของรัฐบาลในแก้ไขปัญหาชาโรฮิงยา ซึ่งรวมถึงการเดินทางกลับจากการประชุม ณ ประเทศอินโดเนเซีย เพื่อการประชุมประเด็นทางศาสนา ก่อนถูกการลอบสังหารด้วยเช่นกัน  กล่าวได้ว่า  เขาคือห่วงโซ่สำคัญของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy-NLD) ในการประสานความแตกต่างทางศาสนาและการสร้างภาพลักษณ์ของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาทางด้านชาติพันธุ์-ศาสนาที่กำลังเกิดขึ้นในพม่า การตายในครั้งนี้จึงมีผลสะท้อนให้เห็น  “สังคมที่ถูกแบ่งแยก” อย่างชัดเจน  โดยเฉพาะการตั้งสมมุติฐานการสอบสวนว่ามูลเหตุจูงใจเกิดจากความไม่พอใจทางศาสนาของผู้ลงมือสังหาร

อย่างไรก็ตาม ในแง่มุมของโครงสร้างทางการเมืองว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพแล้ว ยังมีผลกระทบที่ลึกซึ้งเป็นอย่างมาก ซึ่งเหตุผลเบื้องต้นนั่นคือ แม้ว่าจะมีอาการนิ่งเงียบของกองทัพภายหลังเหตุการณ์ลอบสังหาร หากแต่ ความรู้สึก “อดสงสัยไม่ได้” ต่อบทบาทของกองทัพว่ามีส่วนรู้เห็นหรือไม่กับเหตุการณ์ในครั้งนี้มากน้อยเพียงใด ก็ปรากฏขึ้นภายในจิตใจของผู้คนแม้ว่าไม่ได้แสดงออกอย่างชัดเจนก็ตาม  กล่าวในอีกนัยหนึ่งนั่นคือ กองทัพกลับกลายเป็นผู้ต้องสงสัยทางการเมืองไปโดยปริยาย แม้ว่าจะรักษาบทบาทของ “ผู้พิทักษ์” ในระยะการเปลี่ยนผ่านของประเทศก็ตาม คำถามที่สำคัญนั่นคือ อะไรคือเหตุจูงใจให้เกิดการตั้งข้อสงสัยในลักษณะเช่นนี้?

คำตอบที่สำคัญนั่นคือ  อู โก หนี่ คือ นักกฏหมายรัฐธรรมนูญคนสำคัญและแสดงออกท่าทีอย่างชัดเจนต่อความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมียนมาฉบับปี 2008 ทั้งโดยส่วนตัวและการรวมกลุ่มนักกฏหมาย  “การตายจึงส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของรัฐธรรมนูญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” กล่าวคือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้คือกุญแจสำคัญของกองทัพในการมีบทบาทอยู่เบื้องหลังทางการเมืองอย่างน้อยในสองลักษณะ  นั่นคือ ประการแรก “หลักประกันด้านการแทรกแซงทางการเมืองต่อฝ่ายนิติบัญญัติ” ซึ่งแสดงออกผ่านจำนวนสัดส่วนของทหารในสภา และ ประการที่สอง “หลักประกันการแทรกแซงทางการเมืองต่อฝ่ายบริหาร”  ซึ่งปรากฏผ่านจำนวนกระทรวงด้านความมั่นคงสามกระทรวงหลักที่กองทัพจะเป็นผู้ควบคุมแม้ว่าจะมีรัฐบาลพลเรือนเป็นหัวหน้ารัฐบาลเองก็ตาม ด้วยเหตุเช่นนี้ การแสดงออกของ อู โก หนี่  คือ การแสดงออกซึ่งการเป็นปฏิปักษ์ต่อกองทัพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ แหล่งสร้างความชอบธรรมทางการเมืองของกองทัพที่สามารถอ้างอิงต่อหลักสากลได้อย่างไม่เคอะเขินมากนัก ดังจะเห็นได้จากคำกล่าวปราศรัยของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ในหลายครั้งว่า  ต่อให้มีความท้าทายทางการเมืองมากมายเช่นใดก็ตาม  กองทัพก็จักยังยึดมั่นในรัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่เปลี่ยนแปลง

Advertisement

การดำรงอยู่ของรัฐธรรมนูญปี 2008 นั้น แม้ว่ามีการตั้งความหวังว่าคือสัญญาณสำคัญในการเปลี่ยนแปลงพม่าไปสู่หนทางของประชาธิปไตยสากล  อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องตระหนักเป็นอย่างยิ่งนั่นคือ  ผู้ที่มีบทบาทในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นมาคือกองทัพ  ซึ่งสามารถสร้างกลไกทางกฎหมายไว้รองรับสถานการณ์และสร้างหลักประกันดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น  และประเด็นที่สำคัญและตอกย้ำลักษณะระบอบทางการเมืองที่ดำรงอยู่ในเมียนมาขณะนี้นั่นคือ  “การสร้างระบอบประชาธิปไตยแบบมีวินัยโดยรัฐธรรมนูญ”  ที่ผ่านการคิดอย่างตกผลึกของผู้นำทางทหารหลายรุ่นได้หยั่งรากและปรากฏกายอย่างชัดเจน

ปรากฏการณ์นับตั้งแต่ การอนุญาตให้มีการเลือกตั้ง จนนำไปสู่การตั้งรัฐบาลพลเรือนที่มี ออง ซาน ซูจี ถืออำนาจที่ปรึกษาแห่งรัฐนั้น  นั่นคือการอนุญาตให้ตัวแสดงละครการเมืองอื่นเข้ามามีบทบาททางการเมืองในสนามการเมืองได้และกองทัพเองจะไม่ขัดข้องหากการแสดงเหล่านั้นไม่เล่นออกนอกเกมสนามที่กำหนดเอาไว้  ฉะนั้น การพยายามแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญจึงเป็นกิจกรรมหนึ่งที่กองทัพเองไม่สามารถยอบรับได้ หรือ หากแม้นจะมีการแก้ไขในอนาคต กองทัพก็จะต้องเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของรัฐธรรมนูญเอง  เมื่อกล่าวจนถึงที่สุดแล้ว  รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจึงเป็นสิ่งต้องห้ามทางการเมืองนั่นเอง

ในขณะที่ปัญหาทางการเมืองภายในของคนพม่าแท้กับเรื่องรัฐธรรมนูญยังไม่สามารถหาข้อยุติได้นั้น ปัญหาของรัฐธรรมนูญเองก็ยังมีความเกี่ยวพันกับการแก้ไขความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ที่กำลังเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการเจรจาสันติภายในหลากหลายประเด็น มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สร้างระบอบการปกครองเป็นสหพันธรัฐอย่างแท้จริง  โดยเฉพาะการคืนสิทธิกำหนดชะตากรรมทางการเมืองให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถเข้ามามีหุ้นส่วนในอำนาจทางการปกครองในเขตของตัวเอง  การสังหารอู โก หนี่  จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยทางอ้อมที่ทำให้ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นหยุดชะงักงันไปโดยปริยาย  โดยเฉพาะสร้างสร้างความไว้วางใจกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และกองทัพ การปะชุมปางโหลงในศตวรรษที่ 21 รอบที่ 2 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้นั้น  แม้ว่าจะเกิดประเด็นการพูดคุยที่หลากหลายก็จะไม่มีความหมายอันใดเลย  เนื่องจากการประชุมจะเป็นเพียงเฉพาะเวทีเพื่อการพบปะและหยั่งท่าทีเท่านั้น

Advertisement

กล่าวได้ว่า แรงกดดันทางการเมืองที่ถาโถมใส่ ออง ซาน ซูจี ในขณะนี้มิได้เป็นเพียงกระแสที่รุนแรงเท่านั้น  หากแต่เมื่อมองในฐานะบุคคลธรรมดาสามัญ  เธอคือคนที่สูญเสียบุคคลใกล้ชิดจากการสังหารครั้งสำคัญทั้งสองกรณีนั่นคือ ทั้งบิดา และ นักกฎหมายของพรรค ซึ่งล้วนแล้วแต่คือเหยื่อในโศกนาฏกรรมทั้งสิ้น  ยิ่งไปกว่านั้น ฐานะของของรัฐธรรมนูญเมียนมาในขณะนี้นั้นจึงมิได้เป็นเพียงแผนที่เพื่อการกำหนดความสัมพันธ์ของสถาบันการเมืองหลักภายในรัฐเท่านั้น  หากแต่ยังเป็นสัญญาณที่เกี่ยวพันอย่างแยกไม่ออกระหว่างสองขั้วกรณีนั่นคือ  “การเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตย”   และ  “การสร้างสันติภาพหรือการสร้างความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์”  ดังที่เป็นอยู่เช่นนี้เอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image