‘วันนอร์’ ยึดบรรทัดฐาน ‘ชวน’ ไม่บรรจุร่างแก้ไขรธน. สุดท้ายที่ประชุมส่งศาลวินิจฉัยอำนาจรัฐสภา

‘วันนอร์’ แจงยิบยึดตาม ‘ชวน’ เคยวินิจฉัยร่างของ ‘สมพงษ์’ มาแล้ว ชี้เป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาวินิจฉัยเพื่อไปต่อแล้วไม่ล้ม ไม่เสียของ เสียเวลาปชช. ก่อนมีมติเห็นชอบด้วยคะแนน 233 ต่อ 103 ให้ส่งศาลรธน.วินิจฉัยอำนาจรัฐสภา

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาญัตติ เรื่องของเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 31 ให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ของ นายชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะเป็นผู้เสนอ

ต่อมาเวลา 17.30 น. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ขอชี้แจง ว่า ตนถูกพาดพิงหลายครั้งในการปฏิติหน้าที่ ตนถือว่าเป็นเรื่องปกติ และตนจำเป็นต้องชี้แจงไม่ใช่ความเห็นที่ไม่ต้องการ แต่อยากชี้แจงในการปฏิบัติหน้าที่ของตนสมาชิกไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกับประธานฯเสมอไป ตนปฎิบัติหน้าที่ตามข้อบังคับ คือเรื่องที่ว่าทำไมประธานฯจึงไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญที่นายชูศักดิ์เสนอมาเป็นเพราะอะไร ตนขอชี้แจงว่าร่างของนายชูศักดิ์ เป็นร่างทำนองเดียวกันกับร่างที่ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ กับคณะเสนอมาเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.64 ซึ่งร่างของนายสมพงษ์นั้น นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ขณะนั้น ได้วินิจฉัยว่าไม่สามารถบรรจุได้ ตามมติความเห็นของคณะกรรมการประสานงานได้เสนอต่อประธานสภาฯ ในเรื่องวินิจฉัยการบรรจุกฎหมาย เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.64 นายชวน จึงให้สำนักงานฯแจ้งผลไปยังนายสมพงษ์เมื่อวันที่21 มิ.ย.64

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า เมื่อนายชูศักดิ์ เสนอมาวันที่ 16 ม.ค.67 ตนให้ฝ่ายประสานงานกฎหมายของสภาฯวินิจฉัยเบื้องต้น ซึ่งคณะกรรรมการวินิจฉัยมีความเห็นสองฝ่าย โดยเสียงส่วนน้อยเห็นว่าควรบรรจุได้ และเสียงข้างมากเห็นว่าไม่ควรบรรจุ เพราะเป็นกฎหมายทำนองเดียวกันกับของนายสมพงษ์ แต่เพื่อความรอบคอบตนบอกว่า ถึงแม้จะเป็นกฎหมายทำนองเดียวกันเพราะเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปบ้างแล้ว จึงให้พิจารณาอีกครั้ง คณะกรรมการก็ได้ประชุมใหม่ และมีความเห็นเสียงข้างมากว่าถ้าบรรจุแล้วจะขัดแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่4/64 แม้เราจะไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นผูกพันทุกองค์กร เมื่อคณะกรรมการเสียงข้างมากเห็นตรงกับการคำวินิจฉัยเมื่อปี 64 ซึ่งนายชวนก็ได้ให้ความเห็นตามเสียงข้างมากนั้น

Advertisement

“เมื่อผมได้พิจารณาและให้ประชุมใหม่อีกครั้งก็เห็นตรงอย่างเดิม ผมในฐานะประธานสภาฯจึงมาใคร่ควญ และตรวจสอบแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะให้บรรจุได้เช่นเดียวกัน ผมจึงให้เลขาฯส่งหนังสือไปยังนายชูศักดิ์ และผมได้เชิญนายชูศักดิ์ มาพบเพื่อชี้แจงมติของคณะกรรมการ และความเห็นของผมอีกครั้ง ซึ่งนายชูศักดิ์บอกว่าไม่เป็นไร และบอกว่าจะะหาทางทำอย่างอื่นแทน จึงเป็นที่มาของญัตติวันนี้ เพื่อให้สภาพิจารณาว่าจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัย ซึ่งไม่ได้วินิจฉัยว่าสภาจะมีอำนาจหรือไม่มีอำนาจในการตรากฎหมาย แต่เพื่อให้ความชัดเจนต่อคำวินจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่4/64“ประธานรัฐสภา กล่าว

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวต่อว่า ในเรื่องการทำประชามติ ซึ่งเป็นเรื่องของประชาชน ทั้งงบประมาณทำประชามติ ความสำเร็จของรัฐธรรมนูญที่ต้องการแก้ไข ทั้งหมดเป็นเรื่องของประชาชน เพราะฉนั้นตนได้ทำหน้าที่ของตนไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดและข้อบังคับแล้ว ต่อไปก็เป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ที่จะต้องวินิจฉัยว่าจะเห็นตามญัตติหรือไม่ เพื่อความชัดเจนที่จะต้องเดินไปข้างหน้า เพื่อไปแล้วไม่ล้ม ไปแล้วไม่เสียของ ไปแล้วไม่เสียงบประมาณ ไม่เสียเวลาของประชาชนโดยไม่จำเป็น

จากนั้นเวลา 18.10 น.เป็นการลงมติเห็นชอบ233 ไม่เห็นด้วย 103 งดออกเสียง170 ไม่เห็นด้วยไม่ จึงถือว่าที่ประชุมมีมติให้รัฐสภาส่งศาลรัฐธรรมนูวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image