‘เฉลิมชัย’ ถาม ส่งศาลรธน.วินิจฉัยอำนาจรัฐสภาทำประชามติ เป็นไปตามกม.หรือไม่ แนะคู่ขัดแย้งทำเรื่องส่งศาล

‘เฉลิมชัย’ ถาม ส่งศาล รธน.วินิจฉัยอำนาจรัฐสภาทำประชามติ เป็นไปตาม กม.หรือไม่ ยกปี’64 ผ่านญัตติเพราะเรื่องแก้ รธน.เข้าสภาแล้ว แนะให้คู่ขัดแย้งทำเรื่องส่งศาล รธน.-ประธานรัฐสภาบรรจุญัตติแก้ รธน.เข้าที่ประชุม

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาญัตติ เรื่องของเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 31 ให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ของ นายชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) และคณะ เป็นผู้เสนอ

ต่อมาเวลา 13.40 น. พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม สว. กล่าวว่า วันนี้เราต้องเข้าใจตรงกันว่าไม่ใช่การประชุมร่วมเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากใครยกว่าในปี 64 ก็เคยมีญัตติเช่นนี้เข้าที่ประชุมสภามาแล้ว ทำไมถึงไม่มีปัญหา เพราะเหตุการณ์วันนั้นเรามีญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสภา ตั้งแต่เดือนกันยายน 63 ซึ่งระหว่างการพิจารณาก็เกิดปัญหามากมาย คำถามคือ วันนี้ที่เราพิจารณาเรื่องนี้ มีรัฐธรรมนูญมาตราใดรองรับ ท่านบอกว่าไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าอย่างนั้นเป็นอะไร คำตอบของท่านอาจจะบอกว่าเป็นไปตามมาตรา 156 (16) ซึ่งกฎหมายนี้ระบุว่า 155 ว่าด้วยการอภิปรายทั่วไป และมาตรา 270 พิจารณากฎหมายปฏิรูป เป็นคำถามที่ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นข้อขัดแย้งระหว่างใครกับใคร เป็นข้อขัดแย้งของประธานรัฐสภาและสำนักงานเลขาธิการสภาฯ กับคณะของนายชูศักดิ์ ศิรินิล ในฐานะผู้เสนอร่างที่มีความเห็นไม่ตรงกัน

ถามว่าปัญหามาที่สภาหรือยัง ตนขอบอกว่ายัง เพราะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่เข้ามาบรรจุในสภา ปัญหาจึงไม่เหมือนปี 64 เราจึงหาทางออกด้วยการเห็นด้วยกับญัตตินั้น เพื่อส่งเรื่องนี้ที่เป็นปัญหาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ศาลจึงมีคำวินิจฉัย 4/2564 ออกมา คราวนี้ ญัตตินี้เป็นญัตติที่เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้เสนอร่าง และประธานสภา แต่ร่างแก้ไขรัฐธรรนูญยังไม่เข้าสภา ตนฟันธงว่า ปัญหายังไม่เกิดกับสภา

Advertisement

พล.อ.ต.เฉลิมชัยกล่าวต่อว่า ถ้าเราผ่านเรื่องนี้ไป อนาคตจะมีปัญหากับสภาแน่ๆ เมื่อไหร่ที่มีคณะผู้เสนอร่างกฎหมายไม่ว่าอะไรก็ตาม เสนอประธานรัฐสภา แล้วประธานรัฐสภาไม่บรรจุ ก็จะอ้างว่าเกิดความขัดแย้งกับสภา เอาเข้ามาให้สภาพิจารณา ก็จะย้อนไปว่า ใช้มาตรา 156 ในอนุกฎหมายใดในการบรรจุเรื่องนี้เข้ามา ตนไม่ได้ขัดแย้งกับนายชูศักดิ์ และตนเห็นด้วยว่าเรื่องการทำประชามติต้องชัดเจน แต่ท่านไม่พูดถึงมาตรา 166 ร่วมด้วย ตนมีทางออกคือ การดูที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณารัฐธรรมนูญ เปิดทางไว้แล้วให้หน่วยงานที่เป็นคู่ขัดแย้งไม่ต้องนำเรื่องนี้เข้าสภา และลงความเห็นเพื่อส่งเรื่องไปที่ศาล แล้วดำเนินการตามที่มาตรา 44 ระบุไว้ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานใด ให้หน่วยงานนั้นมีสิทธิยื่นหนังสือต่อศาล ให้ศาลวินิจฉัย ทำไมไม่ให้คู่ขัดแย้งอย่างประธานรัฐสภาและสำนักงานเลขาธิการสภาฯ เป็นผู้ทำเรื่องไปที่ศาล ไม่ต้องนำเรื่องนี้มาขอมติที่สภา และอีกช่องทางหนึ่ง ประธานรัฐสภาก็บรรจุญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสภา และอภิปรายอย่างในปี 64 อย่างนี้ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตราใด ปัญหาก็จะยุติ และต้องถามศาลเพิ่มเติมถึงการทำประชามติว่า จะทำอย่างไรจึงจะไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ 166 ที่การทำประชามติต้องไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ เพราะหากไม่ถามคำถามนี้จะเกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย

จากนั้น นายชูศักดิ์ใช้สิทธิพาดพิงว่า วันนี้ไม่ใช่การพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตนเสนอญัตติตามข้อบังคับที่ 31 ซึ่งเป็นการพิจารณาขอให้รัฐสภามีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 (2) ย้ำว่านี่ไม่ใช่การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 156

ทำให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ชี้แจงว่า นี่เป็นการพิจารณาญัตติขอให้รัฐสภามีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 (2)

Advertisement

ก่อนที่ พล.อ.ต.เฉลิมชัย ยังคงยืนยันขอให้ประธานวินิจฉัยว่า นี่เป็นการประชุมตามข้อบังคับข้อที่ 10 หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image