นพ.เจตน์ ชี้ยื่นศาลตีความได้ แต่จะรับหรือไม่ เหตุยังไม่รู้ประเด็นแก้ รธน. เหมือนตีเช็คเปล่า

‘หมอเจตน์’ ชี้ยื่นศาลตีความทำได้ แต่จะรับหรือไม่ เหตุยังไม่รู้ประเด็นแก้ รธน.เหมือนตีเช็คเปล่า ไม่รู้เจตนา

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานสภาและประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาญัตติ เรื่อง ขอเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 31 ให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ของ นายชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะเป็นผู้เสนอ

เวลา 15.35 น. นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาใครหากเรื่องยังไม่เกิดขึ้น การจะเสนอให้แก้ไขมาตราใดมาตราหนึ่งโดยมี ส.ส.ร.มายกร่างรัญธรรมนูญ ซึ่งไม่ใช่ของใคร เพราะมีมาตลอดและถกเถียงกันตลอดอยู่แล้ว และรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด กฎเกณฑ์ในการแก้ไขอาจแตกต่างจากกฎหมายธรรมดา และรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีทั้งแก้ไม่ได้ตามมาตรา 256 และแก้ได้ยากโดยการพ่วงการทำประชามติเข้ามา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการตีความว่าจะต้องทำประชามติเพิ่มขึ้นเป็นครั้งที่ 3

Advertisement

นพ.เจตน์กล่าวว่า นอกจากแก้ยากแล้ว หากแก้ตามปกติก็ต้องอาศัยเสียง ส.ว. 2 ใน 3 จึงมีฝ่ายที่เห็นว่าทำไมสภาจึงไม่แก้เป็นประเด็นเพื่อให้สภารู้ว่าจะยกเลิกองค์กรอิสระ หรือใครก็ตามก็เสนอเข้ามา จะไปแตะหมวด 1 หมวด 2 ก็เสนอเข้ามา จะได้รู้ประเด็นในการแก้ไข หากตีเช็คเปล่า เสนอมี ส.ส.ร.ยกร่างขึ้นมาใหม่เพื่อแก้ไขทั้งฉบับโดยไม่มีรายละเอียดเราก็ไม่รู้ว่าเจตนาคืออะไร เพราะไม่มีโครงร่าง

นพ.เจตน์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม สามารถส่งไปได้ โดยหลักการเท่าที่ผ่านมาในเรื่องการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความตนคิดว่ายังไม่เคยมี และคิดว่ายากที่จะทำความสำเร็จ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไม่รับตีความทางกฎหมาย ตนก็ไม่รู้ว่าเรื่องนี้จะจบอย่างไร ส่วนรายละเอียดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่จะตามมาด้วยรายละเอียดและเหตุผลของร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะมีการแก้ไข โดยที่จะรู้ว่าท่านจะแก้ไขอะไรอย่างไร เมื่อไม่มีรายละเอียดตนคิดว่าเปรียบเสมือนการสร้างบ้าน หากเราจะสร้างบ้านก็จะต้องทำประชามติในที่นี้คล้ายกับถามประชาชนในครั้งที่ 1 เมื่อเราจะวางแผนสร้างอย่างไร จะมีกี่ชั้น มีห้องอะไรบ้าง ก็ต้องถามประชาชนเป็นครั้งที่ 2 และถามครั้งที่ 3 ว่าจะเอาหรือไม่เอา

นพ.เจตน์กล่าวว่า ตนในฐานะ ส.ว.มิบังอาจที่จะสรุปตีความฟังธงว่าจะต้องทำประชามติ 3 ครั้ง เพราะเรื่องนี้อยู่ที่องค์กรผู้มีอำนาจคือศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ หากท่านยอมรับเรื่องนี้ แต่ไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image