เลือก ส.ว.ชุดใหม่ ปลอดบ้านใหญ่-การเมือง?

เลือก ส.ว.ชุดใหม่ ปลอดบ้านใหญ่-การเมือง?

หมายเหตุ – นักวิชาการประเมินการเลือก ส.ว.ชุดใหม่ 200 คน แทน ส.ว. 250 คนชุดปัจจุบันที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะครบวาระ 5 ปี วันที่ 10 พฤษภาคม 2567 ในขณะนี้เริ่มมีการเปิดตัวกลุ่มผู้สมัครในหลายสาขาอาชีพแล้ว

ณัฐกร วิทิตานนท์
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

กรณีที่คณะก้าวหน้าเตรียมส่งผู้สมัครลงสู้ศึกเลือกตั้ง ส.ว.นั้น โอกาสที่คณะก้าวหน้าจะได้รับเลือกเป็นไปได้ยาก เพราะกระบวนการเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งนี้มีความซับซ้อนจนไม่สามารถคาดการณ์ได้ แต่ที่ประเมินและเห็นได้ชัดเจนคือความตื่นตัวคนที่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จึงมีคนจำนวนมากสนใจลงสมัคร ส.ว.เริ่มเปิดตัว แม้บางคนไม่มีความคิดอยากเป็น แต่ถ้าไม่ลงสมัครก็ไม่มีสิทธิเลือกคนที่อยากให้เป็น ส.ว.ได้

กระบวนการเลือก ส.ว.ซับซ้อนตั้งแต่ลงสมัครระดับอำเภอ และเลือกลงในกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม ต้องฝ่าด่านการเลือกระดับอำเภอก่อน จึงคาดการณ์ได้ยากว่าใครจะได้รับเลือกโดยเฉพาะกระบวนการเลือกรอบ 2 ที่ใช้วิธีจับสลากเลือกไขว้กลุ่มอาชีพ หากจับฉลากแล้วไม่ได้อยู่ในกลุ่มอาชีพที่ลงสมัคร โอกาสถูกเลือก หรือเลือกคนที่อยากเลือกมีน้อยลง และกระบวนการจับฉลากเลือกไขว้กลุ่มนี้จะถูกใช้ซ้ำถึง 3 รอบ ตั้งแต่การเลือกระดับอำเภอ จังหวัด จนถึงระดับประเทศ

ADVERTISMENT

แม้สุดท้ายจะคาดการณ์ไม่ได้ว่าคนที่คณะก้าวหน้าหรือภาคประชาสังคมสนับสนุนจะได้รับเลือกหรือไม่ แต่คาดเดาได้คนที่ได้รับเลือกจะเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และทำงานกับผู้คนหลากหลายสาขาอาชีพ แต่ถ้าอยู่ในกลุ่มอาชีพที่มีคนลงสมัครจำนวนมากอาจจะฝ่าด่านได้ยากเพราะบางสาขาอาชีพ เช่น กลุ่มอาชีพอื่นๆ นั้นกว้างมาก

แม้กระบวนการเลือกตั้ง ส.ว.ซับซ้อน แต่น่าจะหยุดการเมืองในรูปแบบเดิมๆ ที่มีระบบบ้านใหญ่ หัวคะแนนและการล็อบบี้ได้ โดยเฉพาะในระดับอำเภอโอกาสที่จะส่งคนตัวเองลงสมัคร หรือขนคนไปเลือกตั้งทำไม่ได้ เพราะกระบวนการเลือกที่ซับซ้อน ต้องเลือกจากกลุ่มอาชีพ เป็นไปไม่ได้ที่จะส่งคนทุกอาชีพลงสมัครได้ครบทุกกลุ่ม นักการเมืองในอดีตที่ใช้หัวคะแนนในการหาเสียงมีไม่กี่กลุ่มอาชีพ ขณะที่การเลือก ส.ว.ครั้งนี้มีมากถึง 20 อาชีพ ทำให้กลุ่มคนส่วนใหญ่มองว่ามีโอกาสมากกว่าการเลือกตั้งระบบเดิม จึงสนใจลงสมัครกันมาก

กระบวนการเลือก ส.ว.ที่มีขั้นตอนและเทคนิคที่ไม่เคยมีประเทศใดในโลกใช้ระบบนี้มาก่อน และไทยก็ไม่เคยมีการเลือกตั้งครั้งใดจะเทียบเคียงกับการเลือก ส.ว.ครั้งนี้ได้เลย หากผู้สมัครที่คณะก้าวหน้าสนับสนุนให้ลงสมัครเพื่อเข้าไปถ่วงดุลอำนาจ และสร้างความเปลี่ยนแปลง อย่างน้อยต้องได้ไม่ต่ำกว่า 60 คน เพราะถ้ามองจากอุปสรรคการแก้รัฐธรรมนูญจาก ส.ว.ชุดเดิมที่แต่งตั้งโดย คสช.จำนวน 250 คน ต้องอาศัยเสียง 1 ใน 3 หรือ 80 คนจำนวน ส.ว.ชุดใหม่ที่มี 200 คน เสียง 1 ใน 3 คือ 60 กว่าคน หากได้ต่ำกว่านี้โอกาสก็เป็นไปได้ยากที่จะเข้าไปสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้

วันชัย จึงวิบูลย์สถิตย์
นักวิชาการอิสระ

การเลือก ส.ว.มีแบ่งกลุ่มอาชีพ เชื่อว่าอาจจะสกัดกั้นการซื้อเสียงได้ แม้จะไม่ได้ 100% แต่เชื่อว่าจะดีขึ้น และคิดว่าจะได้คนมีคุณภาพมากกว่าเดิม และยังมองว่าการแบ่งกลุ่มอาชีพ จะทำให้มีการพิจารณากลุ่มที่แน่นอน ไม่ออกทะเล อย่างไรก็ตาม ต้องลองของใหม่ แล้วเปรียบเทียบกันภายหลังว่าการเลือก ส.ว.จุดใดเหมาะสม แล้วค่อยปรับปรุงวิธีการเลือก ส.ว.ในอนาคต

กรณีมีผู้สนใจลงสมัคร ส.ว.จำนวนมาก ส.ว.ชุดใหม่ที่จะเกิดขึ้นมองไปแล้วบทบาทจะไม่มากมายนัก เพราะจะมีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย จุดสำคัญ ส.ว.ไม่มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี เหมือน ส.ว.ที่จะหมดอำนาจ ทำให้ ส.ว.ชุดใหม่ไม่โดดเด่น แต่ ส.ว.ชุดใหม่มีบทบาทสำคัญเลือกบุคคลองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญจะต้องผ่านการพิจารณา ส.ว. อาทิ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง หาก ส.ว.เป็นคนของใครสามารถสั่งได้ จะทำให้เกิดความมั่นคงทางการเมืองของคนกลุ่มนั้น และถ้าประสานงานองค์กรอิสระได้ก็ชี้ทิศทางการพิจารณาองค์กรนั้นได้เช่นกัน

อยากจะฝากผู้ที่ตัดสินใจจะลงสมัคร ส.ว. อยากให้รู้จักบทบาทหน้าที่ตัวเอง และเน้นผลประโยชน์ชาติ เพื่อสร้างความศรัทธาประชาชน มีผู้สนใจลง ส.ว.มากทำให้มีตัวเลือกมากขึ้น มีการกลั่นกรองกฎหมายที่ดีขึ้น ฝากถึงผู้มีกำลังเงิน 2,500 บาท หากสมัคร ส.ว.แล้วไม่ได้รับเลือกถือว่าช่วยประเทศชาติก็แล้วกัน และป้องกันกลุ่มคนที่เข้าไปหาผลประโยชน์ได้อีกทางหนึ่งด้วย

วีระ หวังสัจจะโชค
อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์
และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

การเลือกตั้ง ส.ว.จะเห็นบทบาทกระทรวงมหาดไทย คือตั้งแต่อำเภอมีนายอำเภอเป็นประธาน ระดับจังหวัดก็มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ส่วนระดับประเทศก็จะมี กกต.เป็นประธาน กลไกตรงนี้ทำให้เห็นว่า ส.ว.ไม่ได้สะท้อนภาพการใช้สิทธิในการเลือกตั้งของประชาชนทุกๆ คน

กระบวนการเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งนี้ถูกออกแบบมาเพื่อกลั่นกรองการใช้สิทธิเลือกตั้งให้เหลือเพียงประชาชนบางกลุ่มที่สามารถใช้สิทธิเลือก ส.ว. ซึ่งกระบวนการดังกล่าวทำให้ถูกตั้งคำถามว่าถูกออกแบบมา เพื่อไม่ได้มองว่าคนทุกคนควรจะมีสิทธิในการเลือก ส.ว. แล้วทำให้โมเดลไม่ได้เป็นประชาธิปไตยมากนักในภาพรวมอันนี้เป็นเรื่องแรก

กลไกการเลือก ส.ว.ครั้งนี้การที่มีอิทธิพลของบ้านใหญ่หรือกลุ่มจัดตั้ง จำเป็นจะต้องมีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบ คือการจัดตั้งคนแบบมีกลุ่มอาชีพและมีการเซ็นรับรอง เช่นกลุ่มเกษตรกร หรือกลุ่มที่ทำงานทางด้านการศึกษา มีมวลชนของเขาระดับหนึ่งอยู่แล้ว ในการจะเข้ามาเป็นตัวแทน ส่วนการคัดเลือกโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บ้านใหญ่จะคุมได้ก็คือ พื้นที่จังหวัดที่มีอำเภอจำนวนไม่มากนัก จะคุมได้ง่ายกว่าจังหวัดขนาดใหญ่ที่มีอำเภอหลากหลายเพราะว่าถ้าอำเภอมีความหลากหลาย สุดท้ายจะถูกกลั่นกรองด้วยระดับจังหวัดอีกทีหนึ่ง อิทธิพลบ้านใหญ่ก็จะน้อยลง แต่ถ้าระดับอำเภอ บ้านใหญ่สามารถจะสรรหาพรรคพวกเข้ามาร่วมลงสมัครเพื่อเลือกกันเองเพื่อเลือก ส.ว.กันได้ในพื้นที่ที่อำเภอน้อยๆ ในระดับจังหวัดจะมีจำนวนคนอยู่ที่ถูกจัดวางไว้แล้วในระดับหนึ่งว่าเป็นใคร

เพราะฉะนั้นแน่นอนว่าอิทธิพลบ้านใหญ่หรือคนที่มีทรัพยากรเยอะแล้ว สนใจจะลงเป็น ส.ว.ก็จะมีโอกาสชนะเพราะว่า ส.ว.ไม่มีโอกาสที่จะโฆษณาหรือรณรงค์หาเสียง จึงทำให้เกิดการเปิดพื้นที่ล็อบบี้ใต้ดินกันได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นจังหวัดที่มีพื้นที่อำเภอน้อยจะมีความเสี่ยง ส่วนจังหวัดใหญ่หลายอำเภอโอกาสจะจัดตั้งกลุ่มคนเข้ามาเลือกกันเองจะทำได้ยากขึ้น เพราะฉะนั้นจะปฏิเสธไม่ได้สุดท้ายคนที่เลือกครั้งนี้มีความสัมพันธ์ไม่ทางใดทางหนึ่งในทางการเมืองอย่างแน่นอน จะไม่สามารถหาคนที่ใสสะอาด ดีไม่ดีจะเป็นการเมืองเข้มข้นยิ่งกว่า ส.ส.ด้วยซ้ำ เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ใช่คนที่ไปเคาะประตูหาเสียง แต่ใช้วิธีการล็อบบี้ใต้ดินกัน หาเครือข่ายทำงานกันเพื่อให้เป็นกลุ่มอาชีพ เพื่อมาโหวตกันเองซึ่งทำยากกว่าการเลือกตั้งทั่วไปด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นน่าเกรงว่า ส.ว.ที่จะได้ไปจากกระบวนการดังกล่าว จะเป็นนักการเมืองยิ่งกว่า ส.ส.เสียอีกเป็นนักการเมืองที่เป็นนักการเมือง และมีการใช้เทคนิคทางการเมืองได้เก่งกว่า ส.ส.เสียอีกคือเป็นผลที่รัฐธรรมนูญไม่ตั้งใจให้เกิดขึ้น รัฐธรรมนูญตั้งใจให้คนคนนั้นเป็น ส.ว.ตัวแทนของกลุ่มอาชีพ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ตัวแทนกลุ่มอาชีพจริงๆ ใครก็เข้าได้ ถ้ามีคนรับรอง อย่างเช่นบางคนเป็นทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่มีการทำการเกษตรเป็นอาชีพเสริม แล้วอาจจะเป็นนายกสมาคมกีฬาด้วย จะเห็นว่าอยู่ได้หลายตำแหน่งมากๆ เพราะฉะนั้น ส.ว.ครั้งนี้ก็ไม่ได้บรรลุเป้าหมายที่ได้ตัวแทนกลุ่มอาชีพ แต่สุดท้ายคือได้คนที่เป็นคนกลุ่มการเมืองเหมือนเดิมนี่แหละ

เมื่อมาพิจารณาตัวแทนคณะก้าวหน้าแล้วจะพบว่าคนของกลุ่มในการเลือกคนครั้งนี้ ถ้าอิงจากประเด็นตอนต้นถ้าใครจะได้เป็น ส.ว.จำเป็นจะต้องมีกระบวนการจัดตั้งและกระบวนการล็อบบี้ที่ทำงานอย่างเป็นระบบในระดับหนึ่งต้องพิสูจน์กันว่าคณะก้าวหน้าจะสามารถวางกระบวนการในการเลือกตั้งกันเองดังกล่าวได้ในแต่ละจังหวัดอย่างไร ถ้าคณะก้าวหน้าจะเลือกตั้งแย่งชิงพื้นที่จาก ส.ว.ได้ยากกว่าสมัยการเลือกตั้งทั่วไปกับ ส.ส. เพราะถ้าเลือกตั้งทั่วไปแบบ ส.ส. พรรคก้าวไกลจะได้รับอานิสงส์มากๆ จากการที่ประชาชนเลือกตั้งโดยตรง และมีกระแสจากสื่อมวลชน จากโซเชียลมีเดีย มาช่วยในการเลือกตั้ง ส.ส. แต่ ส.ว.แตกต่างกันอย่างมาก ส.ว.ไม่มีการโฆษณา ไม่มีการหาเสียงเพราะฉะนั้นเป็นลักษณะการเลือกกันเองแล้วใช้วิธีการล็อบบี้แบบเดินสายและคุยอย่างไม่เป็นทางการ ไม่มั่นใจว่ากลุ่มก้าวหน้าจะมีกระบวนการในการที่ทำได้เข้มข้นขนาดนั้นหรือไม่ และถ้าดูจากคนที่มีความใกล้ชิดกลุ่มก้าวหน้าที่ประกาศลงก็จะพบว่าเป็นนักวิชาการเป็นคนที่มีพื้นที่ฐานทางวิชาการ มาจากนักเคลื่อนไหวที่เป็นภาคประชาสังคมไม่ได้เป็นนักการเมืองที่เป็นนักการเมืองแท้ๆ แล้วถ้าดูชื่อแต่ละชื่อจะพบว่ามีตำแหน่ง ดร. ตำแหน่ง รศ. ตำแหน่งนายแพทย์ คนกลุ่มนี้จะทำงานล็อบบี้ได้มากน้อยขนาดไหน คนกลุ่มนี้ถ้าเป็นการเลือกตั้งทั่วไปอาจจะเกาะกระแสในการเลือกตั้งได้ แต่พอเป็น ส.ว. ทำให้กระบวนการในการเลือกกันเองยากลำบากมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดีมองว่ากลุ่มก้าวหน้าก็ควรที่จะส่งตัวแทนลงไปในการชิงตำแหน่งพื้นที่ ส.ว. แทนที่จะแข่งกันในอีกระดับเป็นการแข่งกันในระดับสนามที่เลือกกันเองเพราะอย่างน้อยที่สุดจะทำให้มี ส.ว.ที่เป็นตัวแทนมีความใกล้ชิดมีโอกาสเข้ามาสู่สภาได้บ้าง

กลุ่มก้าวหน้าควรใช้พื้นที่ตรงนี้ พิสูจน์กระแสในทางสังคมในระดับหนึ่งแม้ในกลุ่มอาชีพเดียวกันจะมีคนสนับสนุนกลุ่มมากขนาดนั้นหรือไม่ตรงนี้อาจต้องเชื่อมโยงไปกับอีกกลุ่มหนึ่งคือการเลือกตั้งเรื่องที่เกิดขึ้นในลักษณะคล้ายๆ กลุ่มอาชีพเหมือนกัน คือเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาคือการเลือกบอร์ดประกันสังคม เป็นการเลือกตั้งเฉพาะกลุ่มของมนุษย์เงินเดือนที่จ่ายเบี้ยประกันสังคมทุกเดือนเท่านั้นที่มีสิทธิเลือกตั้งก็พบว่าในบอร์ดประกันสังคมกลุ่มก้าวไกลก็ชนะทั้งแผง

อาจเป็นความหวังเล็กๆ ว่า การเลือกตั้งส.ว.อยากให้มีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่ก็ในส่วนตัวมองว่าการเลือก ส.ว.ก็จะลำบากมากกว่าหน่อยหนึ่ง