มติสภา 389 ต่อ 9 รับหลักการ กม.ควบคุมน้ำเมา ทั้ง 5 ฉบับ ฟากส.ส.มุสลิม ไม่เอาด้วย

“สภา”รับหลักการกม.ควบคุมน้ำเมา ฟากส.ส.มุสลิม ไม่เอาด้วย ชี้ควรคำนึงถึงผลกระทบต่อเยาวชนด้วย เหตุเด็กผู้หญิง 8 ขวบดื่มเป็นแล้ว

เมื่อวันที่ 27 มี.ค.เวลา 14.10 น. ที่ รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภา คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์(ฉบับที่) พ.ศ. ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ส่วนร่างของนายธีรภัทร์ คหะวงศ์ กับประชาชนผู้มีสืทธิเลือกตั้งจำนวน 92,978 คน เป็นผู้เสนอ ร่างของนายเจริญ เจริญชัย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 10,942 คนเป็นผู้เสนอ และร่างของนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกล กับคณะเป็นผู้เสนอ ซึ่งร่างที่ครม.รับไปพิจารณาก่อนรับหลักการ และส่งคืนมายังสภา เพื่อพิจารณา และร่างของนายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กับคณะ เป็นผู้เสนอ เนื่องจากเนื้อหาหลักการคล้ายกันจึงให้พิจารณาไปในคราวเดียวกันรวม 5 ฉบับ


นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ชี้แจงเหตุผลร่างพ.ร.บ.ของครม.ว่า หลักการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 253 วันที่ 16 พ.ย.2515 คือ 1.แก้ไขเพิ่มเติมนิยามคำว่าเครื่องดื่งแอลกอฮอล์ และการสื่อสารการตลาด และเพิ่มบทนิยามคำว่าผู้มีปัญหาจาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2.แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบและหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด และคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพฯ 3.ปรับปรุงหน้าที่และอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 4.แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเพื่อให้อำนาจรัฐมนตรี ประกาศกำหนดข้อยกเว้นบริเวณในสถานที่ราชการ ที่ให้ขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้

5.แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเพื่อกำหนดเวลาห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสถานที่หรือบริเวณที่จัดบริหารเพื่อให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อประโยชน์ในทางการค้า 6.เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการโฆษณา 7.แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้รวมถึงผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 8.แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ 9.ยกเลิกบทบัญญัติเรื่องการให้บุคคลที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ 10.ปรับปรุงบทกำหนดโทษ โดยเพิ่มมาตรการปรับเป็นพินัย และแก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย และ11.ยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 253

Advertisement

“พ.ร.บ.ปี 2551 ใช้บังคับมาเป็นเวลานานถึงปัจจุบันเป็นเวลาถึง 16 ปี ซึ่งมาตรา77 ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็นและยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้อง เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายได้โดยสะดวก เข้าใจกฎหมายได้ง่าย เพื่อปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง และให้รัฐมนตรีผู้รักษาการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายทุก 5 ปีที่กฎหมายใช้บังคับหรือเห็นว่าจำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไข จึงเห็นสมควรที่จะปรับปรุงพ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปี 2551 ดังนั้นจึงอยากให้สมาชิกรับหลักการทุกฉบับ เพื่อส่งต่อไปสู่วาระที่ 2 มีคณะกรรมาธิการพิจารณารายละเอียดถึงความเหมาะสม และมิติสุขภาพกับมิติเศรษฐกิจจะต้องมีความสมดุลกัน” นพ.ชลน่าน กล่าว

ขณะที่ นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า จากที่ได้พูดคุยกับผู้เสนอภาคประชาชน มีความกังวลเรื่องการติดสุรา ซึ่งเป็นผลกระทบมาจนถึงเมาแล้วขับ ทำให้เกิดอุบัติเหตุที่สร้างความเสียหายให้กับสังคมไม่น้อย และยังลุกลามไปถึงปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และปัญหาหนี้สิน มาตรการในการควบคุมเพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้จึงมีความจำเป็นและควรจะได้รับการพิจารณา รวมถึงการเปิดให้มีการขาย ซื้อ และโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีเสรีมากขึ้นเพื่อสะท้อนการส่งเสริมเศรษฐกิจในระดับชุมชนและระดับประเทศ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และการพัฒนาสินค้าของประเทศไทย

Advertisement

ด้านนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ข้อเสนอแนะของครม.ที่นำกลับไปพิจารณานั้น การกำหนดหลักเกณฑ์อนุญาตให้ทำโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ทำการตลาดออนไลน์ต่างๆ ซึ่งความเห็นของครม.ตนเห็นด้วยคือการกำหนดกฎหมายใดๆตามรัฐธรรมนูญต้องไม่กระทบต่อศักดิ์ศรีและสิทธิมนุษยชนในการประกอบอาชีพ จำกัดสิทธิประชาชนมากเกินไป ซึ่งร่างพ.ร.บ.นี้ก็มีการจำกัดสิทธิในการโฆษณาไว้แล้ว ยืนยันว่าเป็นสิ่งที่ดีมากที่ครม.เห็นด้วย และถ้าเทียบเคียงทุกร่างแล้ว ร่างของตนใกล้เคียงกับของครม.ที่สุด เพราะให้โฆษณาได้กับบุคคลที่อายุเกิน 20ปี จะโฆษณากับเด็กไม่ได้ ส่วนที่ครม.ให้ไปดูประเทศญี่ปุ่น เกาหลี มีการส่งเสริมโซจู สาเก ตนเห็นด้วยกับ ครม.ที่ส่งกลับมาเป็นอย่างยิ่ง แต่ร่างของครม.ที่เสนอมาตรงกันข้าม

นายเท่าพิภพ กล่าวต่อว่าส่วนการกำหนดฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่มีลักษณะที่เชิญชวนให้บริโภค ตนคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งครม.มีความเห็นว่า คำว่าต้องไม่มีข้อความในลักษณะเชิญชวนบริโภค ส่งผลต่อการพิจารณาโดยการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ที่มีความยุ่งยากไม่ชัดเจนและเป็นผลเสียต่อประชาชน ซึ่งตนก็เห็นด้วย แต่ในร่างครม.ในมาตรา 32 บอกว่าห้ามผู้ใดแสดงเครื่องหมาย หรือโลโก้ ผลิตภัณฑ์สุรา ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อย่างนี้ถือว่าเป็นดุลพินิจหรือไม่ ทำให้เริ่มไม่มั่นใจว่าเป็นร่างของครม.จริงหรือไม่ ส่วนการยกเลิกวิธีลักษณะการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจส่งผลต่อการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่ได้บอกว่าห้ามทำ เช่น กรณีเครื่องขายอัตโนมัตจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีที่ใช้ระบุตัวตนผู้ซื้อเพื่อให้สามารถควบคุมการจำหน่ายแอลกอฮอล์ให้ผู้มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่้งตรงกับร่างของตน แต่ในร่างของครม.กลับไม่มี แต่ก็ไม่เห็นไรก็จะไปพิจารณาในชั้นกมธ.


ทั้งนี้สมาชิกส่วนใหญ่อภิปรายเห็นด้วยและจะรับหลักการกับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ มีเพียงส.ส.ที่เป็นมุสลิม ยืนยันว่าไม่สามารถรับหลักการทั้ง 5 ฉบับได้ เช่น นายซูการ์โน มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ อภิปรายว่า ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนผู้นำศาสนา ตัวแทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ตัวแทนสถาบันการศึกษาปอเนาะ ข้าราชการที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีข้อกังวลห่วงใยต่อการที่สภาจะรับพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ มีการพูดถึงรายได้จากการค้าขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ไม่เคยมองเลยว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเยาวชนในอนาคต เพราะเยาวชนที่เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีอายุแค่ 8 ขวบ ส่วนใหญ่เป็นเด็กสตรี โดยเฉพาะยิ่งทำการค้าเสรี สุราเสรี ตนเกรงว่าข้อห่วงใยของพี่น้องประชาชนที่เป็นกลุ่มภาคีป้องกันผลกระทบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภาคใต้ตอนล่าง กังวลจะเกิดขึ้น หากไม่ป้องกันให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าสู่ครอบครัว เพราะการดื่มสุรา หากขาดสติก็จะเกิดปัญหาตามมาอีกมาก ทั้งเมาแล้วขับ โรคติดสุรา เสียชีวิตก่อนวัยอันควร สูญเสียประสิทธิภาพในการทำงาน ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นที่ตนและส.ส.ที่เป็นมุสลิม ไม่สามารถรับหลักการได้


ทั้งนี้ นพ.ชลน่าน กล่าวสรุปว่า รัฐบาลมีมติตั้งคณะกรรมการมาหนึ่งชุด ศึกษาผลกระทบของมิติสุขภาพและมิติเศรษฐกิจ เพื่อเป็นคำตอบว่าอะไรเหมาะสมที่สุด ถ้ากมธ.วิสามัญจะเอาความคิดเห็นหรือผลการศึกษามาประกอบการพิจารณา ก็จะเป็นประโยชน์ เพราะกรรมการชุดนี้จะเร่งรัดศึกษาให้เสร็จสิ้นภายใน 3 เดือน คาดว่าหลังจากปิดสภากมธ.วิสามัญก็ทำหน้าที่ไป ก่อนที่จะสรุปร่างในเดือน ก.ค. จึงขอขอบคุณสมาชิที่จะรับหลักการกฎหมายฉบับนี้

จากนั้นที่ประชุมลงมติรับหลักการทั้ง 5 ฉบับ ด้วยคะแนน 389 ต่อ 9 งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 1 คะแนน ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 42 คน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image