คำนูณ ยันเกาะกูด ของไทย จวกเอ็มโอยูปี’44 ทำเสียเปรียบ แนะรบ.เจรจาเขตแดนให้จบ ค่อยดีลผลประโยชน์

”คำนูณ” จวกเอ็มโอยูปี 44 เกิด 3 ล็อก 2 เสี่ยง ทำไทยเสียเปรียบกัมพูชาปมพื้นที่ทับซ้อนอ่าวไทย ติง “เศรษฐา “ อย่าแยกเจรจา แนะ รบ.ต้องเจรจาเขตแดนให้จบก่อนตกลงผลประโยชน์

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณาการอภิปรายทั่วไปเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 นั้น

จากนั้น เวลา 18.50 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน สว.อภิปรายประเด็นการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทยระหว่างไทยกับกัมพูชาว่า หนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่แถลงต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 คือเร่งเจรจาใช้พลังงานในพื้นที่อ้างสิทธิกับประเทศข้างเคียงซึ่งก็คือกัมพูชา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ได้ปาฐกถาครั้งสำคัญเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เรื่องสำคัญสุดคือเรื่องพื้นที่ทับซ้อนแต่มีปัญหาเรื่องชายแดนซึ่งยังเซนซิทีฟ คือเรื่องพื้นที่ทับซ้อนและขุมทรัพย์ใต้ทะเล

แต่ยืนยันว่า ให้ความสำคัญสูงสุด โดยจะพูดคุยกัน และพยายามนำสินทรัพย์นี้มาใช้โดยเร็วที่สุด ท่านบอกให้สบายใจ แต่ตนฟังแล้วไม่สบายใจ เพราะมีคีย์เวิร์ดอันตราย คือคำว่าแยก ตีความได้ว่าท่านจะแยกเจรจาเอาผลประโยชน์ใต้อ่าวไทยมาใช้โดยไม่แตะเรื่องเขตแดน แต่ที่นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงต่างประเทศมาตอบกระทู้ด่วนด้วยวาจากับตนเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ โดยตอบว่า จะเจรจาพร้อมกันไประหว่างเรื่องแบ่งผลประโยชน์กับเรื่องแบ่งขตแดน และเจรจาตามกรอบเอ็มโอยูปี 2544 จะไม่แยกการเจรจาซึ่งแตกต่างกัน

Advertisement

นายคำนูณ กล่าวว่า ในปี 2544 รัฐบาลพรรคไทยรักไทยลงนามเอ็มโอยูกับกัมพูชา โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นสองส่วนโดยใช้เส้นละติจูดที่ 11 องศาเหลือเป็นเกณฑ์ ข้างบนกำหนดให้เจรจาแบ่งเขตแดนทางทะเล ข้างล่างส่วนข้างมากให้เจรจาแบ่งผลประโยชน์จากขุมทรัพย์ใต้ทะเล ทั้งสองเรื่องให้เจรจาไปพร้อมกัน แบ่งแยกไม่ได้ ซึ่งโอกาสที่จะเป็นไปได้คือการตกลงเขตแดนให้สำเร็จตลอดแนวก่อนเจรจาแบ่งผลประโยชน์ ซึ่งต้องยกเลิกเอ็มโอยูปี 2544 ซึ่งประเด็นที่เป็นปัญหาคือเอ็มโอยูและเกาะกูด ทั้งนี้ วันที่ 1 กรกฏาคม 2515 สมัยจอมพลลอนนอล ซึ่งรัฐประหารโค่นล้มระบอบกษัตริย์ ได้ประกาศกฤษฎีกาสาธารณรัฐกัมพูชาเป็นประกาศเส้นเขตไหล่ทวีป ซึ่งลากจากชายแดนไทยกัมพูชาหลักเขตที่ 73 ผ่ากลางเกาะกูดของไทย แต่แผนที่เอกสารแนบท้ายกฤษฎีกากัมพูชาเป็นแผนที่ของกรมอุทกศาสตร์ฝรั่งเศส ลากจากหลักเขต 73 และลอดทะลุเกาะกูด ซึ่งในแผนที่คำว่าเกาะกูด Koskut วงเล็บด้วยภาษอังกฤษว่าสยาม เป็นหลักฐานหนึ่งว่าเกาะกูดเป็นของไทย

นายคำนูณ กล่าวต่อว่า รัฐบาลจอมพลถนอมฯ ขณะนั้นได้นำความขึ้นกราบบังคมทูล และมีพระบรมราชโองการในวันที่ 18 พฤษภาคม 2516 ประกาศเส้นเขตไหล่ทวีปประเทศไทย เป็นการลากเส้นเขตไหล่ทวีปที่ถูกต้องตามอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1958 ลากออกมาจากแผ่นดินจากหลักเขตที่ 73 ลงมายังทะเลตรงจุดกึ่งกลางระหว่างเกาะกูดของไทยและเกาะกงของกัมพูชา และรัฐบาลจอมพลถนอมได้สั่งให้กองทัพเรือ เข้ารักษาอธิปไตยของไทยตามเส้นเขตไหล่ทวีปของไทยตั้งแต่นั้นมา จะเห็นได้ว่าความแตกต่างระหว่างเส้นปี 2515 ซึ่งเป็นเส้นนอกกฎหมายของกัมพูชา และเส้นปี 2516 ซึ่งเป็นเส้นตามกฎหมายของไทย ก่อให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนขึ้น และเส้นของกัมพูชารบกวนอธิปไตยเกาะกูดของไทย เราจึงตอบโต้และยืนยันในสิทธิเหนือเกาะกูด

ทั้งนี้ เกาะกูดเป็นของไทยตามสนธิสัญญาระหว่างพระเจ้าแผ่นดินสยามกับประธานาธิบดีฝรั่งเศสฉบับลงนามเมื่อวันที่ 23 มี.ค.รศ 125 และรัฐสภาฝรั่งเศสให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2450 ว่าฝรั่งเศสยอมยกดินแดนเมืองด่านซ้าย เมืองตราดกับเกาะทั้งหลายซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงห์ลงไปจนถึงเกาะกูดให้กรุงสยาม ขณะที่กัมพูชาอ้างสิทธิที่กำหนดให้ยอดเขาสูงสุดของเกาะกูด เมื่อเล็งไปยังจุดแผ่นดินตรงข้ามให้ถือว่าเป็นหลักเขตแดนระหว่างไทยกัมพูชาทางบก และมีแผนที่แนบท้ายลากเส้นประที่ถือว่าแบ่งเขตแดนทางทะเลแล้วซึ่งฟังไม่ขึ้น

Advertisement

นายคำนูณ กล่าวอีกว่า ไทยครอบครองเกาะกูดอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่ปีค.ศ.1907 เป็นต้นมา มีคนไทยอาศัยเป็นจำนวนมาก โดยที่กัมพูชาไม่เคยโต้แย้งสิทธิอย่างเป็นทางการ และในปี 2517 ไทยได้ตั้งกระโจมไฟที่เกาะกูดเพื่อแสดงกรรมสิทธิ์ซึ่งยังอยู่จนบัดนี้ ซึ่งก็ได้ปรากฏในแผนที่ของอังกฤษซึ่งนักเดินเรือทั่วโลกยอมรับนับถือกัน และหลักกฎหมายระหว่างประเทศมีอยู่ว่ารัฐผู้สืบทอดสิทธิคือกัมพูชา ย่อมไม่มีสิทธิเหนือกว่ารัฐผู้มีสิทธิเดิมคือฝรั่งเศส ดังนั้นเกาะกูดเป็นของไทยทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคตหลายล้านเปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 ข้อ 121 ระบุชัดว่าสิทธิทั้งปวงของเกาะกูดตามกฎหมายทะเล ทั้งทะเลอาณาเขต เขตต่อเนื่อง เขตเศรษฐกิจจำเพาะต้องเป็นของไทยด้วย

ทั้งนี้ การเจรจาชะงักเป็นช่วงๆ มาเริ่มอีกทีคือรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ต่อเนื่องที่เป็นการเป็นงานก็รัฐบาลนายชวน หลีกภัยในปี 2538 กัมพูชาไม่เคยพยายามพูดถึงเรื่องเขตแดนเลย แต่ในที่สุดก็เกิดเอ็มโอยูปี 2544 ซึ่งทำให้เกิด 3 ล็อก 2 เสี่ยง คือ 1.ล็อกให้แบ่งเขตแดนเฉพาะด้านบน 2.ล็อกโดยกำหนดพื้นที่แบ่งผลประโยชน์ไว้ตายตัวในส่วนที่ยังไม่ได้แบ่งเขตแดน และ 3.ล็อกโดยให้เจรจาไปพร้อมกันทั้งสองเรื่อง ไม่อาจแยกจากกันก็เป็นตัวล็อกไม่ให้เกิดการเจรจาในรูปแบบอื่น และเสี่ยงเสียผลประโยชน์ที่ควรเป็นของไทยมากกว่านี้ และเสี่ยงเสียเขตแดนทันทีที่ตกลงหรือเสียในอนาคต ตราบใดที่เรายังเอาเส้นของกัมพูชามาเป็นเส้นกำหนดรูปพรรณสัณฐาณของเขตแบ่งปันผลประโยชน์ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลทางกฎหมายในอนาคตหรือไม่อย่างไร

“เอ็มโอยูปี 2544 มีข้อเสียคือการไปยอมรับการมีอยู่ของเส้นเขตไหล่ทวีป 2515 ของกัมพูชามาบันทึกในข้อตกลงระหว่างสองประเทศ ซึ่งมันเสี่ยง และอาจเข้าข่ายการยอมรับโดยปริยายหรือลักษณะกฎหมายปิดปากถ้าต้องขึ้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในอนาคต นอกจากนี้ผมมองว่าเป็นคุณกับกัมพูชามากกว่าไทย เพราะเมื่อเรากำหนดเจรจาแค่ผลประโยชน์ ไม่เจรจาเขตแดน ก็ทำให้พื้นที่ส่วนล่างหลุดออกจากหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยพึงได้รับตามหลักผลอันเที่ยงธรรมตามกฎหมายทะเล ส่วนด้านบนที่กัมพูชาเสียเปรียบตามกฎหมายระหว่างประเทศชนิดไม่มีประตูสู้ กลับสามารถหยิบยกมาเป็นข้อต่อรองในพื้นที่ส่วนล่างได้ ทำไมเราถึงทิ้งความได้เปรียบของเราไป ผมเห็นว่าต้องเจรจาเขตแดนให้รู้เรื่องตลอดแนวก่อนถึงค่อยตกลงผลประโยชน์” นายคำนูณ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image