‘ดนุพร’รุกสื่อสาร พท. ตั้งเป้าทวงแชมป์เลือกตั้ง

‘ดนุพร’รุกสื่อสาร พท. ตั้งเป้าทวงแชมป์เลือกตั้ง

หมายเหตุนายดนุพร ปุณณกันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงการทำหน้าที่โฆษกพรรค พท. และการปรับกลยุทธ์การสื่อสารของพรรค เพื่อเตรียมพร้อมในการนำพรรค พท.กลับมาชนะเลือกตั้งครั้งหน้า

ความพร้อมที่พรรคให้ความไว้วางใจในการทำหน้าที่ในฐานะโฆษกพรรค

ขอบคุณสมาชิกพรรคที่โหวตจนได้รับตำแหน่งนี้มา ซึ่งในอดีตเคยทำหน้าที่ในฐานะรองโฆษกพรรคไทยรักไทย ต้องยอมรับว่าโลกของเราเปลี่ยนไปเร็วมาก ในอดีตการสื่อสารไม่ได้เร็วเท่าปัจจุบันนี้ เราก็พยายามที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันยุคสมัย และพยายามจะสื่อสารให้มีข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากที่สุด เพราะเข้าใจว่าบางคนเป็นกองเชียร์ของพรรค อยากจะให้ทางพรรคสื่อสารด้วยความรวดเร็ว โดยเราก็พยายามที่จะทำงานอย่างรวดเร็ว ในอดีตทีมโฆษกพรรคมีคนน้อย หลายคนตั้งคำถามว่าทำไมการทำหน้าที่ในอดีตถึงเข้มแข็งกว่าปัจจุบัน ต้องบอกว่าแต่ก่อนเราเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งทำงานรวมกันอยู่ที่พรรค แต่ปัจจุบันเราเป็นรัฐบาล คนในพรรคเรามีเท่าเดิม แต่เราแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1.ตามนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กลุ่มที่ 2.ประจำอยู่ที่สภาผู้แทนราษฎร และกลุ่มที่ 3.ประจำอยู่ที่พรรค เพราะฉะนั้นคนที่จะช่วยในการหาข่าว ทางพรรคจึงได้ตั้งทีมสื่อสารขึ้นมา สื่อสารทั้งโฆษกกระทรวง สื่อสารกับทางชุดมอนิเตอร์ของพรรค และมีรองโฆษกมาช่วย 4 คน เพื่อที่จะช่วยกันชี้แจงข้อมูลต่างๆ ต้องบอกว่าทางพรรคของเราไม่อยากจะตอบโต้ เพราะเราไม่อยากจะทะเลาะกับใคร สิ่งที่เราจะต้องทำคือชี้แจง เช่น หากข้อมูลที่เราได้มาเป็นข้อมูลที่ผิด เราก็ควรที่จะมาชี้แจงว่าข้อมูลที่ถูกคืออะไร และเราพยายามที่จะทำกราฟิก โดยเราต้องย่อยข้อมูลหลายๆ หน้า เพื่อที่จะนำไปลงในไอจีพรรค หรือทวิตเตอร์ ถามว่ายากหรือไม่ ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยาก แต่เราเข้าใจดีว่าสมัยนี้โลกออนไลน์มีความรวดเร็ว

Advertisement

วางแผนในการทำหน้าที่ในฐานะโฆษกพรรคอย่างไร

สิ่งที่ได้คุยกับทีมคือข้อมูลต้องถูกต้อง หากจะพูดว่าถูกต้อง 100% ก็อาจจะยาก เพราะข้อมูลที่เราได้มาด้วยความรวดเร็วอาจจะมีผิดบ้างเล็กน้อย และต้องมาปรับเปลี่ยน เราพยายามที่จะหาข้อมูลให้ตรงที่สุด และต้องชี้แจงด้วยความรวดเร็ว ถือเป็นความโชคดีที่มีรองโฆษกทั้ง 4 คนมาช่วย โดยแบ่งงานกันทำหน้าที่ เราชี้แจงทุกเรื่องไม่ไหว หลายคนอาจจะถามว่าเรื่องนี้ชี้แจงหรือยัง เรื่องนี้ยังไม่ได้ชี้แจงใช่หรือไม่ ดังนั้นจึงมีการแบ่งหน้าที่เพื่อให้ครอบคลุมมากขึ้น

จากการเลือกตั้งที่ผ่านมามีข้อผิดพลาดคือการสื่อสาร มีการจัดระบบปรับกลยุทธ์ในการสื่อสารของพรรคอย่างไร

Advertisement

ข้อผิดพลาดจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาในการสื่อสารอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า คนในพรรค พท.มีน้อย และโลกออนไลน์มีความรวดเร็วมากและเมื่อทุกพรรคมีทีมสื่อสาร สิ่งที่เราต้องเรียนรู้คือเราต้องยอมรับว่าพรรคเพื่อไทยแพ้เลือกตั้ง เราเป็นอันดับ 2
จากที่เราเคยยืนหนึ่งมาตลอด นับว่าเป็นครั้งแรกที่เราแพ้การเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเอาบทเรียนเหล่านี้มาปรับปรุงสิ่งที่เกิดขึ้น เรามีการบริหารพรรคที่มีนักการเมืองที่เป็นคนรุ่นใหม่มากขึ้น มีหัวหน้าพรรคที่ยังมีอายุน้อย และยังมี ส.ส.สมัยแรกเข้ามาเยอะมาก เพื่อมาช่วยพรรคทำงาน ทั้งนี้ ได้พูดคุยกันว่าในการเลือกตั้งสมัยหน้าอาจจะต้องปรับเปลี่ยน ส.ส.เขตให้มีอายุที่น้อยลง ส่วน ส.ส.ที่มีอายุมากก็จะขึ้นเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะฉะนั้นพยายามที่จะเรียนรู้กันไป เมื่อก่อนจากที่ไม่เคยเล่นเฟซบุ๊ก ไอจี หรือทวิตเตอร์ ปัจจุบันก็หันกลับกลับมาเล่นโซเชียลให้มากขึ้น เพื่อที่จะสื่อสารกับประชาชน

โจทย์ใหญ่ของพรรคเพื่อไทย ที่ต้องแก้ไขจุดอ่อน เพื่อจะกลับมาชนะการเลือกตั้งคืออะไร

มีหลายปัจจัย การชนะการเลือกตั้งคือการชนะใจประชาชน มองว่าในระบบรัฐสภาคือการทำงาน แน่นอนว่าพรรคของเรามีกระแส อย่างเช่นสมัยทักษิณฟีเวอร์ ยิ่งลักษณ์ฟีเวอร์ เพราะฉะนั้นเราทราบดีว่าท้ายที่สุดนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เล่นการเมืองตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 ทำไมถึงมีคนชื่นชอบจนมาถึงปัจจุบัน ทั้งที่เวลาผ่านไป 20 กว่าปี เพราะว่าการทำงานเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น เป็นความทรงจำของประชาชนว่านายทักษิณทำนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค นายทักษิณปราบยาเสพติด นับว่าเป็นผลงาน เพราะฉะนั้นการที่จะทำให้ชนะใจประชาชน หลักๆ คือการทำงาน จึงเป็นเหตุผลว่านายเศรษฐาถึงทำงานหนักมาก แน่นอนเราเข้าใจดีว่ากระแสสังคมติฉินนินทาเราในการที่ตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว แต่ทางเลือกของเราในวันนั้นแทบจะไม่มี ซึ่งเราคิดว่าเราผ่านจุดนี้มาแล้ว ถ้าหากประชาชนเลือกเรา 300 เสียง ก็ไม่จำเป็นต้องมาจับขั้วแบบนี้ แต่วันนั้นประชาชนเลือกพรรค พท.มาแค่ 141 เสียง ให้พรรคก้าวไกล 151 เสียง พรรค พท.ลองจับมือกันแล้วแต่ไปไม่ได้

หากย้อนกลับไป ถ้าหากเรายังจับมือกับพรรคก้าวไกล และหากพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรีจะเกิดอะไรขึ้น การยุบพรรค มีคดี ซึ่งคดีไม่ได้เกี่ยวกับพรรครัฐบาล แต่เป็นคดีเกี่ยวกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์
ตั้งแต่หาเสียง ศาลรัฐธรรมนูญลงความเห็นว่า การเสนอนโยบายเพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีปัญหา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะส่งเรื่องยุบพรรคก้าวไกลให้ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีการตัดสิทธินายพิธาหรือไม่ กรรมการบริหารพรรคที่เป็นรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลจะถูกตัดสิทธิกี่คน สิ่งที่เกิดขึ้นคือความเชื่อมั่นของประเทศในสายตาต่างชาติจะไม่เหลืออะไรเลย นายกฯทำงานแบบเหมือนระเบิดเวลา ว่าเมื่อใดศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า โดนตัดสิทธิ 5 ปี หรือ 10 ปี จึงเป็นเหตุผลทำให้พรรค พท.จัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว

แต่ในปัจจุบันนี้นายเศรษฐาได้ทำให้เราเห็นแล้วว่าทำงานหนักในวันที่ไม่มีงบประมาณใช้ ต้องเข้าใจว่างบประมาณปี 2567 ยังไม่ได้มีการใช้เงินลงทุนต่างๆ ที่ใช้ในการขับเคลื่อนประเทศ นายเศรษฐาไม่ได้ใช้เงินในส่วนนี้เลย แต่นายเศรษฐาเป็นคนที่ขยันมาก ไปติดต่อไปเป็นเซลส์แมนเอาของไปขาย เพื่อเป็นการปูทางว่าวันหนึ่งที่งบประมาณของประเทศไทยสามารถใช้ได้ประมาณเดือนเมษายน สิ่งเหล่านี้จะมาต่อยอดกับสิ่งที่นายเศรษฐาได้ปูทางเอาไว้ ในเรื่องของการเดินทางไปติดต่อเป็นเซลส์แมนกับทั่วโลก สิ่งเดียวที่จะชนะใจประชาชนได้คือการทำงาน และพยายามทำตามนโยบายที่หาเสียง แน่นอนว่าอะไรที่ทำไม่ได้ต้องมีคำตอบ เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต หลายคนมองว่าเป็นจุดตายของพรรค ถ้าหากเราทำไม่ได้นายเศรษฐาก็มีหน้าที่ที่จะชี้แจงกับประชาชน ว่าทำไม่ได้เพราะอะไร หรือมีปัญหาอะไรหรือไม่ เชื่อว่าประชาชนสมัยนี้เข้าใจในเหตุผล พยายามทำตามนโยบายที่เราได้หาเสียงให้มากที่สุด และเชื่อว่าทุกคนจะเห็นใจ

พรรค พท.โดนกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว การมีนายกฯ 2 คน จะสื่อสารเรื่องนี้ต่อสังคมอย่างไร

ตามรัฐธรรมนูญนายกรัฐมนตรีมีเพียงแค่คนเดียวอยู่แล้ว เป็นเพียงวาทกรรมที่ต้องการดิสเครดิตนายเศรษฐามากกว่า แต่แน่นอนเชื่อว่าการที่มีอดีตนายกรัฐมนตรีคนใดก็ได้ ให้คำแนะนำในการบริหารประเทศ มองว่าเป็นเรื่องดีทั้งนั้น จะเห็นได้ว่านายเศรษฐาไม่ได้เข้าพบเฉพาะนายทักษิณ ซึ่งนายเศรษฐายังเคยเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี มองว่าเป็นเรื่องดีที่จะเอาข้อดีของนายกฯแต่ละคนมารวมที่นายเศรษฐา เพราะฉะนั้นการที่นายเศรษฐาได้ไปปรึกษาใครก็เป็นเรื่องปกติ นายเศรษฐาเป็นนักธุรกิจ ซึ่งไม่ใช่คนที่จะรู้ทุกเรื่องได้ เพราะฉะนั้นหากมีเรื่องที่ไม่รู้ก็จำเป็นจะต้องถาม เช่น ถ้าหากต้องการที่จะต่อยอดโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ถ้าหากนายเศรษฐามีโอกาสได้พูดคุยกับคนที่เคยทำมาก่อนว่าจะต่อยอดอย่างไรให้มีประโยชน์ ถามว่าใครได้ประโยชน์ ก็ประชาชนเองที่ได้ประโยชน์ เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยไม่สนใจในเรื่องแบบนี้ พรรคเพื่อไทยเข้มแข็งพอที่จะยืนอยู่ได้โดยไม่สนใจว่าจะมีนายกรัฐมนตรีกี่คน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image