ก้าวไกล โหวตงดออกเสียง ญัตติส่งศาลบรรจุร่างแก้รธน. ชี้ สภาตีความอำนาจตัวเองได้ ไม่ต้องขอใคร

“ก้าวไกล” งดออกเสียงให้ญัตติส่งศาลวินิจฉัยอำนาจรัฐสภา “ชัยธวัช” ชี้เรามีอำนาจเองไม่จำเป็นต้องถามใคร ซัดศาลรธน.ผูกขาดตีความเพียงผู้เดียว กลายเป็นประเทศปกครองด้วยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาญัตติ เรื่องของเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 31 ให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ของ นายชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะเป็นผู้เสนอ

เวลา 16.10 น. นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การอภิปรายในญัตตินี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรเลยว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญปี 60 และไม่เกี่ยวอะไรเลยว่ารัฐธรรมนูญปี 60 นั้นเป็นฉบับที่สืบทอดอำนาจหรือเป็นประชาธิปไตย แต่สาระสำคัญของญัตติคือปัญหาที่ตัวเราเองไม่เข้าใจตัวเราเองว่า มีอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือไม่ในฐานะที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ พวกตนเข้าใจความตั้งใจดีของผู้เสนอญัตติ และยืนยันว่าเราไม่ปรารถนาจะขัดขวางญัตตินี้แต่อย่างใด อย่างไรก็ตามพวกตนสมาชิกพรรคก้าวไกลมีความจำเป็นที่จะต้องขอสงวนความเห็นไว้ใน 2 ประเด็นสำคัญคือ 1.เห็นว่าเมื่อประธานฯ ไม่บรรจุร่างรัฐธรรมนูญฯของนายชูศักดิ์ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภานั้นเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา รวมทั้งไม่เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และ 2.ในกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ พวกเราไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าพวกเรามีอำนาจที่จะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่

“พูดง่ายๆ รัฐสภาไม่จำเป็นต้องไปถามศาล หรือขออนุญาตตุลาการ 7 คน ในสิ่งที่พวกเรามีอำนาจชัดเจนอยู่แล้วในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยไม่จำเป็นนั้น ยังมีปัญหาอย่างอื่นด้วย เพราะสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นการไปเปิดช่อง หรือสนับสนุนให้ศาลรัฐธรรมนูญขยายอำนาจของตนเอง จนเสียสมดุลทางอำนาจในระบบรัฐสภา ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ กับศาลรัฐธรรมนูญมากขึ้น พวกผมจึงเห็นว่าการใช้ดุลพินิจในการไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯเข้าสู่สภาฯไม่ถูกต้อง เพราะร่างของนายชูศักดิ์ไม่มีบทบัญญัติใดเลยที่ขัดรัฐธรรมนูญ”นายชัยธวัช กล่าว

Advertisement

นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/64 โดยละเอียดแล้ว ผมยืนยันว่าไม่มีข้อความตรงไหนเลยที่วินิจฉัยว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมให้มีหมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มิใช่แก้ไขเพิ่มเติมรายมาตรา จึงไม่สามารถบรรจุให้รัฐสภาพิจารณาบรรจุได้ ศาลรัฐธรรมนูญเพียงแต่เห็นว่าวิธีการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้มีหมวด 15/1 ย่อมมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 60 หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องจัดให้ประชาชนออกเสียงประชามติ ก่อนที่จะเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเข้าสู่สภา และในรายละเอียดพบว่าควรทำประชามติ 2 ครั้งเท่านั้น ครั้งแรกหลังรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมผ่านวาระที่ 3 แล้ว ครั้งที่ 2 หลังจากที่มีการจัดทำร่างรัฐธรรมเสร็จแล้ว

นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า เห็นชัดเจนว่ารัฐสภา มีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการพิจารณาร่างรัฐแก้ไขเพิ่มเติมให้มีหมวดใหม่ทำได้โดยไม่ต้องทำประชามติ ก่อนเข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 1 วาระที่ 2 แต่เมื่อประธานรัฐสภามีดุลพินิจไปอีกอย่าง พวกตนเห็นว่ารัฐสภายังสามารถหาข้อยุติเรื่องนี้ได้ด้วยกลไกของรัฐสภาเอง เช่นสามารถเสนอญัตติให้สมาชิกรัฐสภาปรึกษาหารือแสดงความคิดเห็นได้ หรือลงมติว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับประธานรัฐสภา สุดท้ายตนเชื่อว่าเมื่อเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกรัฐสภาเห็นอย่างไร ประธานสภาก็คงจะดำเนินการไปตามนั้น เราตีความอำนาจของตัวเองได้ โดยไม่ต้องไปขออนุญาตใคร เมื่อไม่มีเหตุจำเป็นต้องไปถามศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องที่เรามีอำนาจอยู่แล้ว พวกตนก็ไม่สนับสนุนให้ยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาการยื่นคำร้องให้ศาลวินิจฉัยหลายครั้ง กลายเป็นการเปิดช่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจของตนเอง บางครั้งก็ตีความรัฐธรรมนูญเกินบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นผู้ผูกขาดตีความแต่เพียงผู้เดียวไปแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญกำลังกลายเป็นรัฐธรรมนูญเสียเอง วินิจฉัยอย่างไรก็ได้ แล้วอ้างว่าคำวินจฉัยผูกพันทุกองค์กร บีบให้สถาบันทางการเมืองอื่นสยบยอม ยอมจำนนกันหมด หากพวกเรายังมีส่วนร่วมในการสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองแบบนี้ต่อไปในอนาคตระบอบการเมืองของเราที่ควรอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ปกครองด้วยรัฐธรรมนูญ จะกลายเป็นระบอบการเมืองที่ปกครองด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

“ด้วยเหตุและผลที่กล่าวมาทั้งหมด พวกผมและสมาชิกพรรคก้าวไกล จึงขอสงวนความเห็นไว้ในที่ประชุมรัฐสภาแห่งนี้ด้วยการงดออกเสียงในญัตตินี้ ไม่ใช่เพราะต้องการขัดขวางการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และไม่ใช่เพราะต้องการขัดขวางญัตตินี้ เพราะเชื่อว่าในวันนี้เสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภาที่มาจากส.ส.ฝั่งรัฐบาลมากพออยู่แล้วที่จะให้ญัตติฉบับนี้ผ่านไปได้โดยไม่มีปัญหา แต่พวกผมขออนุญาตงดออกเสียง เพื่อส่งเสียงเตือนให้รัฐสภาแห่งนี้ ช่วยกันทบทวนและแก้ไขระบอบการเมืองของพวกเราในอนาคต เพื่อให้ระบบประชาธิปไตยมีดุลยภาพระหว่างสถาบันการเมืองต่างๆ โดยมีอำนาจของประชาชนเป็นอำนาจสูงสุด” นายชัยธวัช กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image