สมชาย เห็นด้วยปธ.รัฐสภา ไม่บรรจุร่างแก้ไขรธน.เข้าสภา ชี้เดินหน้าอาจขัดรัฐธรรมนูญ ลั่น รู้สึกอายสส.-สว.ตีความไม่เป็น

สมชาย เห็นด้วย ปธ.รัฐสภา ไม่บรรจุวาระร่างแก้ไข รธน. เข้าสภา ชี้ เดินหน้าอาจขัดรัฐธรรมนูญ ไม่เห็นด้วยญัตติยื่นศาลรธน.ตีความอำนาจตัวเอง ลั่น รู้สึกอายสส.-สว. ตีความไม่เป็น

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาญัตติ เรื่องของเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 31 ให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ของ นายชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะเป็นผู้เสนอ

ต่อมาเวลา 16.50 น. นายสมชาย แสวงการ สว. อภิปรายว่า ตนเห็นด้วยประธานรัฐสภา ลงความเห็นไม่บรรจุวาระ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของนายชูศักดิ์ ศิรินิล และคณะ เป็นการลงความเห็นที่ถูกต้องตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หากเดินหน้าต่อไปแล้วสภาสภาพิจารณาอาจเกิดการขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2560 มาจากการลงประชามติของประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้เคยแก้ไขไปแล้วหนึ่งครั้ง มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยบัตรเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวเป็นบัตรสองใบ โดยไม่ได้ทำ ประชามติ ใช้อำนาจรัฐสภาในการแก้ไข อย่าไปบิดเบือนบอกประชาชนว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขไม่ได้ ต้องฉีกโดยคณะรัฐประหารเท่านั้น ถือเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างยิ่ง รัฐสภามีหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ท่านไม่แก้ไข แต่ปล่อยให้ร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เห็นด้วย ไม่เอาเข้าสภาแล้วพยายามเพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาใช้อำนาจแทน จะอ้างว่าเป็นประชาธิปไตย หรือนอมินีของพรรคการเมืองหรือไม่ ทำไมถึงไม่แก้เอง

นายสมชาย กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องที่มีการถกเถียงว่าจะลงประชามติกี่ครั้งนั้น ถ้าสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยสภาเอง จะไม่เสียเงินแม้แต่สลึงเดียว การใช้งบประมาณแต่ละครั้งในการทำประชามติ จะต้องใช้ 95,000 หน่วย เท่ากับการเลือกตั้ง ลดเพียงจำนวนเจ้าหน้าที่ 5 คนต่อหน่วย เท่ากับว่าในการเลือกตั้งใช้คน 855,000 ในการทำประชามติลดเหลือ 475,000 คนทั้งประเทศ ใช้งบประมาณจาก 5,000 ล้านบาท เหลือ 3,500 ล้านบาท ทั้งหมดมีรายงานไม่ต้องเสียเวลาสภา เสียเวลาส่งญัตติไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพื่อแปรคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอีก สภาฯทำงานฝ่ายนิติบัญญัติ สามารถวินิจฉัยเองได้อยู่แล้ว

Advertisement

“ถ้าอ่านกฎหมายไม่รู้อ่านไม่เข้าใจอย่างมีสภาเสียกว่า เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญชัดเจน อย่าเป็นศรีธนญชัย ส่งญัตติดังกล่าวไปศาลรัฐธรรมนูญให้เกิดความลำบาก หากจะทำประชามติ 2 ครั้ง สามารถดำเนินการโดยก่อนทำประชามติให้ไปถามประชาชนว่าจะให้ไปทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หากประชาชนให้ทำ ก็ไปร่างกฎหมายไปถามในประชามติ”นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวว่า รัฐสภาทำไมไม่กล้าแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญเอง ทำไมต้องไปให้สภาร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นนอมินีหรืออ้าง หรือที่จะบอกว่ามาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั่วประเทศมาร่างเอง ท่านกลัวว่าจะร่างหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญและประชาชนรู้หรือ ว่าประชาชนอาจจะไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญบางประเภทที่ไปเพิ่มอำนาจ หรือไปทำให้การป้องกันการทุจริตใช้ไม่ได้ ทำไมต้อง 3 ครั้ง ถ้าท่านประธานอ่านคำวินิจฉัยอย่างที่ตนได้อ่านก็สามารถแปลความได้ตรงกันก็ใช้ 2 ครั้ง แต่ถ้าอยากใช้ 3 ครั้ง ต้องทำคือถามประชาชนก่อนว่าจะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ 1 ครั้ง หมดไป 3,500 ล้านบาท แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญตามที่นายชูศักดิ์และคณะเสนอ ต้องทำประชามติอีกหนึ่งครั้ง อีก 3,500 ล้านบาท

และถ้าจะให้มีการเลือกสสร. ทั่วประเทศแบบเดียวกับการเลือกตั้งสส. ก็เป็นการเปลืองงบประมาณ และสสร. ที่ต้องจ่ายเงินเดือน ผู้ช่วยหรือไม่ ขณะที่มีสส. สว. ทำหน้าที่ได้ในสภากลับไม่ทำหน้าที่ และไปมอบให้สสร. ที่อ้างว่ามาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่แทนต้องทำประชามติ 2 ครั้ง เมื่อร่างเสร็จแล้วอาจจะใช้เวลา 1-2 ปี และโครงร่างก็ไม่ได้ต่างจากปีก่อนๆ แต่สิ่งที่เพื่อป้องกันการโกงอาจจะหายไป ท่านอาจจะอยากยุบศาลรัฐธรรมนูญ อยากยุบคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือหน่วยงานอื่นๆก็ได้ ใครจะไปทราบ แต่อาศัยมือจากสสร. ที่อ้างว่ามาจากประชาชนทำหน้าที่แทน ท่านก็ต้องเอา ร่างรัฐธรรมนูญนั้นไปให้ประชาชนลงประชามติอีกครั้งเป็นครั้งที่ 3 เบ็ดเสร็จรัฐธรรมนูญที่บอกแก้ไขไม่ได้นั้นไม่เป็นความจริง และย้ำว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขได้ โดยมีหลายมาตราทางแก้และแก้ไม่ได้ ดังนั้น หลักเกณฑ์รัฐธรรมนูญเป็นหลักเกณฑ์ที่ยากเกินกว่าที่จะปฏิบัติ

Advertisement

“เสียเวลาที่จะต้องมามานั่งประชุมในสิ่งที่ประธานรัฐสภาได้วินิจฉัยแล้วว่า ไม่สามารถที่จะบรรจุระเบียบวาระได้ และไม่มีความจำเป็นจะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญรับไว้วินิจฉัยอีก เพราะท่านกำลังจะบอกว่าเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วรัฐสภาไม่เข้าใจ ช่วยแปลหน่อย ผมรู้สึกอายพี่น้องประชาชน ที่อุตส่าห์เลือกทั้งสส.และสว. เป็นตัวแทนเข้ามาทำหน้าที่ในนิติบัญญัติกลับไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ซึ่งคำวินิจฉัยผมได้เรียนประธานรัฐสภาแล้ว ไม่มีอะไรยาก อ่านง่ายๆ ผมอ่านแล้วเข้าใจ”นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวอีกว่า โดยสรุปตนจึงมีความไม่เห็นด้วยต่อญัตติดังกล่าวว่าไม่มีความจำเป็นจะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกเพราะวินิจฉัยแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยแปลความหมายของศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างไร แต่ตนเข้าใจว่าเบื้องลึกเบื้องหลังคืออะไร ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอย่างหนึ่งอย่างใด จะเป็นการนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขที่เพิ่มเติมสสร. เข้าสภาโดยโดยไม่ต้องทำประชามติใช่หรือไม่ หรือจะซ่อนอะไรไว้อีก ไม่ว่าจะเป็นการถ่วงเวลา หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา หรือเป็นการถ่วงเวลาในการทำประชามติรัฐธรรมนูญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image