“ฐากร”กระทู้ถามสดปม “กสทช.” ขัดแย้ง ทำปราบ “แก๊งคอล-ขับเคลื่อนศก.ดิจิทัล”สะดุด

“ฐากร”กระทู้ถามสดปม “กสทช.” ขัดแย้ง ทำปราบ “แก๊งคอล-ขับเคลื่อนศก.ดิจิทัล”สะดุด

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย(ทสท.) กระทู้ถามสดด้วยวาจาว่า เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีจะมีประโยชน์มหาศาลแต่หากนำไปใช้ในทางที่ผิดก็จะก่อให้เกิดโทษอย่างมหันต์ ดังเช่นกรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ในแต่ละปีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สร้างความเสียหายอย่างยิ่ง ตั้งแต่ช่วงวันที่ 1 มีนาคมปี 2565 ถึงวันที่ 15 มีนาคมปี 2567 คดีออนไลน์เกิดขึ้น 461,044 คดี รวมมูลค่าเสียหาย 63,575 ล้านบาท ผลการอายัดทรัพย์บัญชีต่างๆ 294,097 บัญชี ยอดเงินอายัด 19,950 ล้านบาทเศษ ยอดที่อายัดได้ทันมีอยู่แค่ 4,867 ล้านบาท

นายฐากรกล่าวว่า ท็อป 5 ของอาชญากรรมออนไลน์ที่เกิดขึ้น 1.คือการลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ความเสียหายเกิดขึ้น 20,740 ล้านบาท 37,829 คดี 2.ข่มขู่ทางโทรศัพท์ผลเสียหายเกิดขึ้น 7,847 ล้านบาท 31,184 คดี 3.หลอกลวงให้โอนเงินความเสียหายเกิดขึ้น 7,413 ล้านบาท 59,187 คดี 4.หลอกลวงเกี่ยวกับทรัพย์สินดิจิทัล 3,671 ล้านบาท 3,558 คดี 5.หลอกลวงซื้อขายทางออนไลน์ต่างๆ ความเสียหายเกิดขึ้น 3,630 ล้านบาท 193,728 คดี เป็นข้อมูลของทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

นายฐากรกล่าวว่า ขณะนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นกระทรวงดีอี ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ถือว่าท่านก็อยู่ในหน้าที่ที่ทำงานแล้ว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ตลอดจนผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่ร่วมกันช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ยังขาดหน่วยงานหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งนั่นคือ กสทช. หรือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ขณะนี้องค์กรนี้มีแต่ความขัดแย้ง คดีฟ้องร้องที่ศาลเกิดขึ้นอย่างมากมาย เครื่องจักร กสทช. กำลังดับลง ทั้งที่เป็นเครื่องจักรในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับพี่น้องประชาชน แต่ไม่ได้ทำงานเลย

Advertisement

“คำถามแรกที่อยากจะสอบถามท่านรัฐมนตรีดีอี คือรัฐบาลมีแผนในการใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เศรษฐกิจดิจิทัลแนวทางป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนอย่างไรบ้าง”นายฐากรกล่าว

ต่อมา นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ดีอี กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณท่านฐากร ที่มีความห่วงใยปัญหาของพี่น้องประชาชนที่ท่านพูดถึงเรื่องเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงส่งทั้งผลดีและผลเสีย โดยเฉพาะปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ขออนุญาตตอบว่าขณะนี้ ตนได้รับมอบหมายจากท่านนายกฯให้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด โดยดำเนินการดังต่อไปนี้ เรื่องการปราบปราม ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านอาชญากรรมทางออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 เรียกว่า “ศูนย์เอโอซี 1441” ทำงานร่วมกับโอเปอเรเตอร์ธนาคาร แบงค์ชาติ ปปง. ดีเอสไอ แล้วก็มี กสทช.ด้วย โดยกสทช.เข้าร่วมประชุมทุกครั้งเรื่องเอโอซี 1441

Advertisement

นายฐากรกล่าวว่า ขอเรียนถามเพิ่มเติมว่าตามนโยบายของรัฐบาล ที่จะใช้เทคโนโลยียกระดับประเทศ ต่อยอดนวัตกรรมต่างๆ ทั้งด้านการเกษตร การท่องเที่ยว การสาธารณสุขการเงิน และสังคม หาก กสทช. ยังมีปัญหาความขัดแย้ง เงินกองทุนมีจำนวนมากเป็นหมื่นล้านบาท ที่จะช่วยทำให้โครงสร้างพื้นฐานขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ถ้าการอนุมัติต่างๆ และความขัดแย้งในของ กสทช.ยังเกิดขึ้นอยู่อย่างนี้ การอนุมัติเงินต่างๆ ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ นโยบายต่างๆ ที่แถลงไว้จะประสบผลสำเร็จได้อย่างไร ในมาตรา 74 ของพ.ร.บ.กสทช.กำหนดไว้ว่า ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ กสทช.ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายที่ครม.แถลงไว้ต่อรัฐสภา ต้องสอดคล้องกับนโยบาย และแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตรงนี้มันจะทำได้สำเร็จได้ยังไง

ต่อมานายประเสริฐ ชี้แจงว่า กระทรวงดีอีทราบถึงปัญหาภายในของ กสทช. ซึ่งจริงๆ แล้ว อยากจะเห็นองค์กรนี้ขับเคลื่อนไปด้วยความมีประสิทธิภาพในการส่งเสริมด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม ที่นายฐากร ให้ข้อคิดเห็นเรื่องเงินกองทุน เกรงว่ายังไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่ ต้องเรียนว่า กสทช.ถือว่าเป็นองค์กรอิสระ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจถึงปัญหาดังกล่าว เมื่อเกิดขึ้นเรื่องอะไรแล้ว จะต้องรีบแก้ไขปัญหา
“เรื่องที่ท่านถามเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ผมจะเอาเรื่องนี้เข้าไปหารือกับผู้ใหญ่ในรัฐบาลต่อไป หากเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปด้วยความมีประสิทธิภาพ ก็ต้องแก้ไขบทบัญญัติบางประการในกฎหมายฉบับนี้ อย่างเช่นเรื่องอำนาจหน้าที่ เรื่องที่มาอะไรต่างๆ ขอรับเรื่องนี้ไป ขอบคุณที่ท่านให้ความสำคัญของปัญหานี้ โดยเฉพาะเรื่องกองทุนที่จะนำมาพัฒนาเรื่องเศรษฐกิจได้อีกหลายอย่าง”นายประเสริฐกล่าว

ด้านนายฐากรกล่าวว่า ตนเข้าใจดีว่ารัฐบาลชุดนี้ ไม่ใช่ผู้สร้างปัญหาขึ้นมาใน กสทช. แต่คณะกรรมการสรรหาและวุฒิสภาต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากว่าคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้ที่เสนอรายชื่อ วุฒิสภาเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ เพียงแต่ว่ารัฐบาลก็คือนายกฯ ในกฎหมายเขียนไว้ว่าเป็นผู้รักษาการตามมาตรา 5 ของพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้น ในพ.ร.บ.ว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เขียนไว้ชัดเจนว่าคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คือท่านนายกฯ เป็นประธาน จะเป็นผู้ออกแผนดังกล่าว แล้วนำเสนอครม.เพื่อให้ความเห็นชอบ ที่สำคัญที่สุดก็คือ หลังออกแผนนี้แล้ว กสทช. จะต้องปฏิบัติตามแผนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

“ขอฝากท่านรัฐมนตรีด้วย ในฐานะที่เป็นท่านเป็นกรรมการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่องนำสายสื่อสารลงดินที่มีปัญหาในปัจจุบัน ออกแผนมาชัดเจนให้ กสทช.เนินการ จะได้ไม่ต้องไปยุ่งยากเกี่ยวข้องกับเรื่องการใช้จ่ายเงินต่างๆ เงินดังกล่าวมีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น การนำสายสื่อสารลงดิน การต่อยอดนวัตกรรมต่างๆ ถ้าไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น ท่านรัฐมนตรีหรือท่านนายกฯ นำเรื่องนี้กำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์แล้วก็กำหนดให้ กสทช.ดำเนินการตามมาตรา 74 ที่อยู่ในอำนาจของนายกฯ ที่สามารถดำเนินการได้และแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ถ้าท่านแก้ไขปัญหา กสทช.ให้สำเร็จ แล้วทุกอย่างจะสำเร็จในการที่จะขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลได้”นายฐากรกล่าว

ด้านประเสริฐกล่าวชี้แจงว่า ต้องขอบคุณท่านฐากรอีกครั้งหนึ่ง ในฐานะที่ท่านมีความรู้และมีความชำนาญในเรื่องนี้อย่างดี เรื่องนี้เป็นประเด็นอยู่ท่านนายกฯรักษาการตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในด้านต่างๆ นั้น กสทช.ต้องนำเอาแผนเหล่านั้นได้ไปปฏิบัติ
ท่านได้ยกตัวอย่างเรื่องสายที่มันรกรุงรังตามชุมชนต่างๆ ถ้าไม่มีความขัดแย้ง ก็สามารถขับเคลื่อนองค์กรนี้ได้เป็นอย่างดี

“ต้องเรียนท่านฐากรว่าเป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่าองค์กรนี้สามารถขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลได้เป็นอย่างดี ผมจะรับเรื่องนี้ แล้วประสานงานกับทางภาครัฐบาลและกสทช.เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการต่อไป”นายประเสริฐกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image